xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : วิเคราะห์ดีล EA-สมาร์ทบัส จุดเปลี่ยนรถเมล์กรุงเทพฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ถือเป็นดีลประวัติศาสตร์ของวงการรถเมล์ไทยก็ว่าได้ เมื่อบริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA นำบริษัทย่อย คือ อีทรานสปอร์ต โฮลดิง เข้าซื้อหุ้นสามัญของบริษัท สมาร์ทบัส จำกัด จากผู้ถือหุ้นเดิม 99.99% ด้วยมูลค่าเกือบ 100 ล้านบาท กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของผู้ให้บริการรถโดยสารประจำทางปรับอากาศ ที่มี 20 เส้นทางครอบคลุมทั่วกรุงเทพฯ

ว่ากันว่า เป้าหมายของการซื้อกิจการสมาร์ทบัสของ EA ก็คือการเปลี่ยนรถบัส จากเดิมที่ใช้รถโดยสารปรับอากาศเอ็นจีวี (NGV) มาเป็นรถบัสไฟฟ้า หลังจากเปิดตัวเรือโดยสารพลังงานไฟฟ้า Mine Smart Ferry ลำแรกในประเทศไทยไปแล้ว ที่ผ่านมา EA ได้พัฒนารถเมล์ไฟฟ้ามาตลอด โดยเฉพาะการพัฒนาและทดสอบแบตเตอรี่ให้รองรับกับระยะทางที่ไกลขึ้น


สมาร์ทบัส เริ่มต้นให้บริการเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2562 นำรถโดยสารปรับอากาศยี่ห้อซันลอง (Sunlong) ที่ซื้อจากบริษัท เบสท์ริน กรุ๊ป จำกัด มาให้บริการ 2 เส้นทางแรก คือสาย 104 ปากเกร็ด-หมอชิตใหม่ และสาย 150 ปากเกร็ด-บางกะปิ แทนผู้ประกอบการรายเดิม ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาเปิดให้บริการแล้ว 27 เส้นทาง พร้อมกับรับชำระค่าโดยสารผ่านบัตรแรบบิท (Rabbit Card)

การเกิดขึ้นของสมาร์ทบัส ถือได้ว่าเป็นการชุบชีวิตธุรกิจรถเมล์กรุงเทพฯ เพราะนอกจากองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนทุกปีรวมกว่า 1 แสนล้านบาทแล้ว ผู้ประกอบการรถร่วมบริการ ก็บอบช้ำไม่ต่างกัน สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้รถร่วมฯ ขสมก. มากกว่า 60 บริษัท กว่า 4,500 คัน (รวมทุกประเภท) เริ่มทยอยหายไปจากท้องถนน


นโยบาย 1 เส้นทาง 1 ผู้ประกอบการ ตามแผนปฏิรูปรถเมล์ของกรมการขนส่งทางบก ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการรถเมล์กรุงเทพฯ เพราะเปลี่ยนผู้กำกับดูแลและบริหารสัญญาเดินรถ จากเดิม ขสมก.เป็นกรมขนส่งฯ โดยที่ ขสมก. ลดสถานะเหลือเพียงแค่ผู้ประกอบการเช่นเดียวกับเอกชน ระยะหลังจึงได้เห็นต่างฝ่ายต่างยุติเดินรถในเส้นทางที่มีผู้ประกอบการซ้ำซ้อนกัน


ขณะที่ผู้ประกอบการรถร่วมบริการเอกชน ส่วนหนึ่งถอดใจยุติการเดินรถ หรือบางแห่งเดินรถน้อยลงเพื่อรักษาเส้นทาง แต่ก็มีอีกส่วนหนึ่ง เลือกขายกิจการให้กับสมาร์ทบัส และโอนเส้นทางให้กรมขนส่งฯ ดูแล ที่ผ่านมาสมาร์ทบัสเข้าซื้อกิจการรถร่วมและโอนสิทธิการเดินรถไปแล้ว ก่อนจะนำรถปรับอากาศสีฟ้าวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสาร


