xs
xsm
sm
md
lg

รฟท.จับมือ ปตท.ทดสอบการขนส่งถัง LNG ทางรถไฟจากนิคมฯ มาบตาพุด หวังชิฟโหมดสินค้าอันตราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



คมนาคม-กรมรางประเมินผลการทดสอบขนส่งถัง LNG ทางรถไฟจากมาบตาพุด-ชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ จ.สุราษฎร์ธานี หลัง รฟท.จับมือ ปตท.หวังเพิ่มสัดส่วนขนส่งทางรางสินค้าอันตราย ช่วยลดต้นทุน พร้อมเห็นชอบหลักการร่างมาตรฐานการขนส่งสินค้าอันตรายทางรถไฟ ให้กรมรางประกาศใช้ต่อไป

นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานจัดทำมาตรฐานการขนส่งสินค้าอันตรายทางรถไฟ ครั้งที่ 4-1/2565 วันที่ 29 มีนาคม 2565 ว่า ที่ประชุมฯ รับทราบผลการทดสอบการขนส่ง LNG ทางรถไฟ ครั้งที่ 2 ซึ่งการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ร่วมกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ JR-Freight ทำการทดสอบการขนส่งถัง LNG แบบยกและเคลื่อนที่ได้ (ISO Container Tank) โดยทางรถไฟจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ไปยังสถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 17-18 มกราคม 2565 ซึ่งเป็นการทดสอบการขนส่ง LNG เป็นครั้งแรกทางรางในประเทศไทย เพื่อสนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนการขนส่งสินค้าทางรางของประเทศ โดยเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางราง (ขร.) เข้าร่วมการทดสอบ

สำหรับการทดสอบการขนส่ง LNG ครั้งนี้มีจำนวน 1 ตู้ จากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง ถึงสถานีชุมทางบ้านทุ่งโพธิ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี ระยะทาง 842 กม. ซึ่งในการทดสอบพบว่าใช้ระยะเวลาประมาณ 22 ชั่วโมง 30 นาที ซึ่งรวมเวลาในการขนส่งทั้งหมด มีการขนส่งด้วยรถบรรทุกจากต้นทางมายังรถไฟ และเวลาโหลดตู้ ขึ้นลง และรวมเวลาในการรอสับหลีก ซึ่งหลังจากนี้ต้องมีการวิเคราะห์การบริการอีกครั้ง ทั้งด้านความปลอดภัยรวมถึงระยะเวลาเมื่อรถไฟทางคู่แล้วเสร็จ

โดยเบื้องต้นมีข้อเสนอแนะที่สามารถปรับปรุงเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการขนส่งสินค้าอันตรายทางรถไฟยิ่งขึ้น ได้แก่

1. ผู้ที่จะขนส่งสินค้าอันตรายทางรถไฟ ต้องติดป้าย UN Number รวมทั้งป้ายเตือนวัตถุอันตรายตามมาตรฐานสากล บริเวณข้างบรรจุภัณฑ์ให้มีขนาดที่เหมาะสม เพื่อให้สังเกตได้ง่าย 2. จัดให้มีการอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่การรถไฟฯ ที่เกี่ยวข้องตลอดแนวเส้นทางการขนส่งสินค้าอันตรายทางรถไฟ

3. ศึกษามาตรฐานการกองเก็บสินค้าอันตรายที่ลานกองเก็บสินค้า (Container Yard หรือ CY) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อให้สามารถกองเก็บสินค้าอันตรายได้อย่างปลอดภัย 4. จัดให้มีการทำชุมชนสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนเรื่องการขนส่งสินค้าอันตรายทางรถไฟในพื้นที่ทั้งต้นทางและปลายทาง และ 5. การจัดหาซีลล็อกอุปกรณ์และที่จ่ายก๊าซของตัวถังและตีตราให้เรียบร้อยก่อนขนส่ง

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีมติเห็นชอบในหลักการของร่างมาตรฐานการขนส่งสินค้าอันตรายทางรถไฟ ซึ่งคณะทำงานฯ ได้ร่วมกันพิจารณา โดยๆได้ดำเนินการอ้างอิงมาจาก “The Regulation concerning the International Carriage of Dangerous Goods by Rail (RID) 2021” ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่ใช้ในการขนส่งสินค้าอันตรายทางรถไฟทั่วโลก

และมอบหมายให้กรมการขนส่งทางราง รวบรวมข้อเสนอแนะของคณะทำงานก่อนออกประกาศกรมการขนส่งทางราง เป็นข้อกำหนดที่พึงปฏิบัติของการขนส่งสินค้าอันตรายทางรถไฟต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น