xs
xsm
sm
md
lg

“รถไฟพลังงานหมุนเวียน” โตคิวเรลเวย์เปลี่ยนเพื่ออนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


บริการรถไฟและระบบต่างๆ ในสถานีรถไฟของโตคิว เรลเวย์เปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ นับตั้งแต่ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา
โตคิว เรลเวย์นำร่องผู้ให้บริการรถไฟทั่วญี่ปุ่น เปลี่ยนใช้พลังงานหมุนเวียนทั้งสำหรับรถไฟและระบบอำนวยความสะดวกต่างๆ ในสถานีทุกแห่ง ถือเป็นก้าวย่างสำคัญสำหรับญี่ปุ่น เจ้าของตำแหน่งประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดอันดับ 6 ของโลก ในการผลักดันเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

รถไฟของโตคิว เรลเวย์ที่วิ่งผ่านย่านชิบูยะของโตเกียวเปลี่ยนมาใช้พลังงานแสงอาทิตย์และแหล่งพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ นับจากวันที่ 1 เมษายนเป็นต้นมา เท่ากับว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเครือข่ายรถไฟ 7 สายและบริการรถรางอีกหนึ่งสายของโตคิว เรลเวย์มีค่าเท่ากับศูนย์ เนื่องจากระบบต่างๆ ในสถานีรถไฟทุกแห่ง ซึ่งรวมถึงตู้กดเครื่องดื่มอัตโนมัติ หน้าจอกล้องวงจรปิด และระบบไฟส่องสว่าง เปลี่ยนมาใช้พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมด้วยเช่นกัน

โตคิว เรลเวย์ที่ว่าจ้างพนักงาน 3,855 คน เป็นผู้ดำเนินการบริการรถไฟรายแรกในญี่ปุ่นที่บรรลุเป้าหมายนี้ โดยบริษัทระบุว่า ความสำเร็จนี้ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้เท่ากับปริมาณเฉลี่ยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของคนญี่ปุ่น 56,000 ครัวเรือนตลอดปี

นิโคลัส ลิตเติล ผู้อำนวยการฝ่ายการศึกษาการรถไฟของศูนย์เพื่อการวิจัยและศึกษาการรถไฟของมหาวิทยาลัยรัฐมิชิแกน ยกย่องการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนของโตคิว เรลเวย์ แต่สำทับว่า สิ่งสำคัญกว่าในระยะยาวคือการผลิตพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม และจัดหาโครงสร้างพื้นฐานการถ่ายโอนเพื่อนำพลังงานเหล่านั้นไปใช้จริง

เทคโนโลยีที่โตคิว เรลเวย์ใช้เป็น 1 ใน 3 ตัวเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดสำหรับบริการรถไฟ โดยอีกสองตัวเลือกคือแบตเตอรี่และพลังงานไฮโดรเจน

นอกจากนี้ยังมีบางคนสงสัยว่า นี่เป็นแค่งานประชาสัมพันธ์หรือว่าโตคิว เรลเวย์เดินมาถูกทางแล้ว

ริว ทาคากิ ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโคกาคุอินและผู้เชี่ยวชาญด้านระบบรถไฟที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เชื่อว่า คำตอบสำหรับคำถามนี้ไม่ง่ายเลยเนื่องจากวิวัฒนาการเทคโนโลยีรถไฟมีความซับซ้อน อีกทั้งยังขึ้นอยู่กับปัจจัยทางสังคมที่ไร้ความแน่นอนมากมาย

กระนั้น ทาคากิสรุปคร่าวๆ ว่า ความพยายามของโตคิว เรลเวย์ไม่ได้ส่งผลร้ายใดๆ และอาจดีกว่าไม่ทำอะไรเลย อีกทั้งสะท้อนว่า บริษัทแห่งนี้กำลังยอมรับความท้าทายในการส่งเสริมพลังงานสะอาด

ทาคากิเสริมว่า ผลประโยชน์ที่มากกว่านี้จะมาจากการเปลี่ยนจากรถไฟดีเซลในพื้นที่ชนบทเป็นรถไฟพลังงานไฮโดรเจน และเปลี่ยนจากรถยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถไฟฟ้า

