xs
xsm
sm
md
lg

กกร.คงกรอบจีดีพีปี 65 โต 2.5-4% ชง 2 มาตรการรัฐช่วยประคองธุรกิจรอฟื้นตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“กกร.” ยังคงคาดการณ์จีดีพีไทยปี 2565 โต 2.5-4% เงินเฟ้อ 3.5-5.5% และส่งออก 3-5% หากขยับค่าแรงในอัตราที่เหมาะสม แนะ 2 มาตรการรัฐช่วยประคอง ศก.ทั้งมาตรการดูแลต้นทุนการผลิตและสภาพคล่อง เช่น ตรึงเพดานดีเซล 35 บาทต่อลิตรนาน 3 เดือน ต่ออายุภาษีฯ ดีเซล 3 เดือน ฯลฯ และมาตรการกระตุ้น ศก.เช่น คนละครึ่งเฟส 5

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะประธานที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า กกร.เดือน พ.ค.ยังคงประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยปี 2565 คงเดิมเมื่อเทียบกับเม.ย.โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะขยายตัวได้ในกรอบ 2.5% ถึง 4.0% หากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอยู่ในอัตราที่เหมาะสม และยังคงประมาณการการส่งออกอยู่ในกรอบ 3.0% ถึง 5.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไป 3.5% ถึง 5.5% แม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับความเสี่ยงรอบด้าน

“เศรษฐกิจโลกยังคงมีความอ่อนไหวและท้าทายการส่งออกที่เหลือของปีนี้จากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และเงินเฟ้อยังคงมีทิศทางที่ปรับเพิ่มขึ้นสูง โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ลดการเติบโต ศก.โลกปีนี้ลงเหลือ 3.6% จาก 4.4% ซึ่งจะส่งผลต่อความต้องการสินค้าส่งออกของไทย แต่ราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นก็จะทำให้อัตราการส่งออกของไทยสูงขึ้นทำให้ส่งออกยังคงเติบโตได้” นายเกรียงไกรกล่าว

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กังวลคือหากราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลและค่าแรงขั้นต่ำปรับเพิ่มขึ้นมาก จะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อภาวะเงินเฟ้อและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อไทยที่พุ่งสูงขึ้นเริ่มบั่นทอนความเชื่อมั่นผู้บริโภคและนักลงทุน และมีแนวโน้มส่งผลลบต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในธุรกิจที่ยังเปราะบาง เช่น โรงแรม ค้าปลีก สะท้อนว่าการเพิ่มขึ้นของต้นทุนมีผลกระทบมากและส่วนใหญ่อาจจำเป็นต้องปรับราคาสินค้า การปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลและค่าแรงขั้นต่ำในระยะข้างหน้าซึ่งจะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อขึ้นไปสู่ระดับ 5% จึงต้องทำด้วยความระมัดระวังและอยู่ในระดับที่เหมาะสม

สำหรับการท่องเที่ยวจากการที่รัฐเปิดประเทศเมื่อ 1 พ.ค. ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นชัดเจน คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้มีแนวโน้มอยู่ที่ประมาณ 6 ล้านคน ส่วนนักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวดีมาอยู่ที่ 70-80% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2562 เนื่องจากนักท่องเที่ยวในไทยปรับตัวอยู่กับโควิด-19 บ้างแล้ว อีกทั้งได้อานิสงส์จากมาตรการภาครัฐ คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวไทยมีแนวโน้มอยู่ที่ 119 ล้านคน-ครั้ง เพิ่มขึ้นกว่าประมาณการเดิมเช่นกันจึงเป็นปัจจัยบวกต่อ ศก.ภาพรวม


จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีความเสี่ยงโดยเฉพาะจากภาวะเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น และสถานการณ์ความขัดแย้งจากยูเครน-รัสเซีย กกร.จึงขอเสนอให้ภาครัฐเข้ามาดูแลเรื่องเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพื่อช่วยประคับประคองภาคธุรกิจ รักษาความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะ SMEs และประชาชน ในช่วงไตรมาส 2-3 ก่อนที่เศรษฐกิจฟื้นตัวได้เต็มที่มากขึ้นในช่วงปลายปี จากทั้งภาระค่าครองชีพ ต้นทุนการผลิต/การขนส่ง และราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น โดยแบ่งมาตรการออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้

1. มาตรการดูแลต้นทุนการผลิตและสภาพคล่อง ได้แก่ การตรึงเพดานดีเซลไม่เกิน 35 บาท/ลิตร เป็นเวลา 3 เดือน, ขยายเวลาการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล ดีเซลลง 3 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน, ลดต้นทุนวัตถุดิบนำเข้า เช่น ลดภาษีนำเข้าสินค้าวัตถุดิบ, เพิ่มโควตานำเข้า และเสริมสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรการเงินกู้ ดอกเบี้ยต่ำ
2. การกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เช่น จัดทำโครงการคนละครึ่งเฟส 5, ขยายจำนวนสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกัน ผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจเต็มรูปแบบ รวมถึงธุรกิจสถานบันเทิง การลดภาระให้แก่ผู้ประกอบการ เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไม่ควรคิดเบี้ยปรับเงินเพิ่มสำหรับคนที่ชำระภาษีล่าช้า การเปิดประเทศโดยสมบูรณ์ การส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ การจัดกิจกรรมกระตุ้นการท่องเที่ยว และการดูแลค่าเงินบาทให้เหมาะสม

"การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ภาครัฐควรคำนึงถึงภาวะเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ ความสามารถของภาคธุรกิจ ประสิทธิภาพแรงงานในแต่ละจังหวัดนั้นๆ" นายเกรียงไกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น