xs
xsm
sm
md
lg

ส่องพอร์ตหุ้น “พุ่มพันธุ์ม่วง” มูลค่าพุ่งรับ WP -7UP ผลงานเด่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



เปิดพอร์ตลงทุน “พุ่มพันธุ์ม่วง” ครองการถือหุ้นใหญ่ บจ..ในตลาดหลักทรัพย์ 4 แห่ง WP -7UP -SAMTEL -SDC ไม่รวมปลีกย่อยอีกหลายแห่ง พบเม็ดเงินลงทุนทะลุ 3 พันล้านบาท ขณะหุ้นหลักที่ถืออยู่ราคาบวกดันมูลค่าเงินลงทุนเพิ่ม เพราะ WP -7UP ที่กุมบังเหียนเอง ผลประกอบการเติบโตสดใส ส่วน SDC -SAMTEL บุกหนักดิจิทัลและคอนเทนต์ หนุนฟื้นกำไร

ขึ้นชื่อว่า “พุ่มพันธุ์ม่วง” นามสกุลนี้ย่อมเป็นที่คุ้นหูมานาน แต่ระยะหลังพบว่า “พุ่มพันธุ์ม่วง” เข้ามาวิ่งวนในตลาดหุ้น เพราะตั้งแต่ปี 2557 ชื่อของ “พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” ที่โดดเข้าไปซื้อหุ้น บริษัท ปิคนิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือPICNI ด้วยการได้รับจัดสรรหุ้นเพิ่มทุนแบบ PP พร้อมกับเกิดการเปลี่ยนแปลงใน PICNI สุดท้ายเกิดการควบรวมกิจการกับ และบริษัท เวิลด์แก๊ส (ประเทศไทย) จำกัด (WG) เมื่อปลายปี 2557 ภายใต้ชื่อใหม่ บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ WP ซึ่ง ณ ขณะนั้น มีทุนจดทะเบียน 2,760,565,700 บาท ซึ่งเท่ากับทุนชำระแล้วทั้งหมดของ PICNI และ WG รวมกัน และมีทุนชำระแล้ว 2,760,565,700 บาท หลังจากนั้น WP ก็บริหารงานภายใต้ ตระกูล “พุ่มพันธุ์ม่วง”

หลังจากนั้น “พุ่มพันธุ์ม่วง” ก็ได้ขยายการเข้าไปซื้อหุ้นแบบเฉพาะเจาะจงในอีกหลายบริษัท นับจาก บริษัท เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MLINK หลังเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุน 150 ล้านหุ้น กลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 7.90% รวมถึงกระจายการลงทุนด้วยการเข้าไปถือหุ้นในอีกทั้งหุ้น THL หรือ บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) ถือลำดับที่ 14 ถือ 200 ล้านหุ้น หรือ 0.97% TKS หรือ บริษัท ที.เค.เอส. เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ที่ พล.ต.ต.สมยศ ถือเป็นอันดับ 10 ใน TKS เมื่อปีที่ผ่านมา แต่ล่าสุดปีนี้อันดับตกไปแล้ว

ขณะเดียวกันยังได้ส่งลูกอย่าง “น.ส.ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง และนายรชต พุ่มพันธุ์ม่วง” ที่มีชื่อไปติดอันดับการถือหุ้นใหญ่ในบริษัทจดทะเบียนอีกหลายแห่ง ซึ่งในตารางประกอบจะแสดงเพียงการถือหุ้นที่ติด 10 อันดับแรกเท่านั้น โดยปี 58 ตระกูลพุ่มพันธุ์ม่วง ได้มีชื่อปรากฏในการถือหุ้นอีกหลายบริษัท อย่าง บริษัท สามารถ ไอ-โมบาย จำกัด (มหาชน) หรือ SIM ที่มีนางสาวชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง ถือหุ้น จำนวน 22,847,200 หุ้น คิดเป็น 0.52%

บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) หรือ RS นางสาวชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง ถือหุ้น 6 ล้านหุ้น หรือ 0.59%

บริษัท ทุ่งคาฮาเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ THL ซึ่งถูกขึ้นเครื่องหมาย SP, NC มีชื่อ น.ส.ชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง ถือหุ้นอันดับ 14 สัดส่วน 0.97%

บริษัท ที.เค.เอส. เทคโนโลยี จำกัด(มหาชน) หรือ TKS พล.ต.ต.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ถือหุ้น อันดับ 10 ถือ 0.94% เมื่อเดือนมีนาคม 64 แต่ปัจจุบันไม่ติดรายชื่อการถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรกแล้ว