บริษัท สมาร์ทบัส จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ 12 ธันวาคม 2561 ปัจจุบันทุนจดทะเบียน 1,000 ล้านบาท ผู้ก่อตั้งมาจากอดีตผู้บริหารกลุ่มขนส่งมวลชนและบริษัทโฆษณา หนึ่งในนั้นเคยเป็นเจ้าของสัมปทานรถร่วม ขสมก. มาก่อน เช่น นายธเนษฐ โลจนะโกสินทร์ เคยเป็นกรรมการบริษัท พรีเมี่ยม แมเนจเมนท์ จำกัด ผู้ประกอบการรถร่วมบริการ ขสมก. (เอ็นจีวีสีเหลือง)

นอกจากสมาร์ทบัสจะเดินรถประจำทาง ภายใต้ใบอนุญาตจากกรมขนส่งฯ แล้ว เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 เน็กซ์ พอยท์ยังอนุมัติเข้าเทคโอเวอร์บริษัท เบลี่ เซอร์วิส ผู้ให้บริการบำรุงรักษาและซ่อมแซมรถเมล์เอ็นจีวีของสมาร์ทบัส จำนวน 500 คัน ระยะเวลาสัญญา 14 ปี และแต่งตั้งคณิสสร์ ศรีวชิระประภา เป็นซีอีโอคนใหม่ เพื่อเดินหน้าสู่ผู้นำรถบัสไฟฟ้า (อีวี) เบอร์หนึ่งของไทย


สำหรับกลุ่มบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ (EA) ที่มี สมโภชน์ อาหุนัย เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ที่ผ่านมามีหลายธุรกิจอยู่ในมือ หนึ่งในนั้นคือธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า เรือไฟฟ้า และรถบัสไฟฟ้า MINE Bus โดยร่วมลงทุนกับพันธมิตร อย่างกลุ่มบริษัทเน็กซ์ พอยท์ ตั้งโรงงานผลิตและประกอบรถยนต์ไฟฟ้า แอ๊บโซลูท แอสเซมบลี ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา


หนึ่งในลูกค้ารถบัสไฟฟ้า คือ บริษัท ไทยสมายล์บัส จำกัด ที่บริษัทหลักทรัพย์บียอนด์ ร่วมทุนกับพันธมิตร จัดซื้อรถบัสไฟฟ้า MINE Bus ทั้งสิ้น 337 คัน ภายใน 3 ปี เพื่อนำมาให้บริการ ที่ผ่านมาไทยสมายล์บัสมีเส้นทางเดินรถในมือ 11 เส้นทาง ส่วนใหญ่เป็นเส้นทางรถร่วมบริการเดิม มีศักยภาพเชื่อมต่อกับระบบขนส่งมวลชนในเมือง เช่น โครงข่ายรถไฟฟ้าเส้นทางต่างๆ


ปัจจุบัน สมาร์ทบัสมีรถประจำทางให้บริการประมาณ 27 เส้นทาง เดิมใช้รถเมล์ NGV มีอายุนับจากช่วงที่นำเข้ามาในประเทศไทยเมื่อปลายปี 2559 เป็นต้นมา ก็ประมาณ 5-6 ปีแล้ว คาดว่าในอนาคตอันใกล้อาจจะต้องเปลี่ยนไปเป็นรถเมล์ไฟฟ้า และเมื่อรวมกับไทยสมายล์บัส เท่ากับว่ากำลังจะมีรถเมล์ไฟฟ้ามากกว่า 40 เส้นทางทั่วกรุงเทพฯ


ถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของวงการรถเมล์กรุงเทพฯ ที่รถเมล์ไฟฟ้าซึ่งใช้พลังงานสะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะเข้ามามีบทบาทท่ามกลางสารพันปัญหาเมืองหลวง โดยเฉพาะฝุ่น PM 2.5 ที่กำลังคืบคลานชีวิตคนกรุงฯ และหากรถเมล์ไฟฟ้าถูกพัฒนาให้แบตเตอรี่สามารถใช้งานได้ในระยะทางที่ไกลขึ้น เราอาจจะได้เห็นรถเมล์ไฟฟ้ามีบทบาทกับเส้นทางรถทัวร์ต่างจังหวัดก็เป็นได้

(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทุกเช้ามืดวันพุธ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)
กำลังโหลดความคิดเห็น