แนวโน้มการใช้พลังงานโลกที่เปลี่ยนไปจากพลังงานฟอสซิลมุ่งสู่พลังงานสะอาด ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ตลอดเวลาทำให้ต้นทุนพลังงานสะอาดนับวันยิ่งถูกลง ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมเร่งปรับตัวเพื่อรองรับกับเทรนด์ดังกล่าวโดยเฉพาะธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม(E&P) โรงกลั่นน้ำมัน และสถานีบริการน้ำมัน ฯลฯ ต่างหันไปลงทุนธุรกิจใหม่และพลังงานอนาคตเพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
"ไทยออยล์" เป็นผู้ประกอบการธุรกิจการกลั่นและจำหน่ายน้ำมันปิโตรเลียมรายใหญ่สุดในไทยด้วยกำลังกลั่น 275,000 บาร์เรลต่อวัน ที่เริ่มต้นจากโรงกลั่นขนาด 35,000 บาร์เรลต่อวัน ขยายการลงทุนเพิ่มจนมีกำลังการกลั่นใหญ่สุดในไทย และต่อยอดธุรกิจโรงกลั่นไปสู่ปิโตรเคมีสายอะโรเมติกส์ น้ำมันหล่อลื่นและธุรกิจอื่นๆ แม้ว่าจะดำเนินธุรกิจมานานถึง 60 ปี แต่ไทยออยล์ยังคงรักษาความเป็นโรงกลั่นน้ำมันชั้นนำที่มีประสิทธิภาพสูงสุดระดับ Top quartile ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเตรียมพร้อมสู่การเป็นองค์กร 100 ปี ไทยออยล์มีการเปลี่ยนแปลง (Transformation) ให้สอดรับเทรนด์การใช้พลังงานโลกเปลี่ยนไปภายใต้วิสัยทัศน์ ‘Empowering Human Life through Sustainable Energy and Chemicals’ การสร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน
โดยต่อยอดธุรกิจการกลั่นไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงผ่านกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน (3V) ประกอบด้วย 1. Value Maximization : Integrated Crude to Chemicals การบูรณาการต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าจากธุรกิจโรงกลั่นสู่ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อเพิ่มมูลค่าสูงสุด
2. Value Enhancement : Integrated Value Chain Management การบูรณาการขยายผลิตภัณฑ์ตามที่ตลาดต้องการโดยเจาะลึกในตลาดภูมิภาคที่มีความต้องการสูง รวมถึงการแสวงหาโอกาสในการลงทุนที่เหมาะสม
3. Value Diversification การกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่ความผันผวนต่ำและลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็น New S-Curve สอดคล้องกับเป้าหมายในปี 2573 บริษัทจะมีสัดส่วนกำไรจากธุรกิจปิโตรเลียมลดลงจาก 70-80% ลงเหลือ 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40% ธุรกิจไฟฟ้า 10% และธุรกิจใหม่อีก 10% เพื่อให้เกิดความสมดุล ลดผลกระทบจากความผันผวนด้านราคาปิโตรเลียม
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด(มหาชน) (TOP) กล่าวว่า เส้นทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ของไทยออยล์ ขณะนี้ได้เข้าสู่ช่วงระยะที่ 2 (ปี 2564-68) ที่อาศัยจุดแข็งธุรกิจหลักต่อยอดสร้างการเติบโต (Building on Our Strong Foundation) ผ่านกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจระยะยาว 3 ด้าน (3V) โดยบริษัทได้มีการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project: CFP) มูลค่าการลงทุน 158,400 ล้านบาท และการเข้าถือหุ้น 15% ใน PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk หรือ CAP ซึ่งเป็นบริษัทปิโตรเคมีรายใหญ่สุดในประเทศอินโดนีเซีย นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญทำให้ไทยออยล์ก้าวสู่ธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์เป็นครั้งแรก และยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ CAP เดินหน้าแผนขยายกำลังการผลิตเพิ่มเท่าตัวหรือโครงการปิโตรเคมีแห่งที่ 2 (CAP2) จากปัจจุบันมีกำลังผลิตรวม 4 ล้านตันต่อปีเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านตันต่อปี คาดว่าทาง CAP จะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) โครงการ CAP2 ในปลายปี 2565
