จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา แม้ธุรกิจค้าปลีก ห้างสรรพสินค้าและศูนย์การค้า จะได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ กระทั่งมีการเพิ่มความเข้มงวดด้านสุขอนามัย แต่สินค้าอุปโภค บริโภค เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารแบบเทคโฮม และร้านขายยาก็ยังเปิดให้บริการอยู่บ้าง กระแสการดูแลสุขภาพทำให้เริ่มมีธุรกิจค้าปลีกหันมาให้ความสนใจกับธุรกิจร้านขายยามากขึ้น
ล่าสุดถึงคิวของ เซ็นทรัลฟู้ดรีเทล (Central Food Retail) ในเครือ เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น (CRC) ธุรกิจค้าปลีกกลุ่มเซ็นทรัล หันมาเปิดร้านขายยาเป็นของตัวเองที่ชื่อว่า "ท็อปส์แคร์" (Tops Care) ประเดิมสาขาแรกที่เซ็นทรัล ฟู้ดฮอลล์ พระราม 2 เมื่อเดือนมีนาคม 2565 ที่ผ่านมา ตามมาด้วยสาขา แอท เอกมัย สุขุมวิท 63 และสาขาล่าสุด ท็อปส์ มาร์เก็ต พัฒนาการ 30
ท็อปส์แคร์ วางคอนเซปต์เป็นร้านขายยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ โดยมีทั้งส่วนให้บริการตนเอง จำหน่ายยาสามัญประจำบ้าน ยาใช้ภายนอก อาหารทางการแพทย์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ เวชสำอาง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และเคาน์เตอร์บริเวณให้บริการโดยเภสัชกร อาทิ ยาคุมกำเนิด ยาปฏิชีวนะ ยาฆ่าเชื้อ ยาแก้ปวดและต้านการอักเสบ ยากลุ่มโรคเรื้อรังที่ไม่ติดต่อ
ก่อนหน้านี้ เซ็นทรัล รีเทลฯ พยายามแตกไลน์กลุ่มธุรกิจใหม่ในกลุ่มการดูแลสุขภาพและความงาม (Health & Wellness) โดยได้เปิด ร้านท็อปส์วิตา (Tops Vita) จำหน่ายวิตามินและผลิตภัณฑ์อาหารเสริมทั้งในและต่างประเทศ เปิดสาขาแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 ที่เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์ เซ็นทรัลบางนา และท็อปส์ มาร์เก็ต พระราม 9 ปัจจุบันมีทั้งหมด 6 สาขาแล้ว
สำหรับธุรกิจร้านขายยาในไทย ที่ผ่านมาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จากร้านขายยาในชุมชนที่มีเภสัชกรเป็นนายตัวเอง เริ่มพัฒนามาสู่ช่องทางสมัยใหม่มากขึ้น รวมทั้งพัฒนาไปสู่ระบบแฟรนไชส์ เช่น ร้านขายยาฟาสซิโน ที่มีมากกว่า 100 สาขา ก็เริ่มพัฒนาระบบแฟรนไชส์ สำหรับเภสัชกรที่ทำงานกับบริษัทฯ ครบ 3 ปี ลดค่าแฟนไชซีให้ เพื่อให้มีร้านขายยาเป็นของตัวเอง
ส่วนธุรกิจอื่นก็หันมาสนใจทำธุรกิจร้านขายยาเช่นเดียวกัน อาทิ เมื่อปี 2562 สยามเฮลท์ กรุ๊ป ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมูทอี (Smooth-E) เข้าซื้อกิจการ ร้านขายยา P&F ปัจจุบันมีอยู่ราว 63 สาขา หรือจะเป็น กลุ่มกรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS ก็รุกธุรกิจกลุ่มนอน-ฮอสพิทอล (Non-Hospital) เปิด ร้านขายยาเซฟดรัก (SAVE DRUG) ปัจจุบันมีเกือบ 80 สาขา
