xs
xsm
sm
md
lg

ขายทองคำเก็งกำไรกระฉูด ดันยอดส่งออก มี.ค.พุ่ง 341.39%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ส่งออกอัญมณี มี.ค.โตต่อเนื่อง มูลค่า 739.13 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 37.01% หากรวมทองคำพุ่ง 3,408.93 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 341.39% เหตุส่งออกไปเก็งกำไร ยอดรวม 3 เดือน มูลค่า 1,898.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 39.96% รวมทองคำ มูลค่า 5,486.58 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 203.93% คาดแนวโน้มยังดีต่อเนื่อง หลังเศรษฐกิจคู่ค้าฟื้น มีการเปิดประเทศ แต่ต้องจับตาสงคราม เงินเฟ้อ โควิด-19

นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของไทยเดือน มี.ค. 2565 มีมูลค่า 739.13 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 37.01% ยังคงฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง หากรวมทองคำ มีมูลค่า 3,408.93 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 341.39% และยอดรวม 3 เดือนของปี 2565 (ม.ค.-มี.ค.) มีมูลค่า 1,898.03 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 39.96% และหากรวมทองคำ มีมูลค่า 5,486.58 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 203.93%

ปัจจัยที่ทำให้การส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับขยายตัวเพิ่มขึ้น มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ที่มีการทยอยเปิดเมืองในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้กำลังซื้อเพิ่มขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้น และยังมีการขยายตัวของการลงทุนเพิ่มระดับสินค้าคงคลังที่ลดลงไปก่อนหน้านี้ และยังมีการส่งออกทองคำไปเก็งกำไรจากราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้มีการส่งออกทองคำเพิ่มขึ้น ซึ่งยอดรวม 3 เดือนมีมูลค่า 3,588.56 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวสูงถึง 699.05%

สำหรับตลาดส่งออกสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ สหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย เพิ่ม 46.48% อินเดีย เพิ่ม 113.98% ฮ่องกง ซึ่งปีที่ผ่านมาการส่งออกชะลอตัวมาโดยตลอด กลับมาส่งออกได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้น 14.77% เพิ่ม 3 เดือนติดต่อกัน เยอรมนี เพิ่ม 7.97% สหราชอาณาจักร เพิ่ม 88.29% สวิตเซอร์แลนด์ เพิ่ม 82.14% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 21.25% เบลเยียม เพิ่ม 29.45% อิตาลี เพิ่ม 129.87% และญี่ปุ่น เพิ่ม 11.22%

ส่วนสินค้าสำคัญที่ส่งออกได้เพิ่มขึ้น เช่น เครื่องประดับเงิน เพิ่ม 13.98% เครื่องประดับทอง เพิ่ม 42.02% เพชรก้อน เพิ่ม 3.11 % เพชรเจียระไน เพิ่ม 70.90% พลอยก้อน เพิ่ม 27.41% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 48.17% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 50.28% เครื่องประดับเทียม เพิ่ม 37.62% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำจากโลหะมีค่า เพิ่ม 63.48% ส่วนเครื่องประดับแพลทินัม ลด 19.78%

ทั้งนี้ คาดว่าแนวโน้มการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับจะยังคงดีขึ้นต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อินเดีย ฮ่องกง เยอรมนี สหราชอาณาจักร สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เบลเยียม อิตาลี และญี่ปุ่น และหลายประเทศเริ่มผ่อนคลายมาตรการเข้าประเทศ มีการเปิดประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้มีการเดินทาง มีการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลให้มีการซื้อเพิ่มขึ้น แต่ยังต้องจับตาผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ความกดดันจากเงินเฟ้อที่สูงขึ้น ผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด และสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ยังไม่คลี่คลาย
กำลังโหลดความคิดเห็น