หาก CAP อนุมัติการลงทุนโครงการปิโตรเคมีแห่งที่ 2 ทางไทยออยล์จะใส่เงินเพิ่มอีก 270 ล้านเหรียญสหรัฐหรือราว 8,928 ล้านบาทในราวต้นปี 2566 เพื่อซื้อหุ้นเพิ่มเติมในสัดส่วน 0.38% ของหุ้นทั้งหมดของ CAP ทำให้ไทยออยล์ถือหุ้นใน CAP เพิ่มเป็น 15.38% การตัดสินใจลงทุนใน CAP นั้นเนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีสุทธิ แม้ว่าจะมีโครงการ CAP2 ก็ยังต้องนำเข้าปิโตรเคมีจากต่างประเทศอยู่ดี
ส่วนระยะ 3 (ปี 2569-73) Post CFP: New Round of Growth เป็นปีที่ไทยออยล์เก็บเกี่ยวกำไรจากการลงทุนไม่ว่าจะเป็นโครงการ CFP และโครงการ CAP ที่อินโดนีเซีย รวมถึงผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง (HVP) ซึ่งช่วงเวลานั้นมีการประเมินว่าธุรกิจการกลั่นยังมีมาร์จิ้นที่ดี ทำให้บริษัทได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากกำลังการกลั่นที่เพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวันในโครงการ CFP และการลงทุนใน CAP ซึ่งบริษัทวางเป้าหมายในปี 2573 จะมีกำไรสุทธิ 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ มาจากธุรกิจปิโตรเลียม 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40% ธุรกิจไฟฟ้า 10% และธุรกิจใหม่ 10%
ความคืบหน้าโครงการ CFP อยู่ระหว่างการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 80% คาดว่าจะแล้วเสร็จใน 2 ปีนี้ ทำให้ไทยออยล์จะมีกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นเป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน จากปัจจุบันกลั่นน้ำมันอยู่ที่ 275,000 บาร์เรลต่อวัน และมีแนฟทาราว 2.2 ล้านตันต่อปี มาใช้เป็นวัตถุดิบ (feedstock) ในปิโตรเคมี แบ่งเป็นแนฟทาเบา (Light Naptha) 7 แสนตัน และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ประมาณ 6 แสนตัน ใช้เป็นวัตถุดิบในสายโอเลฟินส์ ป้อนให้กับโครงการปิโตรเคมีของ CAP ที่อินโดนีเซีย ส่วนแนฟทาหนัก (Heavy naphtha) ประมาณ 9 แสนตัน ใช้เป็นวัตถุดิบในสายอะโรเมติกส์ ปัจจุบันไทยออยล์มีบริษัทลูกคือ บริษัท ไทยพาราไซลีน จำกัด (TPX) ที่พร้อมขยายกำลังผลิตหากตลาดพาราไซลีนเอื้ออำนวย รวมถึงต่อยอดไปสู่ผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงด้วย ช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวให้กับไทยออยล์ และพร้อมรับการเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานดั้งเดิมสู่พลังงานใหม่ (Energy Transition)
จากกำลังการกลั่นที่เพิ่มขึ้นเป็นวันละ 400,000 บาร์เรลในอีก 2 ปีนี้ ทำให้ไทยออยล์เป็นโรงกลั่นมีกำลังการกลั่นน้ำมันเกือบใหญ่สุดในภูมิภาคนี้รองจากอินเดีย และจะเป็นผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปรายใหญ่ในภูมิภาคนี้ ที่มีต้นทุนการผลิตแข่งขันได้จากค่าการกลั่นรวมเฉลี่ย (GIM) ที่เพิ่มขึ้น 4-5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