ส่วนธุรกิจค้าปลีก นอกจากร้านสุขภาพและความงามอย่าง บู๊ทส์ (Boots) และ วัตสัน (Watsons) แล้ว ห้างค้าปลีกก็หันมาพัฒนาแบรนด์ร้านขายยาของตัวเอง เช่น กลุ่มบีเจซี-บิ๊กซี พัฒนา ร้านขายยาเพรียว (PURE) เมื่อปี 2551 จำหน่ายเวชภัณฑ์และผลิตภัณฑ์บำรุงสุขภาพและความงามในห้างบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์, บิ๊กซี มาร์เก็ต บางสาขาตั้งเป็นเอกเทศ ปัจจุบันมีอยู่ 164 สาขา
ล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 บิ๊กซีเปิดร้านขายยาปลีก-ส่งภายใต้ชื่อ สิริฟาร์มา ที่ตลาดพรานนก ในรูปแบบร้านยาขายปลีก-ส่ง จัดจำหน่ายสินค้าหมวด ยา เวชภัณฑ์และอุปกรณ์การแพทย์ เน้นขายราคาส่งให้กับผู้บริโภคตั้งแต่ชิ้นแรก โดยปีนี้เตรียมเปิด 2 สาขาเพิ่มเติมในกรุงเทพฯ และตั้งเป้าขยายถึง 11 สาขาทั่วประเทศภายในปี 2569
ขณะที่ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) นอกจากจะมี ร้านเอ็กซ์ต้า พลัส ในกลุ่มธุรกิจซีพี ออลล์ มี 320 สาขาทั่วประเทศ ส่วนใหญ่อยู่ในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นแล้ว ก่อนหน้านี้ในช่วงรีแบรนด์ดิ้งสาขาโลตัส (Lotus's) ต้นแบบที่เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา ที่แผนก Pharmacy ยังพัฒนาบูธ ทรูเฮลท์ (True HEALTH) ให้คำแนะนำผ่านแพลตฟอร์มดูแลสุขภาพอัจฉริยะอีกด้วย
แม้การพัฒนาร้านขายยาในธุรกิจค้าปลีก นอกจากต้องลงทุนตกแต่งและสินค้าที่ต้องลงทุนจำนวนมากแล้ว ด้านบุคลากรอย่างเภสัชกร ที่มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ก็เป็นที่ต้องการเช่นกัน ร้านขายยาที่ห้างค้าปลีกบริหารเอง นอกจากเงินเดือนแล้ว ยังมีค่าใบประกอบวิชาชีพ และหากยอดขายตรงตามเป้าหมาย ก็จะมีรางวัลจูงใจ หรืออินเซนทีฟ (Incentive) อีกด้วย
ย้อนกลับมาที่กลุ่มเซ็นทรัล ธุรกิจค้าปลีกในช่วงที่ผ่านมาจะเป็นไปในลักษณะพื้นที่เช่าในศูนย์การค้าของเซ็นทรัลพัฒนา โรบินสันไลฟ์สไตล์ เซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์ และท็อปส์ มาร์เก็ตมากกว่า แม้จะมีสินค้าประเภทยาสามัญประจำบ้าน สินค้าเพื่อสุขภาพและความงาม ส่วนหนึ่งจำหน่ายที่แผนกสุขภาพและความงาม ซึ่งบางสาขาได้พัฒนาเป็นโซนที่เรียกว่าลุคส์ (LOOKS) ไปแล้ว
ปัจจุบัน เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล มีสาขาเซ็นทรัลฟู้ดฮอลล์ 15 แห่ง ท็อปส์ มาร์เก็ต 132 แห่ง ท็อปส์ ซูเปอร์สโตร์ 5 แห่ง ท็อปส์เดลี่กว่า 120 แห่ง ถือว่ามีศักยภาพขยายสาขาท็อปส์แคร์เพิ่มเติม ถือว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของท็อปส์ที่หันมาทำธุรกิจร้านขายยา ควบคู่กับสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน
(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทุกเช้ามืดวันพุธ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)