xs
xsm
sm
md
lg

สมการใหม่สู่สมรภูมิ 6 G ที่กสทช.ต้องทันเกม ควบรวม=แข่งขัน ไม่ควบรวม = ผูกขาด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ข่าวเชิงวิเคราะห์ “ควบรวมทรู-ดีแทค” ความยาว 3 ตอนจบ

วัดใจภารกิจแรกบอร์ด กสทช.ชุดใหม่กับการตัดสินใจพลิกโฉมชี้ชะตาตลาดโทรคมนาคมยุคใหม่ ขวางหรือไปต่อ‘ควบรวมกิจการทรู-ดีแทค’ เปิดไพ่ในมือกสทช.บนหลักการทำตามอำนาจหน้าที่ที่มีอยู่และไม่ทำอะไรฝ่าฝืนกฎหมายโดยเด็ดขาด ฝ่าความขัดแย้ง 2 ฟากที่ต้องยึด “ประโยชน์สาธารณะ” เดิมพันการพิจารณาครั้งนี้ ปลายทางปลดล็อคอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยให้เดินหน้าแบบแข่งขันกัน หรือ กลับเข้าสู่วังวนผูกขาด 


พลันที่คณะกรรมการ (บอร์ด) กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ชุดใหม่เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 20 เม.ย.2565 ที่ผ่านมา ภายหลังพิธีรับสนองพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้ง ประธานกรรมการและกรรมการกสทช.ทั้ง 5 คน ประกอบด้วยศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช.,พลอากาศโทธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียง,ศาสตราจารย์พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์,นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กรรมการ กสทช.ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน และรองศาสตราจารย์ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช.ด้านเศรษฐศาสตร์ก็เริ่มหารือกันถึงภารกิจแรกแบบนอกรอบเฉพาะบอร์ด 5 คน ทันทีนั่นคือ เรื่องการควบรวมกิจการของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค ซึ่งในวันที่ 22 เม.ย.2565 บอร์ดยังได้ประชุมกับสำนักงานกสทช.เพื่อฟังรายละเอียดของการควบรวมกิจการดังกล่าวอีกด้วย

“ภารกิจแรกที่ต้องเร่งทำ ก็คือภารกิจที่รู้กันอยู่ นั่นคือ เรื่องการควบกิจการของทรูกับดีแทค ซึ่งผมเองก็มีข้อมูลอยู่บ้างจากการติดตามทางสื่อและคนอื่นที่ส่งข้อมูลเข้ามา เอกสารเยอะแยะไปหมด’ ศาสตราจารย์คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.กล่าว

นั่นแสดงให้เห็นว่า 5 กสทช.ป้ายแดง ไม่ได้นิ่งเฉย กับ ประเด็นที่ร้อนแรงในสังคมโทรคมนาคม แม้ในความเป็นจริงแล้ว หากย้อนกลับไปดูอำนาจ หน้าที่ของกสทช.ต้องยอมรับว่า การควบรวมกิจการของทรูและดีแทคสามารถทำได้ หากมีการแจ้งต่อกสทช.ก่อน 90 วันเพราะ กสทช.มีหน้าที่ในการกำกับดูแลเรื่องคุณภาพและราคาที่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค หรือ “ประโยชน์สาธารณะ”

หมายความว่า หากการควบรวมกิจการทำให้คุณภาพการให้บริการแย่ลง ราคาสูงขึ้น กสทช.มีอำนาจกำกับและดูแลได้อย่างเต็มที่ตามกฎหมาย ส่วนเรื่องการมีอำนาจเหนือตลาด หรือ ผูกขาดตลาดนั้นเป็นหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์โดยคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.)ที่ท่วงทำนองเป็นแผ่นเสียงตกร่องแต่เพียงว่าหากหน่วยงานที่มีกฎหมายเฉพาะของตนเองก็ไปกำกับดูแลเอาเอง รวมถึงทั้ง 2 บริษัทต่างก็อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งไม่ได้ห้ามการควบรวมกิจการครั้งนี้ หากต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด

