xs
xsm
sm
md
lg

ปิดจ็อบขยาย 4 เลน! ถนน "ทล.202" ตอน ยโสธร-บ.น้ำปลีก กว่า 32 กม. งบ 1,320 ล้าน วิ่งสะดวก "อีสานล่าง-ตะวันออก"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมทางหลวงขยาย 4 ช่องจราจร ทล.202 ตอน ยโสธร-บ.น้ำปลีก จ.ยโสธร ระยะทาง 32.79 กม.เสร็จแล้ว ช่วยระบายการจราจรจากภาคอีสานตอนล่างไปสู่ภาคตะวันออก หนุนยุทธศาสตร์ด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์

รายงานข่าวจากกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักก่อสร้างทางที่ 2 ทล.ได้ดำเนินการโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 202 สาย ยโสธร-อำนาจเจริญ ตอน ยโสธร-บ.น้ำปลีก ในพื้นที่จังหวัดยโสธร ระหว่าง กม.267+630 - กม.300+423 ระยะทางยาวประมาณ 32.79 กิโลเมตร เสร็จแล้ว โดยเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ 4 ช่อง ใช้งบประมาณ 1,320 ล้านบาท

สำหรับโครงการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 202 สาย ยโสธร-อำนาจเจริญ ตอน ยโสธร-บ.น้ำปลีก เป็นโครงการก่อสร้างโครงข่ายทางหลวงแผ่นดินเชื่อมต่อระหว่างจังหวัดยโสธรกับจังหวัดอำนาจเจริญ ซึ่งเป็นแหล่งชุมชน มีปริมาณรถยนต์และรถบรรทุกสินค้าเดินทางเป็นจำนวนมาก ทำให้การจราจรหนาแน่น จำเป็นต้องได้รับการพัฒนาโครงข่ายเพิ่มประสิทธิภาพทางหลวงให้เกิดความคล่องตัวในการเดินทาง เพื่อให้ผู้สัญจรและรถบรรทุกสินค้าสามารถเดินทางเชื่อมโยงระหว่างจังหวัดยโสธรกับจังหวัดอำนาจเจริญ เป็นไปด้วยความรวดเร็วและปลอดภัย รวมถึงการเดินทางเชื่อมต่อไปยังจังหวัดอื่นๆ ในกลุ่มภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ รองรับการเป็น “ศูนย์กลางเศรษฐกิจของอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง” ซึ่งเป็นการสนับสนุนยุทธศาสตร์ด้านคมนาคมและระบบโลจิสติกส์

โดยเป็นการก่อสร้างเพื่อขยายสายทางดังกล่าวจาก 2 ช่องจราจรเป็น 4 ช่องจราจร โดยจุดเริ่มต้นโครงการอยู่ในพื้นที่ ต.ตาดทอง อ.เมือง จ.ยโสธร สิ้นสุดที่ บ.น้ำปลีก ต.น้ำปลีก อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 ระหว่าง กม.267+630 - กม.283+980 ระยะทาง 16.35 กิโลเมตร และตอนที่ 2 ระหว่าง กม.283+980 - กม.300+423 ระยะทางรวม 16.43 กิโลเมตร ลักษณะเป็นมาตรฐานทางชั้นพิเศษ ผิวทางแอสฟัลต์คอนกรีต ผิวจราจรกว้างช่องละ 3.5 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2.5 เมตร แบ่งทิศทางการจราจรด้วยเกาะกลาง มีงานก่อสร้างสะพานข้ามคลอง และก่อสร้างศาลาทางหลวงในบริเวณสองข้างทางเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน พร้อมติดตั้งไฟฟ้าแสงสว่าง

เมื่อโครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จจะช่วยยกระดับความปลอดภัยและแก้ไขปัญหาจราจร โดยการระบายปริมาณการจราจรจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างสู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และไปสู่ภาคตะวันออก เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ ทำให้การขนส่งสินค้าและผลผลิตด้านการเกษตรต่างๆ สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ส่งเสริมการส่งออก ส่งเสริมอุตสาหกรรมและการเดินทางระหว่างประเทศในกลุ่มอาเซียนและการท่องเที่ยวในภูมิภาคอีกด้วย








กำลังโหลดความคิดเห็น