xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : ShopeePay วันนี้ สแกนจ่าย QR พร้อมเพย์ได้แล้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ปัจจุบันพฤติกรรมการจับจ่ายของผู้บริโภค นิยมสแกนจ่ายพร้อมเพย์ โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่เชื่อกันว่าเชื้อโควิด-19 อยู่ในธนบัตรได้นานถึง 5 วัน นอกจากจะทำให้ยอดลงทะเบียนพร้อมเพย์มีมากถึง 52.7 ล้านหมายเลข การใช้งานสูงสุดถึง 16.3 ล้านรายการต่อวันแล้ว ยอดผู้ใช้งานโมบายแบงกิ้งก็สูงขึ้น โดยมีธนาคารเจ้าตลาดจำนวนผู้ใช้งาน 17.5 ล้านราย

ทำให้มีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจจากผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) อย่าง "ช้อปปี้เพย์" (ShopeePay) เจ้าของเดียวกับแพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ชื่อดัง "ช้อปปี้" (Shopee) ล่าสุด ได้ร่วมมือกับ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดบริการ "สแกนพร้อมเพย์" ผ่านแอปพลิเคชัน ShopeePay และ Shopee ตามร้านค้าออนไลน์และออฟไลน์ที่ร่วมรายการทั่วประเทศ


จากเดิมยอดเงินในแอปฯ ช้อปปี้เพย์ ใช้ชำระเงินบนแพลตฟอร์มของช้อปปี้ จ่ายบิลค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าสาธารณูปโภค เติมเงินมือถือ เติมเกม รวมไปถึงการชำระเงินหน้าร้านออฟไลน์ (Scan & Pay) แต่ขณะนี้สามารถสแกนพร้อมเพย์ผ่านระบบ Dynamic QR ที่เครื่อง POS หรือ EDC และคิวอาร์โค้ดสำหรับร้านค้า เช่น K PLUS Shop (กสิกรไทย), แม่มณี (SCB) และถุงเงิน (กรุงไทย)


จุดเด่นของการสแกนพร้อมเพย์ผ่านแอปฯ ShopeePay ก็คือ สามารถใช้คะแนนที่เรียกว่า "Shopee Coins" ที่ได้รับจากการใช้โค้ดรับเงินคืนกับสินค้าที่มีป้าย Cashback หรือการทำกิจกรรมต่างๆ มาใช้ร่วมกับเงินในวอลเล็ตได้ด้วย โดย 1 Coins มีค่าเท่ากับ 1 บาท ใช้ได้สูงสุด 50% ของยอดซื้อ ถือเป็นการขยายการใช้งาน Shopee Coins นำไปใช้จ่ายได้กว้างขวางขึ้นทั่วประเทศ


วิธีการใช้งานนั้นไม่ยาก เพียงแค่แจ้งแคชเชียร์ว่า "สแกนพร้อมเพย์" เปิดแอปฯ ShopeePay เข้าไปที่เมนู "สแกน & ชำระ" แล้วสแกนคิวอาร์โค้ดจากร้านค้า จากนั้นจะแสดงหน้าจอ "ตัวเลือกการชำระ" สามารถกด "ใช้ Coins" เพื่อใช้ Shopee Coins ได้ตามจำนวนที่มีอยู่ สูงสุด 50% ของยอดซื้อ กด "ชำระเงิน" ระบบจะแสดงรายละเอียดรายการ เมื่อชำระเงินเสร็จสมบูรณ์

เมื่อลูกค้าช้อปปี้เพย์ สแกนคิวอาร์โค้ดสำหรับร้านค้า มาตรฐาน Thai QR Payment แล้ว ธนาคารกรุงเทพจะทำหน้าที่ส่งคำสั่งไปยังระบบ ITMX แล้วส่งต่อไปยังธนาคารของร้านค้า (Merchant Bank) เพื่อหักยอดเงินในวอลเล็ทช้อปปี้เพย์ และเครดิตบัญชีร้านค้า สำหรับชำระค่าสินค้าหรือบริการแบบ Real-time โดยธนาคารกรุงเทพเรียกบริการนี้ว่า PromptPay Sponsor Bank