บริษัท เอคิว เอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ AQ และบริษัท เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ MLINK หรือแรกเริ่มเดิมทีคือ บริษัท เฟอรั่ม จำกัด (มหาชน) หรือ FER ที่ยังแขวน SP ซึ่ง พล.ต.อ.สมยศ เคยถือ 2,500 ล้านหุ้น คิดเป็น 19.73% หรืออันดับ 1 และนางสาวชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง ถือหุ้นอยู่ 143 ล้านหุ้น คิดเป็น 7.53% แต่หลังจากปี 60 ที่ AQ ปรับโครงสร้างและจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน เพื่อจะกลับเข้ามาเทรดอีกครั้ง ก็พบว่าพุ่มพันธุ์ม่วงไม่ได้มีชื่อติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่

และ บริษัท วธน แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ WAT หรือเดิมคือ POLAR หรือ บริษัท โพลาริส แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) ซึ่งแรกเริ่มเดิมทีคือ บริษัท ลิฟวิ่งแลนด์ แคปปิตัล จำกัด (มหาชน) หรือ LL ที่ พล.ต.อ.สมยศ เคยได้รับการจัดสรรหุ้นและเข้าถือ 7,500 ล้านหุ้น หรือ 14.20% แต่เมื่อปี 58 ได้ขายหุ้นทิ้งพร้อมกับรับเงิน 270 ล้านบาท ส่วนนางสาวชมชนก พุ่มพันธ์ุม่วง ถือ WAT 2,500 ล้านหุ้น หรือ 4.73% และปัจจุบันไม่ติดอันดับผู้ถือหุ้นใหญ่

คำนวณเม็ดเงินลงทุนเฉียด 4 พันล.

สำหรับ บจ. 4 แห่ง ที่ “พุ่มพันธุ์ม่วง” มีรายชื่อติดผู้ถือหุ้นใหญ่ 10 อันดับแรกคือ 7UP หรือ บริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์, WP บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน), SDC หรือ บริษัท บริษัท สามารถ ดิจิตอล จำกัด (มหาชน) และ SAMTEL หรือ บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) ซึ่งแต่ละบริษัทล้วนมีผลประกอบการดี และแนวโน้มสดใส เพราะแต่ละแห่งมีแผนงานรองรับความต้องการของตลาดยุคปัจจุบัน และข้อมูลจำนวนหุ้นที่ถือเพียง 4 บจ.ในตาราง จะพบว่ามูลค่าเม็ดเงินที่ลงทุนนั้น ทะลุ 3 พันล้านบาท นี่ยังไม่นับรวม บจ.และบริษัทยิบย่อยอื่นๆ ที่ถือหุ้นเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งหากนำมาคำนวณรวมแล้วพอร์ตน่าจะเฉียดๆ 4 พันล้านบาท จึงนับว่าพอร์ตการลงทุนของคน“พุ่มพันธุ์ม่วง” กระจายไปในหลายธุรกิจและถือว่ามหาศาล

ทั้งนี้ ราคาหุ้น 4 ตัวหลักที่ตระกูลนี้ถือหุ้นใหญ่ เปรียบเทียบราคาเมื่อสิ้นปี 64 และราคาล่าสุด 6 พ.ค. 65 นับจาก 7UP 1.21 บาท ขยับมาที่ 1.16 บาท WP 5.05 บาท ลดเหลือ 4.92 บาท SDC 0.51 บาท ลดเหลือ 0.39 บาท และ SAMTEL 6 บาท ขยับเพิ่มเป็น 6.40 บาท ทั้งนี้ราคาหุ้นบวกลบในแต่ละวันที่แตกต่างย่อมไปตามกระแสข่าวและภาวะของแต่ละธุรกิจ แต่นั่นก็ไม่ได้กระทบสัดส่วนการถือหุ้นเปลี่ยนแปลงเว้นแต่จะขายออกหรือซื้อเพิ่ม เพราะปี 64 ที่ผ่านมา ราคาหุ้น 4 ตัวนี้ขยับและคึกคักมาก ทำให้เพิ่มมูลค่าต่อเม็ดเงินทุนที่ถือไว้ ขณะผลประกอบการของบริษัท 4 แห่งที่กล่าวมานั้น แนวโน้มสดใส เพราะแต่ละบริษัทที่ถืออยู่นั้นอวดงบการเงินได้ต่อเนื่อง