ในขณะที่กสทช.ก่อนหน้าที่ 5 กสทช.ป้ายแดงจะเข้ามา ก็ไม่ได้นิ่งเฉย มีการตั้งคณะอนุกรรมการติดตามการควบรวมกิจการ และจัดทำร่างมาตรการกำกับดูแลผล
กระทบที่จะเกิดจากการควบรวม และกำลังอยู่ระหว่างรอผลการศึกษาการควบรวมกิจการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งคาดว่าจะส่งให้ภายในสิ้นเดือนเม.ย.นี้

แหล่งข่าวในวงการโทรคมนาคมให้ความเห็นน่าสนใจว่า การควบรวมกิจการเป็นเหตุผลทางธุรกิจสร้างอนาคตการเดินทางไปสู่ บริษัทเทคโนโลยี เต็มรูปแบบ (Tech Company) ในขณะที่อีกบริษัทต้องการลงจากหลังเสือแบบไม่เจ็บตัว ประเด็นสำคัญวันนี้ที่เป็นข้อถกเถียงกันอยู่ว่าการควบรวมจะทำตามกฎหมายอย่างไร?เพื่อให้เกิดประโยชน์สาธารณะมากที่สุด เมื่อเริ่มเกิดความเห็นที่ขัดแย้งกัน โดย ฝั่งควบรวมยกเหตุผลถึง “ประกาศแก้ไขการรวมกิจการปี 2561” ที่ระบุว่า กสทช.เพียงทำหน้าที่เป็นผู้รับทราบการควบรวมและกำหนดเงื่อนไขหรือออกมาตรการเฉพาะให้ผู้ควบรวมปฎิบัติตามเท่านั้น โดย ไม่มีอำนาจยับยั้งการควบรวมได้

ในขณะที่ฝั่งทีเห็นต่าง เช่น เอไอเอสที่ได้ส่งหนังสือ แสดงความเห็นไปยังกสทช.ซึ่งยกประเด็นข้อกฎหมายซึ่งคาดว่าเป็นแนวทางเดียวกับที่องค์กรผู้บริโภคและนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ยื่นหนังสือถึงกสทช.เพื่อยืนยันว่า กสทช.มีอำนาจในการพิจารณา ว่า จะให้ควบรวม หรือ ไม่ให้ควบรวมโดยอ้างถึง กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ใหญ่กว่าประกาศกสทช.

ส่องไพ่ในมือกสทช.

โดยระบุย้ำชัดว่ากสทช.มีหน้าที่ตามกฎหมายพิจารณาการควบคุมธุรกิจระหว่าง ‘ทรูและดีแทค’ ตามมาตรา 60 แห่งรัฐธรรมนูญพ.ศ.2560 ที่บัญญัติไว้ว่า รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิ์ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน และรัฐต้องจัดให้มีองค์กรรัฐที่อิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อรับผิดชอบ และกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่ให้เป็นไปตามวรรคสอง ในการนี้องค์กรดังกล่าวต้องจัดให้มีการมาตรการป้องกันมิให้มีการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น

นอกจากนี้ มาตรา 274 ยังกำหนดให้ กสทช.มีหน้าที่โดยตรงรับผิดชอบและกำกับการดำเนินการเกี่ยวกับคลื่นความถี่จึงมีหน้าที่กำกับดูแลคลื่นความถี่เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชน ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะ ทั้งต้องจัดให้มีมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการแสวงหาประโยชน์จากผู้บริโภคโดยไม่เป็นธรรม หรือสร้างภาระแก่ผู้บริโภคเกินความจำเป็น รวมทั้งการป้องกันไม่ให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ ตามมาตรา 60 ดังกล่าว

ในหมวด 6 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ว่าด้วยแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 75 วรรคแรก ยังบัญญัติไว้ด้วยว่า รัฐพึงจัดระบบเศรษฐกิจให้ประชาชนมีโอกาสได้รับประโยชน์จากความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง เป็นธรรมและยั่งยืน ซึ่งกิจการโทรคมนาคม เป็นกิจการสาธารณูปโภคที่จำเป็นและเกี่ยวข้องกับประชาชนรองจากสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

ดังนั้นในฐานะองค์กรของรัฐที่เป็นผู้กำกับดูแลคลื่นความถี่ รวมทั้งการให้บริการโทรคมนาคม จึงมีหน้าที่ตามมาตรา 27( 11 ) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ปี 2553 กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน

