xs
xsm
sm
md
lg

ขยาย 4 เลน "อรัญประเทศ-โคกสูง" เสร็จ 20 กม. เชื่อมโลจิสติกส์เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมทางหลวงขยาย 4 ช่องจราจร ทล.348 สาย อ.อรัญประเทศ-อ.โคกสูง กม.2+700 - กม.22+664 ระยะทาง 20 กม.เสร็จแล้ว ใช้งบกว่า 900 ล้านบาท เพิ่มขีดความสามารถระบบโลจิสติกส์รองรับการคมนาคมขนส่งพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว
 
นายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) กล่าวว่า ขณะนี้กรมทางหลวงได้ดำเนินการก่อสร้างขยายทางหลวงหมายเลข 348 สาย อ.อรัญประเทศ-อ.โคกสูง จังหวัดสระแก้ว ระหว่าง กม.2+700 - กม.22+664 ระยะทาง 20 กิโลเมตร เป็น 4 ช่องจราจร งบประมาณ 900,525,944 บาท เสร็จแล้ว โดยทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 348 สายอรัญประเทศ-นางรอง หรือถนนธนวิถี นั้นเป็นเส้นทางที่เชื่อมต่อระหว่างภาคตะวันออกกับภาคอีสานตอนใต้ มีจุดเริ่มต้นบริเวณตัวอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ผ่านอำเภอโคกสูง สิ้นสุดที่ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 24 (ถนนเดชอุดม) ที่อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ระยะทางประมาณ 141 กิโลเมตร อยู่ในความดูแลของแขวงทางหลวงสระแก้ว (วัฒนานคร) และแขวงทางหลวงบุรีรัมย์ สำนักทางหลวงที่ 10 นครราชสีมา
 
การก่อสร้างโครงการดังกล่าวเพื่อเป็นโครงการสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษสระแก้ว เป็นโครงการสำคัญตามมติ กรอ.ช่วยแก้ไขปัญหาจราจร ลดอุบัติเหตุ เพิ่มประสิทธิภาพในการรองรับจราจร เพิ่มความสะดวกในการเดินทางของผู้สัญจรในพื้นที่ จังหวัดสระแก้ว จังหวัดบุรีรัมย์ให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งเดิมทางหลวงหมายเลข 348 สาย อ.อรัญประเทศ-อ.โคกสูง สายนี้เป็นทางหลวงขนาด 2 ช่องจราจร ไป-กลับ

แต่เนื่องจากปัจจุบันไม่สามารถรองรับปริมาณจราจรที่เพิ่มจำนนมากขึ้น จึงได้ทำการขยายช่องจราจร โดยเริ่มก่อสร้างระหว่าง กม.2+700 - กม.22+664 ระยะทาง 19.96 กิโลเมตร ในพื้นที่อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 4 ช่องจราจร ขยายคันทางจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร (ไป - กลับ ข้างละ 2 ช่องจราจร) กว้างช่องละ 3.5 เมตร ผิวทางและไหล่ทางเป็นแอสฟัลต์คอนกรีต ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.5 เมตร แบ่งทิศทางจราจรด้วยเกาะกลางแบบยก กว้าง 5.1 เมตร พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง ไฟสัญญาณจราจร ไฟกะพริบ บนทางหลวง ก่อสร้างศาลาทางหลวงและสะพานลอยคนเดินข้ามเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
 
โดยเมื่อโครงการก่อสร้างแล้วเสร็จจะเป็นการรองรับเขตเศรษฐกิจพิเศษตามแนวชายแดนของชาวสระแก้ว อรัญประเทศ และโคกสูง ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายโลจิสติกส์ของประเทศ เพื่อพัฒนาไปสู่การเป็นศูนย์กลางคมนาคมขนส่งของภูมิภาคอาเซียน เกิดความสะดวกรวดเร็วในการเดินทาง ลดค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทาง ทำให้โครงข่ายทางหลวงของประเทศมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและลดการเกิดอุบัติเหตุบนถนน ช่วยแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดช่วงเทศกาล พัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคให้ดีขึ้น






กำลังโหลดความคิดเห็น