WP สดใส รับดีมานด์ LPG -Solar คึก

สำหรับ บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ WP ที่ทำธุรกิจจัดจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่มี “นางสาวชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง นั่งแท่นกุมบังเหียนตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร” ที่เผยว่าปีนี้ WP ยังมีแนวโน้มเป็นขาขึ้น จึงตั้งเป้ายอดขายพิ่มเป็น 765,000 ตัน แบ่งเป็นขายภายในประเทศ 740,000 ตัน และส่งออก 25,000 ตัน จากปีที่ผ่านมียอดขาย 700,000 ตัน พร้อมกับขยายเครือข่ายการจัดจำหน่ายผ่านการเพิ่มตัวแทนจำหน่ายในพื้นที่ต่างๆ เพื่อครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวมถึงมีแผนขยายตลาดของการส่งออกไปยังต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันได้ Trading LPG ไปยังประเทศเวียดนามแล้ว ซึ่งตามแผนได้แบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 740,000 ตัน และส่งออก 25,000 ตัน เมื่อเทียบกับปี 2564 ที่มีปริมาณการขายรวมอยู่ที่ 714,000 ตัน แบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 696,000 ตัน และส่งออกไปยังเวียดนาม 18,500 ตัน อีกทั้งแนวโน้มอุตสาหกรรมก๊าซ LPG ภาคครัวเรือนปีนี้จะฟื้นตัวอย่างชัดเจนตามความต้องการใช้ก๊าซ LPG ที่คาดว่าจะกลับมาเติบโตตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นสินค้าที่ต้องใช้และมีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน และเดือนเมษายนปีนี้ รัฐไฟเขียวให้ปรับขึ้นราคาก๊าซเป็นรูปแบบขั้นบันได โดยก๊าซหุงต้ม LPG ขนาดถัง 15 กก. จะปรับขึ้นราคาจาก 318 บาท เป็น 333 บาท หรือเฉลี่ยขึ้นกิโลกรัมละ 1 บาท

ขณะธุรกิจพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ปีนี้ตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 20 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 5 เมกะวัตต์ อีกทั้งมองหาโอกาสและช่องทางธุรกิจใหม่ๆ ในการสร้างรายได้เพิ่ม เพื่อสร้างความเข้มแข็งเพิ่มเติมให้กับการลงทุนที่มีในปัจจุบัน เพื่อผลักดันการเติบโตให้กับธุรกิจต่อไปได้ในระยะยาว โดยมั่นใจรายได้ปีนี้จะเติบโตตามเป้าไม่ต่ำกว่า 5% จากปี 2564 หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท จากปริมาณการขาย LPG ที่เพิ่มขึ้น ทั้งในประเทศและส่งออก

อย่างไรก็ดี เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา WP ยอมควักทุนเกือบ 500 ล้านบาท หวังต่อยอดธุรกิจอาหาร ด้วยการถือหุ้น บริษัท วันเดอร์ฟู้ด โฮลดิ้ง จำกัด สัดส่วน 50% และด้วยเป้าหมายว่ารายได้จากธุรกิจนี้จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% และขยับขึ้นตามลำดับพร้อมผลักดันเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ด้วย แต่ที่สุดแล้ว WP ก็ตัดใจขายหุ้นที่ถือใน บริษัท วันเดอร์ฟู้ด โฮลดิ้ง จำกัด ทั้งหมด พร้อมให้เหตุผลว่าต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างธุรกิจของ WP เพราะปีนี้อัดงบลงทุน 860 ล้านบาท เพื่อจะใช้สำหรับการลงทุนเพิ่มจุดกระจายสินค้า รวมถึงการขยายธุรกิจโซลาร์รูฟท็อปอีก 20 เมกะวัตต์ ส่วนความพร้อมในการทำธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) คาดจะมีความชัดเจนช่วงไตรมาส 3-4 ปีนี้ ดังนั้น จากผลการดำเนินงานที่เติบโตต่อเนื่อง WP จึงจ่ายเงินปันผลในอัตราหุ้นละ 0.15 บาท และกำหนดจ่ายเงินปันผลวันที่ 27 พฤษภาคม 2565

7UP ลุยสาย น้ำ เพิ่มกำไร-รายได้

บริษัท เซเว่น ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ 7UP หรือเดิมคือ บมจ.เอ็ม ลิ้งค์ เอเชีย คอร์ปอเรชั่น (MLINK) กระทั่งเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น บริษัท เฟอร์รั่ม จำกัด (มหาชน) หรือ FER ด้วยการมุ่งธุรกิจจัดจำหน่ายอุปกรณ์โทรคมนาคม และโทรศัพท์มือถือ ทั้งแบบค้าส่งและค้าปลีก รวมถึงการเป็นผู้แทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการของโทรศัพท์มือถือยี่ห้อ Nokia และให้บริการอื่นๆ ซึ่งรวมถึง การออกแบบและติดตั้งระบบโทรคมนาคม และเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) ให้แก่ทุกภาคธุรกิจ