นอกจากนี้ กสทช.ยังมีอำนาจหน้าที่ตามบทบัญญัติมาตรา 21 ของพ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ 2544 ที่บัญญัติไว้ว่า การประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากต้องอยู่ในบังคับของกฎหมายว่าด้วยการแข่งขันทางการค้าแล้ว ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะประกอบกิจการโทรคมนาคม มิให้ผู้รับอนุญาตกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดอันเป็นการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการการโทรคมนาคม

ด้วยบทบัญญัติกฎหมายข้างต้นทำให้มองกันว่า กสทช.มีหน้าที่นำหลักเกณฑ์ของประกาศป้องกันการผูกขาด พ.ศ 2549 และประกาศควบรวมธุรกิจ 2561 มาใช้ควบคู่กัน เพื่อเป็นการกำหนดมาตรการป้องกันมิให้เกิดการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งในอดีต กสทช. ได้ออกประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคมพ.ศ. 2549 ซึ่งกำหนดห้ามมิให้มีการซื้อของธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันไม่ว่าจะทำโดยทางตรง หรือทางอ้อม เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช.

ต่อมาเมื่อ กสทช. พิจารณารายละเอียดประกาศป้องกันการผูกขาดปี 2549 แล้วเห็นว่า ยังไม่ครอบคลุมการควบรวมกิจการได้ทั้งหมด จึงออกประกาศ กสทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการการควบรวมและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ 2553 โดยในข้อ 8 และข้อ 9 แห่งประกาศควบรวมธุรกิจดังกล่าว กำหนดห้ามมิให้ผู้รับใบอนุญาต หรือผู้มีอำนาจควบคุมของผู้รับใบอนุญาตกระทำการควบรวมกิจการอันส่งผลให้เกิดการครอบงำตลาดที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณาจากค่าดัชนี HHI ที่วัดจากส่วนแบ่งตลาดของผู้รับใบอนุญาตแต่ละรายในตลาดก่อนและหลังการควบรวม

กรณีการควบรวมธุรกิจระหว่าง ทรูและดีแทค จึงไม่อยู่ในลักษณะที่ กสทช.จะอนุญาตให้ควบรวมกิจการได้ หากประกาศควบรวมธุรกิจปี 2553 ยังคงมีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน แต่เนื่องจากประกาศควบรวมธุรกิจปี 2553 ยกเลิกไปในปี 2561 จากการที่ กสทช.ได้ออกประกาศควบรวมปี 2561 กำหนดให้ กสทช.มีหน้าที่ต้องพิจารณาว่าจะอนุมัติให้มีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมได้หรือไม่ตามข้อ 9 ซึ่งกำหนดว่า การรายงานตามข้อ 5 ข้อ6 ข้อ 7 หรือข้อ 8 ให้ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช.ตามข้อ 8 ของประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่องมาตรการป้องกันมิให้มีการกระทำอันผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549

กรณีการรายงานการรวมธุรกิจตามประกาศควบรวมปี 2561 นั้นกำหนดขออนุญาตเท่านั้น ไม่ได้กำหนดว่า การรายงานการรวมธุรกิจถือว่า ได้รับอนุญาตแล้ว

ดังนั้น เมื่อมีการรายงานการควบคุมธุรกิจตามนัยข้อ 5 แห่งประกาศควบรวมปี 2561 แล้ว ถือเป็นการขออนุญาตจาก กสทช.ตามนัยข้อ 8 แห่งประกาศป้องกันการผูกขาดปี 2549 ซึ่งกำหนดว่ากรณีที่ กสทช. เห็นว่าการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกัน อาจส่งผลให้เกิดการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันการให้บริการโทรคมนาคม กสทช.อาจสั่งห้ามการถือครองกิจการได้

เพราะฉะนั้น ในการพิจารณาการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค กสทช.จึงมีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณา ‘อนุญาต’ หรือ ‘ไม่อนุญาต’ โดยนำหลักเกณฑ์ของประกาศป้องกันการผูกขาดปี 2549 มาใช้ควบคู่กันไปด้วย

