xs
xsm
sm
md
lg

“ส.อ.ท.” ชี้แนวโน้มต้นทุนภาคเกษตรพุ่ง แนะเร่งปรับโครงสร้างรับมือโลกเปลี่ยน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ส.อ.ท.ส่งสัญญาณแนวโน้มภาคเกษตรไทยอ่วมรับต้นทุนการผลิตพุ่งโดยเฉพาะปุ๋ย และดีเซล ดันสินค้ากลุ่มอาหารราคาขยับ แนะเกษตรกรและรัฐเร่งปรับโครงสร้างทั้งระบบรับการเปลี่ยนแปลงพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสมุ่งพัฒนาสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ควบคู่พัฒนาส่งเสริมการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปรับการผลิตมุ่งป้อนตลาดในประเทศ 60% ส่งออก 40%

นายธนารักษ์ พงษ์เภตรา รองประธานและประธานสถาบันอุตสาหกรรมเพื่อการเกษตร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การสู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนส่งผลกระทบให้ภาคเกษตรกรรมของไทยโดยรวมมีต้นทุนที่สูงขึ้นโดยเฉพาะปุ๋ยเคมีและน้ำมันดีเซลที่รัฐปรับเพดานเกินลิตรละ 30 บาท ซึ่งต้นทุนเหล่านี้จะสะท้อนไปยังราคาอาหารสำเร็จรูปที่ต้องใช้วัตถุดิบทางการเกษตรต่างๆ ต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นตามมาอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ดังนั้นไทยจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับตัวรองรับกับทิศทางของต้นทุนที่สูงขึ้นและใช้นวัตกรรมเข้ามาบริหารจัดการเพื่อมุ่งไปสู่เกษตรมูลค่าสูง ปรับการผลิตให้มุ่งเน้นตลาดในประเทศและส่งออกที่สมดุลในการสร้างรายได้ให้เกษตรกรแบบยั่งยืน

“โลกมีแนวโน้มขาดแคลนอาหาร ไทยเองแม้ต้นทุนจะสูงขึ้นแต่หากบริหารจัดการให้ดีเราก็ยังมีต้นทุนที่ต่ำกว่าหลายประเทศทั่วโลกและเรามีความหลากหลายทางชีวภาพวัตถุดิบทางเกษตรจึงมีมาก รวมถึงปศุสัตว์ ไทยจึงมีศักยภาพที่สามารถจะพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสและสร้างรายได้ให้ประเทศไปพร้อมๆ กับการดูแลเกษตรกรที่เป็นรากฐานของสังคมไทยให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นได้” นายธนารักษ์กล่าว

ปัจจุบันไทยมีการผลิตสินค้าเกษตรที่ขณะนี้มุ่งทำตลาดส่งออกมากกว่าเน้นป้อนในประเทศ และพบว่าตลาดส่งออกมักจะพึ่งพิงตลาดใดตลาดหนึ่งค่อนข้างมากโดยเฉพาะผลไม้ เช่น ทุเรียน ที่ไทยมุ่งตลาดจีนเป็นสำคัญ เมื่อจีนกำหนดมาตรการ Zero Covid ที่เข้มงวดตรวจหาเชื้อโควิด-19 บนบรรจุภัณฑ์และสินค้าทุกชนิดทำให้ทุเรียนส่งออกได้ลำบากจึงกระทบสูง ดังนั้นไทยควรจัดสมดุลของตลาดภาคเกษตรให้หันมาเน้นตลาดในประเทศ 60% และส่งออก 40% และตลาดส่งออกควรกระจายไปในหลายๆ ตลาดเพื่อลดความเสี่ยง

นายธนารักษ์กล่าวว่า เมื่อการผลิตภาคเกษตรที่เน้นตลาดในประเทศจึงต้องมองในแง่ปริมาณการผลิตที่เหมาะสม ดังนั้นรัฐและเกษตรกรต้องส่งเสริมและปรับปรุงการผลิตที่ไม่เน้นขยายพื้นที่แต่เน้นเพิ่มผลผลิตต่อพื้นที่ให้มากขึ้น มีการใช้นวัตกรรมมาบริหารจัดการ มุ่งเน้นเกษตรอินทรีย์พัฒนาอาหารแห่งอนาคตเพื่อตอบโจทย์ตลาดโลกให้มากขึ้น มีการดูแลต้นทุนการผลิตโดยเฉพาะปุ๋ยเคมีที่ไทยยังคงต้องพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศโดยหันมาส่งเสริมและพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์ให้สูงขึ้น เป็นต้น

“เกษตรกรไทยเราชินกับการใช้ปุ๋ยเคมี ซึ่งพืชผัก ผลไม้หลายอย่างสามารถปรับไปสู่เกษตรอินทรีย์และใช้ปุ๋ยอินทรีย์ได้ในการเพิ่มมูลค่า และกรณีบางชนิดที่เป็นการผลิตเพื่อแปรรูปกับโรงงานที่มีสเกลขนาดใหญ่เช่น อ้อยก็สามารถผสมผสานการใช้ปุ๋ยหรือเป็นระบบไฮบริดได้ โดยเราพบว่างานวิจัยด้านจุลินทรีย์บางชนิดที่สามารถมาพัฒนาเป็นปุ๋ยอินทรีย์ได้แต่หากไม่ได้จัดอยู่ในบัญชีของกรมวิชาการเกษตรก็จะจัดเป็นวัตถุอันตรายทันที ดังนั้นจุดนี้ไทยเองต้องพิจารณาในการปรับปรุงแนวทางกันอย่างบูรณาการ” นายธนารักษ์กล่าว

นายธนารักษ์ยังกล่าวถึงกรณีที่อินโดนีเซียระงับส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนภายในประเทศเมื่อ 27 เม.ย.ผลักดันให้ราคาน้ำมันพืชมีราคาสูงสุดทุบสถิติเนื่องจากอินโดฯ ส่งออกน้ำมันปาล์มคิดเป็น 35% ของการส่งออกทั้งหมด และกดดันให้ราคาน้ำมันจากพืชชนิดอื่นๆ สูงตามไปด้วย เช่น ถั่วเหลือง น้ำมันคาโนลา ฯลฯ ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันพืชในไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตามคงจะต้องติดตามใกล้ชิดว่าอินโดฯ จะกลับมาส่งออกเมื่อใดเนื่องจากหากกลับมาส่งออกได้ระดับราคาน้ำมันปาล์มจะไต่ระดับลดลงตามมา
กำลังโหลดความคิดเห็น