ปัจจุบัน โครงสร้างทางธุรกิจของ 7UP เปลี่ยนแปลงไปด้วยการมุ่งไปจับ 5 ธุรกิจหลัก คือกลุ่มธุรกิจสถานีบริการแก๊สและน้ำมัน กลุ่มธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคม และ Internet of Things (IoT) กลุ่มธุรกิจพลังงานทดแทน กลุ่มธุรกิจสาธารณูปโภค และกลุ่มธุรกิจกำจัดกากอุตสาหกรรม พร้อมกับทีมบริหารชุดใหม่ที่เพิ่งปรับไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมาหมาดๆ ด้วยการให้ “สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง” ประธานกรรมการบริษัท อีกทั้งตั้ง “วุฒิชัย กัลยาณมิตร” นั่งตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มีผลตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค.2565

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า 7UP กลับมีจุดเด่นที่การขายน้ำประปาให้กับการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ในจังหวัดภูเก็ต ด้วยบทบาทของบริษัทในเครืออย่าง บริษัท โกลด์ ชอร์ส จำกัด ซึ่งได้สัมปทานขายน้ำให้ กปภ. ในจังหวัดภูเก็ต ที่มีระยะเวลายาวไปถึง 30 ปี ล่าสุดได้งานบำบัดน้ำให้กับฟาร์มกุ้งของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF จำนวน 3 เฟส รวม 124,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวันตามสัญญา และอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อดำเนินการขยายพื้นที่ให้บริการบำบัดน้ำอีกด้วย

ขณะที่ก่อนสิ้นปี 2564 นั้น 7UP ได้ให้ บริษัท สตาร์ แก๊ส จำกัด (STG) ซึ่ง STG เป็นบริษัทย่อยที่ 7UP ถือหุ้น 99.99% เข้าลงทุนในบริษัท บิลเลี่ยน เวลเนส จำกัด (BWN) ผู้ประกอบธุรกิจร้านกาแฟ โดยการเข้าทำรายการดังกล่าวเป็นการซื้อหุ้นสามัญของ BWN 99.98% ของทุนจดทะเบียน หรือ 9,998 หุ้น ในมูลค่า 1.3 ล้านบาท ส่งผลให้ BWN กลายเป็นบริษัทย่อยของ STG

การเข้าลงทุนในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยสร้างรายได้และผลกำไรให้แก่บริษัท ส่งผลดีต่อการดำเนินงานของบริษัท อีกทั้งเป็นการขยายธุรกิจในการเพิ่มสาขาด้านธุรกิจร้านกาแฟ ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบันและจะช่วยสร้างยอดขายในอนาคต เป็นการกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจให้มีความหลากหลายและเป็นไปตามแผนการขยายธุรกิจของบริษัท ซีอีโอ 7UP กล่าวไว้

สำหรับงวดปี 2564 บริษัทมีกำไรสุทธิ 280.58 ล้านบาท จากงวดนี้ปี 63 ที่มีกำไรสุทธิ 117.44 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 163.44 ล้านบาท หรือคิดเป็น 138.91% และได้นำกำไรไปล้างขาดทุนสะสม 206.85 ล้านบาท ซึ่งเป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์ของบริษัทฯ ในอันที่จะมุ่งล้างขาดทุนสะสมให้หมดโดยเร็ว ซึ่งรายได้ รวม 799.54 ล้านบาท ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มธุรกิจจำหน่ายก๊าซแอลพีจีและน้ำมัน

SDC บุกหนักดิจิทัล-คอนเทนต์

บริษัท สามารถ ดิจิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ SDC ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAMART ซึ่ง SDC เพิ่งถูกปลดเครื่องหมาย C เมื่อ 28 ก.พ. 2565 หลังนำส่งงบการเงินงวดสิ้นปี 64 และพบว่าผลการดำเนินงานขาดทุนสุทธิ 332.20 ล้านบาท ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขาดทุน 342.94 ล้านบาท