นอกจากนี้ กสทช.มีหน้าที่ในการนำกฎหมายว่า ด้วยการแข่งขันทางการค้ามาใช้พิจารณา เพราะการควบรวมกิจการระหว่างทรูและดีแทค ตามมาตรา 21 พรบ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมปี 2544 ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะที่กำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมกำหนดไว้ว่า ให้คณะกรรมการกำหนดมาตรการเฉพาะตามลักษณะการประกอบธุรกิจโทรคมนาคม มิให้ผู้รับอนุญาตกระทำการอย่างใดอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการกิจการโทรคมนาคม


ไปต่อแข่งขันหรือกลับมาผูกขาด
ไม่เพียงเท่านี้ น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ ประธานคณะกรรมการธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบกรณีการควบรวมกิจการโทรคมนาคมระหว่างทรูกับดีแทคและการค้าปลีก-ค้าส่ง ยังได้ส่งหนึงสือถึงคณะรัฐมนตรีระบุว่าการควบรวมครั้งนี้ควรชะลอไปก่อนเพื่อรอให้กสทช.ชุดใหม่มีเวลาศึกษาและพิจารณาข้อมูลให้ชัดเจนในประเด็นข้อกฎหมายต่างๆก่อน

“ในเมื่อความไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างสำนักงานกับคณะกรรมการกสทช.น่าจะมีปัญหา เมื่อเกิดความคลุมเครือและไม่ชัดเจนเรื่องข้อกฎหมาย ทางออกหนึ่งซึ่งเคยมีอดีตกสทช.บางคนเสนอให้ส่งเรื่องให้กฤษฎีกา ตีความอาจเป็นทางออกที่ดีที่สุด”

แหล่งข่าวกล่าวว่า กระดุมเม็ดแรกที่สมควรกลัดให้ถูกต้องคือเคลียร์ปัญหาข้อกฎหมายให้ชัดเจนก่อนว่าการควบรวมสามารถทำได้ถูกต้องมีกฎหมายรองรับ ถึงแม้มีเคสการควบรวมที่อิงตามประกาศแก้ไขการรวมกิจการปี 2561 อย่าง ALT Telecom กับ อินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ ในปี 2562, ALT Telecom กับ สมาร์ท อินฟราเนท ในปี 2563, TOT กับ CAT ในปี 2564,ทริปเปิลที อินเทอร์เน็ตกับทริปเปิลที บรอดแบนด์ ในปี 2564 ถึงแม้บางเคสจะเป็นเจ้าของเดียวกันหรือบางเคสอาจจะเป็นรายเล็ก แต่ถ้ายึดตามกฎหมายจะต้องเท่าเทียมกันหมดไม่สามารถเลือกปฎิบัติได้

“เชื่อว่าเกมที่เตรียมไว้ หากกสทช.ไม่ทำเรื่องข้อกฎหมายให้ชัดเจนคือการเตรียมฟ้องศาลปกครอง”

กระดุมเม็ดถัดไปที่ต้องกลัดตามมาคือเหตุผลและความจำเป็นในการควบรวมครั้งนี้คืออะไร ซึ่งความอยู่รอดของธุรกิจน่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่พิสูจน์ได้ด้วยตัวเลขที่ชัดเจนที่สุด หรือ อีกนัยหนึ่ง การปล่อยให้เกิดการแข่งขันในตลาดที่เป็นธรรมนั่นเอง
ที่ผ่านมา ธุรกิจของโอเปอร์เรเตอร์แต่ละรายล้วนมีต้นทุนที่สูง โดยมีบางรายที่ได้เปรียบในเรื่องการแข่งขัน มิหนำซ้ำ ทุกวันนี้โอเปอเรเตอร์ ลงทุนเครือข่ายรวมกันจะสักอีกกี่แสนล้านบาทก็ตาม แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่กลับตกใส่ผู้ให้บริการ OTT (Over The Top) อย่างเฟซบุ๊ก กูเกิล ทวิตเตอร์ แกร็บ ลาซาด้า และที่เหลืออีกมาก ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มของต่างชาติทั้งสิ้น เพราะตอนนี้คนเริ่มตอบรับชีวิตดิจิทัลเร็วกว่าที่คาดไว้มากโลกกำลังเปลี่ยนแปลงไปสู่การล่าอาณานิคมยุคใหม่ ที่ไม่ใช่การใช้กำลังไปยึดประเทศ แต่เป็นการล่าอาณานิคมด้วยเทคโนโลยี ผ่านบริการ OTT