นอกจากนี้ ไทยออยล์ยังแสวงหาโอกาสในการลงทุนธุรกิจที่เป็นธุรกิจใหม่ที่เป็น New S-Curve โดยเข้าลงทุนในสตาร์ทอัพผ่าน Corporate Venture Capital (CVC) หรือการลงทุนผ่านการร่วมลงทุน (JV) และ ควบรวมกิจการ (M&A) โดยจะมุ่งเน้นใน 4 ธุรกิจ คือ ธุรกิจชีวภาพ (Bio) ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ (Bio Fuel) พลาสติกชีวภาพ (Bio Plastic) และเคมีชีวภาพ (Bio chemical) ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีฐานธุรกิจเอทานอลแล้ว และเป็นผู้ผลิตน้ำมันอากาศยาน (Jet) รายใหญ่ในไทย ไทยออยล์มีแผนจะต่อยอดธุรกิจไปสู่การผลิตน้ำมันอากาศยานชีวภาพ (Biojet) ซึ่งได้มีการลงทุนในสตาร์ทอัพที่ทำธุรกิจพลาสติกชีวภาพผ่านกองทุน CVC
ไทยออยล์สนใจลงทุนในธุรกิจพลังงานอนาคต (New Energy) อาทิ ไฮโดรเจน ซึ่งเป็นพลังงานอนาคตที่จะเข้ามามีบทบาททดแทนพลังงานรูปแบบเดิม โดยลงทุนในสตาร์ทอัพที่สหรัฐฯ รวมทั้งสนใจในธุรกิจสุขภาพ โดยได้ร่วมทุนกับสตาร์ทอัพไทยในการพัฒนานวัตกรรมแผ่นแปะเข็มระดับไมโครชนิดละลายได้ และธุรกิจดิจิทัล เทคโนโลยี เช่น IoT เป็นต้น ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้าก็ยังเป็นธุรกิจหลักที่ทำกำไรอย่างสม่ำเสมอให้บริษัท แม้ว่าสัดส่วนการถือหุ้นใน GPSC จะลดลงเหลือเพียง 10%
จากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของไทยออยล์ในช่วงไม่กี่ปีนี้รวมถึงในอนาคต ความแข็งแกร่งทางการเงินและอันดับความน่าเชื่อถือทางด้านเครดิตมีความสำคัญมาก ดังนั้นไทยออยล์ประกาศปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาว โดยที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2565 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2565 ได้อนุมัติแผนการเพิ่มทุนจดทะเบียน โดยการออกหุ้นสามัญเพิ่มทุนจำนวนรวมไม่เกิน 275,120,000 หุ้น มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ (Par) หุ้นละ 10 บาท ประกอบด้วย การจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป (Public Offering: PO) จำนวนไม่เกิน 239,235,000 หุ้น รวมถึงการเสนอขายหุ้นให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมของไทยออยล์ตามสัดส่วนการถือหุ้น ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 80% ของหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งหมดที่ออกและเสนอขายในครั้งนี้ โดยจะไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้หรืออาจเป็นผลให้ไทยออยล์มีภาระหรือหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ และ พิจารณาจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนเพื่อรองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (Over-Allotment Agent) จำนวนไม่เกิน 35,885,000 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนไม่เกิน 15% ของจำนวนหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งหมดที่เสนอขาย บริษัทจะดำเนินการเพิ่มทุนแล้วเสร็จในไตรมาส 3/2565
นอกจากนี้ ที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้อนุมัติการจำหน่ายหุ้นสามัญของบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) (GPSC) จำนวน 10.78% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ GPSC หรือ 304,098,630 หุ้น ให้แก่ ปตท. และ/หรือ บริษัท สยาม แมเนจเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ ปตท.ถือหุ้นทางอ้อมในสัดส่วน 100% คิดเป็นวงเงิน 22,351 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการขายหุ้น GPSC แล้วเสร็จในไตรมาส 2/2565 โดยไทยออยล์บันทึกกำไรจากการขายหุ้น GPSC ราว 11,000 ล้านบาท
นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาวครั้งนี้ เพื่อนำเงินมาชำระคืนเงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridging Loan) ให้แก่ ปตท.และสถาบันการเงิน จากการเข้าลงทุนใน PT. Chandra Asri Petrochemical Tbk หรือ CAP ราว 3 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุน (Net Debt-to-Equity Ratio: D/E) ลดลงอยู่ที่ระดับน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 เท่า จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.4 เท่า และรักษาอันดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิตอยู่ในเกณฑ์ระดับลงทุน (Investment Grade) เพื่อให้บริษัทมีศักยภาพจัดหาเงินทุนรองรับการต่อยอดธุรกิจสร้างการเติบโตในอนาคต
ส่วนแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 1/2565 น่าจะดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว และสงครามรัสเซียกับยูเครน ทำให้ภาพรวมธุรกิจโรงกลั่นมีค่าการกลั่นสูงขึ้น แต่ส่งผลต่อต้นทุนปิโตรเคมีทำให้ feedstock จะปรับตัวสูงขึ้นบ้าง แต่หากมองภาพรวมแล้วดีขึ้นจากปีก่อน
ด้านราคาน้ำมันดิบในปีนี้ หากสถานการณ์สงครามรัสเซียกับยูเครนยืดเยื้อ คาดการณ์ว่าราคามีโอกาสปรับขึ้นไปที่ระดับ 110-115 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแต่หากสงครามจบเร็ว ราคาน้ำมันดิบอาจจะปรับลดลงอยู่ในระดับไม่เกิน 95-100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
นายวิรัตน์กล่าวว่า การตัดสินใจเข้าร่วมถือหุ้นใน CAP ที่อินโดนีเซีย ทำให้บริษัทมีโอกาสแสวงหาความร่วมมือกับบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากการร่วมลงทุนใน CAP ที่ SCC ถือหุ้นอยู่ 30.57% ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับ SCC เพื่อหาโอกาสความร่วมมือทางธุรกิจในประเทศเวียดนาม รวมไปถึงการเข้าลงทุนในโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ Long Son Petrochemicals (LSP) ที่ประเทศเวียดนาม แม้ว่าจะยังไม่ได้ข้อสรุปความร่วมมือจะเป็นในรูปแบบใด
โครงการปิโตรเคมี LSP ที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างคืบหน้าไปแล้ว 90% คาดว่าจะผลิตเชิงพาณิชย์บางส่วนในปี 2565 และดำเนินการผลิตเต็มรูปแบบในต้นปี 2566 ล่าสุด SCC มีแผนพัฒนาโครงการใหม่ ประกอบด้วย การขยายโครงการ LSP ระยะที่ 2 หรือ LSP2 ที่จังหวัดบ่าเหรี่ยะ-หวุงเต่า ทางตอนใต้ของเวียดนาม และโครงการขยายกำลังการผลิต (debottlenecking) ที่ LSP เพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศเวียดนาม รองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน
การปรับตัวครั้งใหญ่ของไทยออยล์ครั้งนี้ช่วยให้ไทยออยล์มีความสมบูรณ์ครอบคลุมธุรกิจปิโตรเลียมและปิโตรเคมีอย่างครบวงจร และเป็นจุดเริ่มในการปักหมุดลงทุนโครงการขนาดใหญ่ในต่างประเทศอย่างจริงจัง และพร้อมที่จะขยายการลงทุนเพิ่มมากขึ้นในประเทศอื่นที่มีศักยภาพในภูมิภาคนี้ เพื่อต่อยอดห่วงโซ่คุณค่าผลิตภัณฑ์ของกลุ่มไทยออยล์และก้าวสู่องค์กร 100 ปี