โตคิว เรลเวย์จ่ายเงินก้อนหนึ่งที่ไม่เป็นที่เปิดเผยให้โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ บริษัทสาธารณูปโภคที่อยู่เบื้องหลังวิกฤตนิวเคลียร์ฟูกูชิมะปี 2011 เพื่อให้การตรวจรับรองการใช้พลังงานหมุนเวียนของบริษัท แม้ญี่ปุ่นยังคงใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลอื่นๆ อยู่ก็ตาม

โยชิมาสะ คิทาโน รองผู้จัดการสำนักงานใหญ่ของโตคิว เรลเวย์ บอกว่า การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นเป็นเพียงการเริ่มต้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนนี้สำคัญสำหรับญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนมากที่สุดอันดับ 6 ของโลก ในการบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

จากข้อมูลของสถาบันเพื่อนโยบายพลังงานที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นองค์กรวิจัยอิสระที่ไม่หวังผลกำไรและตั้งอยู่ในโตเกียว ญี่ปุ่นมีไฟฟ้าที่มาจากพลังงานหมุนเวียนเพียง 20% ของปริมาณที่ใช้ทั้งหมด เทียบกับนิวซีแลนด์ที่ 84% ของไฟฟ้าที่ใช้ทั่วประเทศมาจากพลังงานหมุนเวียน และแดนกีวียังหวังเพิ่มสัดส่วนนี้เป็น 100% เต็มในปี 2035

ทางด้านโตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์เผยว่า พลังงานหมุนเวียนที่ขับเคลื่อนรถไฟของโตคิว เรลเวย์ครอบคลุมถึงไฟฟ้าพลังน้ำ พลังงานความร้อนใต้พิภพ พลังลม และพลังงานแสงอาทิตย์

โตคิว เรลเวย์มีรางรถไฟรวมระยะทางกว่า 100 กิโลเมตร ให้บริการผู้โดยสารวันละ 2.2 ล้านคน

ทั้งนี้ นับจากวิกฤตนิวเคลียร์ในฟูกูชิมะที่เกิดขึ้นหลังจากสึนามิที่ทำให้แผ่นดินไหว และเตาปฏิกรณ์ 3 เครื่องหลอมละลายนั้น ญี่ปุ่นสั่งปิดโรงงานนิวเคลียร์ส่วนใหญ่และหันมาส่งเสริมโรงไฟฟ้าถ่านหินมากขึ้น

ญี่ปุ่นตั้งเป้าว่า ภายในปี 2030 พลังงาน 36-38% ที่ใช้ภายในประเทศต้องมาจากพลังงานหมุนเวียน ควบคู่กับการลดการใช้พลังงานโดยรวม

สำหรับโตคิว เรลเวย์นั้นพยายามประชาสัมพันธ์การดำเนินการของบริษัทด้วยโปสเตอร์และเผยแพร่คลิปบนยูทูบ

กระนั้น ผู้โดยสารจำนวนมากไม่เคยรับรู้ข่าวนี้ ตัวอย่างเช่น ริวอิชิ ยากิ เจ้าของบริษัทที่เคยผลิตเน็กไทแต่วันนี้เปลี่ยนมาผลิตกระเป๋าสตางค์แทน ซึ่งดูเหมือนแปลกใจมากที่ได้รู้ว่า กำลังใช้บริการ “รถไฟสีเขียว”

ทั้งนี้ สาเหตุที่ยากิต้องเปลี่ยนมาผลิตกระเป๋าสตางค์สืบเนื่องมาจากแคมเปญ “คูล บิซ” ของญี่ปุ่นที่รณรงค์ให้ข้าราชการและพนักงานผู้ชายเปลี่ยนจากใส่สูทมาเป็นเสื้อผ้าสบายๆ เช่น เสื้อเชิ้ตแขนสั้นที่ไม่ต้องติดกระดุมบนแทน เพื่อลดการใช้เครื่องปรับอากาศในช่วงฤดูร้อน
กำลังโหลดความคิดเห็น