OTT หรือบริการสื่อสาร แพร่ภาพ และกระจายเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต ที่ปัจจุบันทำรายได้มหาศาลเมื่อเทียบกับเงินลงทุนจำนวนเพียงน้อยนิด เพราะอาศัยวิ่งบนเครือข่ายมีสายและเครือข่ายไร้สายโทรศัพท์มือถือที่ผู้ให้บริการลงทุนหลายแสนล้านบาท การขับเคลื่อนเศรษฐกิจยุคใหม่ แทบจะทั้งหมดขับเคลื่อนผ่าน OTT ไม่ว่าจะซื้อของออนไลน์ก็ผ่านลาซาด้า ช้อปปี้ ถ้าจะหาความบันเทิงสนุกสนานดูหนังก็เน็ตฟลิกซ์ เฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูป ถ้าเป็นเรื่องอาหารก็สั่งแกร็บ ไลน์แมน ทั้งหมดเป็นแพลตฟอร์ม OTT ที่เกิดขึ้นจากต่างประเทศ ถ้าคนไปใช้บริการก็ต้องจ่ายเงินผ่านไปยังต่างประเทศเกือบทั้งหมด

*แค่ได้ใช้ของถูกและดี มีกี่รายไม่สำคัญ
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มีความเห็นที่น่าสนใจกับการควบรวมครั้งนี้ว่ากลับเป็นผลดีด้วยซ้ำที่ 2 เจ้า (เอไอเอสกับบริษัทจากการควบรวมทรูดีแทค) จะแข่งขันกันอย่างดุเดือดทั้งด้านบริการ คุณภาพสัญญาณ และ ราคา เพื่อแย่งชิงกลุ่มลูกค้าและเป็นที่หนึ่งในตลาด คนที่ได้ประโยชน์ก็คือผู้บริโภคเต็มๆ

“ยอมรับว่าหากในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมจะเหลือโอเปอเรเตอร์แค่ 2 ราย ซึ่งเสี่ยงที่จะมีการฮั้วกันเกิดขึ้นแต่มองว่าถึงมี 3 รายโครงสร้างการแข่งขันก็ไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ด้วยที่ผ่านมาพบว่า ดีแทคเริ่มอ่อนแรง ไม่มีการลงทุนด้านโครงข่ายเพิ่มเติม ในระยะยาวอาจไปต่อไม่ไหว ขณะที่ ทรูก็ประสบกับภาวะขาดทุน ดังนั้น ส่วนตัวจึงมองว่า การควบกิจการของทั้ง 2 ราย ส่งผลดี ทำให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ และเข้มแข็งขึ้น”

ดังนั้น เมื่อเกิดการควบรวมกิจการแล้ว การแข่งขันอาจจะดีขึ้นกว่าเดิม แต่ก็จะรุนแรงขึ้น เพราะส่วนแบ่งทางการตลาดมีความใกล้เคียงกัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การแข่งขัน ก็เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริโภคซึ่งไม่ได้แย่ลง เนื่องด้วยอุตสาหกรรมโทรคมนาคมต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลทำให้โอเปอเรเตอร์หลายรายไปต่อไม่ไหวรายใหม่ก็เข้ามาไม่ได้
นี่คือ สมการใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่เปลี่ยนแปลงไปเพื่อเข้าสู่บริบทใหม่ 6 G ที่กสทช.ต้องทันเกม การควบรวมเท่ากับการแข่งขัน หากไม่ควบรวมก็เท่ากับการผูกขาด

แหล่งข่าวกล่าวว่าผลจากการควบรวมกิจการของทรูและดีแทค นั้น ลูกค้าไม่ต้องกังวลว่าหลังการควบรวมแล้วราคาค่าบริการจะสูงขึ้น เพราะแพ็กเกจที่ใช้อยู่สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง การให้บริการอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกสทช.อย่างเข้มงวดอยู่แล้ว และที่ผ่านมากสทช.ก็ทำได้ดี ทำให้ไม่มีผู้เล่นรายใด สามารถปรับราคาได้เกินกว่าที่กสทช.กำหนดไว้ และทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราค่าบริการต่ำที่สุดในโลก