โดยคิวอาร์โค้ดมาตรฐาน Thai QR Payment ที่สามารถใช้ได้มี 3 รูปแบบ ได้แก่ 1. QR Code ที่ร้านค้าสร้างเมื่อลูกค้าซื้อสินค้าในแต่ละครั้ง และจะระบุจำนวนเงินที่ต้องชำระมาด้วย หรือ Dymanic QR จากเครื่อง POS, EDC หรือแอปพลิเคชันมือถือสำหรับร้านค้า 2. QR Code ที่มีชื่อบริษัทเท่านั้น 3. QR Code ที่มีชื่อร้านค้าและชื่้อบริษัท/ชื่อเจ้าของร้านค้า

ปัจจุบันหากร้านค้าไม่มีเครื่อง POS หรือ EDC สามารถสร้าง Dynamic QR หรือ QR Code ที่มีชื่อร้านค้าได้ ผ่านแอปพลิเคชันร้านค้า เช่น K PLUS Shop (กสิกรไทย), แม่มณี (SCB) และ ถุงเงิน (กรุงไทย) สำหรับ QR Code ที่ไม่สามารถใช้งานได้ คือ QR Code ที่มีเพียงชื่อเจ้าของบัญชีเท่านั้น เช่น QR Code ที่ผูกกับหมายเลขพร้อมเพย์ โทรศัพท์มือถือหรือเลขที่บัตรประชาชน




สำหรับการใช้ Shopee Coins ในการสแกนพร้อมเพย์ สามารถใช้ได้สูงสุด 50% Coins ของยอดชำระเงินรวมต่อคำสั่งซื้อ (เช่น ยอดซื้อ 30 บาท ใช้ได้สูงสุด 15 Coins) จำกัดจำนวนที่ใช้ได้สูงสุด 500 Coins ต่อวัน โดยจะเริ่มนัดใหม่อีกครั้งหลังเวลา 00.00 น. และใช้ได้สูงสุด 800 Coins ต่อสัปดาห์ โดยจะเริ่มนับใหม่ทุกวันจันทร์ เวลา 00.00 น.


ส่วนตัวเลือกการชำระ สามารถชำระได้เฉพาะ เงินในวอลเล็ท เท่านั้น ไม่สามารถตัดบัญชีธนาคารหรือบัตรเครดิตได้ แต่สามารถเติมเงินเข้าช้อปปี้เพย์ได้หลายช่องทาง เช่น บัญชีธนาคารที่ผูกไว้, โมบายแบงกิ้งผ่านแอปฯ ธนาคาร, ตู้เอทีเอ็มธนาคารชั้นนำ, ตู้เติมเงินบุญเติม เติมดี กะปุก เติมสบาย (มีค่าบริการ), เคาน์เตอร์โลตัส บิ๊กซี, แฟมิลี่มาร์ท ทุกสาขา หรือช้อปปี้เคาน์เตอร์


ช่วงแนะนำ เมื่อใช้แอปฯ ShopeePay หรือ Shopee สแกนจ่ายพร้อมเพย์ เฉพาะร้านค้าและสาขาที่ร่วมรายการ ครั้งแรก รับ Shopee Coins 30% ของยอดชำระเงิน สูงสุด 20 Coinsและในครั้งถัดไป รับ Shopee Coins 30% ของยอดชำระเงิน สูงสุด 5 Coins จำกัด 15 สิทธิ์/ผู้ใช้/เดือน ตั้งแต่วันที่ 1-31 พฤษภาคม 2565

ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการชำระเงินผ่านสแกนพร้อมเพย์ ที่ดูเหมือนว่าผู้บริโภคจะมีทางเลือกที่คุ้มค่ามากกว่าสแกนพร้อมเพย์เพื่อให้หักจากบัญชีธนาคารเฉยๆ จากปัจจุบันช้อปปี้มีฐานลูกค้าในไทยนับสิบล้านราย และมียอดผู้ใช้งานสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง


ขอขอบคุณ : ร้าน S Terminal Coffee มหาชัย facebook.com/sterminallab เอื้อเฟื้อสถานที่ในการถ่ายทำ

(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทุกเช้ามืดวันพุธ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)
กำลังโหลดความคิดเห็น