ทั้งนี้ ปัจจุบัน SDC ให้บริการใน 2 ส่วนหลักๆ คือ ดิจิทัล ทรังก์ เรดิโอ (DTRS) ที่ปลายปี 64 ได้เซ็นสัญญากับ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ หรือNTในการให้บริการแก่การไฟฟ้าฯ กระทรวงมหาดไทย ซึ่งนั่น ก็ทำให้ SDC มีรายได้มาค่าอุปกรณ์สื่อสาร และรายได้จากการให้บริการที่ทยอยรับรู้รายได้มากกว่า 3,000 ล้านบาท

ขณะที่ธุรกิจบริการดิจิทัลและคอนเทนต์ จะมุ่งทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่การเป็น Digital Lifestyle Contect Enabler เพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเข้าสู่ชีวิตในยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ ด้วยการนำประสบการณ์ในการให้บริการ มาพัฒนาแอปพลิเคชัน Horoworld ให้เป็น One stop Service ทางด้านโหราศาสตร์และความเชื่อ ซึ่งแอปฯ Horoworld นั้น SDC จะมุ่งหาพันธมิตรและสถาบันการเงิน ตลอดจนสินค้าต่างๆ ที่สามารถนำดวงไปผูก อย่างฤกษ์ออกรถยนต์ ฤกษ์แต่งงาน เป็นต้น เพื่อต่อยอดการให้บริการออนไลน์ไปสู่การฟังเทศน์ ไหว้พระ แบบ Metaverse รวมถึงการสร้างเหรียญบุญผ่านการทำ NFT และเหรียญดิจิทัล

SAMTEL ลุยเทคโนฯ ดิจิทัล ฟื้นผลงาน

สำหรับ บริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) หรือ SAMTEL แม้ว่าปี 63 ผลการดำเนินงานจะขาดทุนไป 287 ล้านบาทเพราะผลกระทบจากโควิด-19 ระบาดแต่ปี 64 ก็ฟื้นกำไรมาที่ 61.38 ล้านบาท จากรายได้รวม 4,655.78 ล้านบาท ซึ่งถือว่ายังไม่เข้าสู่ปกติ แต่ปัจจุบันที่มีการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งรัฐและเอกชน ในการพัฒนาการทุกด้านผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในยุคดิจิทัล นั่นจะทำให้ SAMTEL มีโอกาสได้รับงานมากขึ้น เพราะ ล่าสุดเพิ่งคว้างานโครงการติดตั้งระบบมิเตอร์อัจฉริยะ (AMI) ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มูลค่า 2,359.96 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 84 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2565-31 มี.ค. 2572

เพราะ SAMTEL มีความชำนาญและพร้อมนำเสนอเทคโนโลยีดิจิทัลครบวงจร รวมถึงการดำเนินการให้บริการภาครัฐในรูปแบบ Digital Solution Outsource Service จึงเห็นโอกาสที่จะก้าวสู่การเป็นผู้ร่วมเสริมศักยภาพการบริการดิจิทัลภาครัฐ หรือ Government e-Service ไปสู่ความสำเร็จ และใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ เพื่อที่รัฐจะได้ประโยชน์ในหลายด้าน ซึ่งปีนี้มุ่งเน้นไป 3 กลุ่มหลักคือ Government Service Outsource เน้นให้บริการธุรกรรมต่างสาขา, Utility Sector คือการให้บริการ Advance Utility Infrastructure เพื่อช่วยยกระดับบริหารจัดการองค์กร และ Banking Sector ให้บริการด้าน Digital Banking และบริการ Smart Branch Services ซึ่งมูลค่าโครงการรวมจากเฉพาะ 3 กลุ่มหลักนี้ อยู่ที่กว่า 13,000 ล้านบาท โดย SAMTEL ตั้งเป้าจะคว้างานใหม่มูลค่ารวม 11,000 ล้านบาท เพื่อมาเติมแบ็กล็อกที่ปัจจุบันอยู่ที่ 7,200 ล้านบาท ทำให้มั่นใจว่ารายได้ปีนี้จะบรรลุเป้าหมายได้ตามที่ตั้งไว้ 7,000 ล้านบาท เติบโต 30-40% จากปีก่อน

จากข้อมูลเบื้องต้น เป็นเพียงส่วนที่หาได้จากตลาดหลักทรัพย์ เพราะการลงทุนตัวเลขสัดส่วนการลงทุนจะไม่นิ่ง หากมีการออกหุ้นเพิ่มทุนจัดสรรร PP และการดอดไปเก็บหุ้นเพิ่มในกระดาน ซึ่งข้อมูลจากรายงานนี้คือปิดสมุดทะเบียน ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 65


กำลังโหลดความคิดเห็น