ขณะที่ต้นทุนของผู้ให้บริการหลังการควบรวมจะลดลงด้วย ทำให้มีเงินทุนไปพัฒนาบริการใหม่ๆ รองรับเทคโนโลยีใหม่ที่กำลังจะเข้ามาเช่น ดาวเทียม, Metaverse, Quantumรวมถึงรถยนต์ EV และ Smart City ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อเราต้านกระแสการเข้ามาของ OTT ไม่ได้ เราก็ต้องมีศักยภาพมากพอในการขยายความสามารถในการรองรับการใช้งานดาต้าให้ผู้บริโภคใช้งานได้อย่างไม่สะดุดไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก,ไลน์,เน็ตฟลิกซ์ ที่เข้ามาใช้เครือข่ายของโอเปอเรเตอร์ในไทย การควบรวมจะทำให้เกิดความแข็งแกร่งในการพัฒนาคุณภาพเครือข่าย รองรับการเติบโตของผู้ใช้ข้อมูลที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามเคยมีคนเสนอแนวคิดเกี่ยวกับ OTT ในประเทศไทยไว้ 3 เรื่องก็คือ 1.ต้องรีบกำกับดูแลบริการ OTT อย่างเร่งด่วน เพราะถ้าไม่รีบกำกับ OTT เศรษฐกิจจะฟื้นตัวยาก เงินจะไหลออกต่างประเทศหมด ตามพฤติกรรมประชาชนที่ตอบรับวิถีดิจิทัลที่รวดเร็วจนคาดไม่ถึง 2.ประเทศไทยจะต้องมีแพลตฟอร์ม OTT เป็นของตนเอง เหมือนประเทศเพื่อนบ้านที่มี OTT อย่างประเทศสิงคโปร์ก็มีแกร็บ มาเลเซียก็มีไอฟลิกซ์ อินโดนีเซียก็มี Go-Jek ซึ่งนอกจากทำรายได้ให้ประเทศตนเองแล้วยังทำให้เงินไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ และ 3.ถ้ายังไม่มี OTT เป็นของเราเอง รัฐบาลก็ควรสนับสนุนและยกระดับการซื้อขายสินค้าตรงระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายโดยไม่ต้องผ่าน OTT ให้ขยายไปทั่วประเทศ เพราะจะทำให้เงินไม่รั่วไหลออกนอกประเทศ

แหล่งข่าวกล่าวว่า กระดุมเม็ดสุดท้ายที่ควรกลัดให้สวยงามหากผ่านพ้นขั้นตอนการควบรวมสำเร็จแล้วคือการย้ำกับผู้บริโภคว่าไม่มีการขึ้นราคาค่าบริการเด็ดขาด ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกลไกตลาด ไม่มีการครอบงำหรือมีอำนาจเหนือตลาดใดๆทั้งสิ้น ลูกค้าจะต้องได้รับบริการด้วยคุณภาพของเครือข่ายที่ดียิ่งขึ้น

ทรูกับดีแทควันนี้อุปมาเหมือนคู่หญิงชายที่ ศึกษาดูใจ ตัดสินใจจะสร้างครอบครัวให้เป็นปึกแผ่น ด้วยการแต่งงาน แน่นอน กสทช.ที่เหมือนผู้ใหญ่ของทั้งสองฝั่งย่อมต้องตรวจสอบไตร่ตรองก่อน จะพิจารณาตัดสินใจอย่างไรให้ไปถึงจุดนั้น เช่นกัน การควบรวมระหว่างทรูและดีแทค หมุดหมายย่อมมองถึงอนาคตของตลาดโทรคมนาคมไทยในยุคใหม่ หรือจะมองไปอีกขั้นถึงยุค 6 G ที่เป็นไฟล์ทบังคับให้ธุรกิจต้องปรับตัวรับการแข่งขัน งานนี้จะไปต่อด้วยการแข่งขัน แบบแฟร์ๆหรือยังผูกขาดเหมือนเช่นทุกวันนี้ก็อยู่ที่ กสทช.จะตัดสินใจชี้อนาคต
…..
โปรดติดตาม ตอนที่ 2 “กรณี NT ควบรวมแล้วแข็งแกร่ง บทพิสูจน์รวมกันเราอยู่” ได้ในวันจันทร์หน้า


กำลังโหลดความคิดเห็น