จินตะไอศกรีมโฮมเมด (Jinta Icecream) แบรนด์ไทยน้องใหม่ ผู้จุดประกายให้กับวัตถุดิบท้องถิ่น พืชผัก ผลไม้ รวมไปถึงเมนูอาหารไทยต่างๆ สร้างสรรค์เป็นไอศกรีมรสพรีเมียม เพิ่มมูลค่าจากความแปลกใหม่!
“ผมพยายามทำไอศกรีมให้มันออกมาในลักษณะที่ รสชาติที่คุ้นเคย แต่เป็นแบบแปลกใหม่ คือหมายถึงว่าอย่างขนมครกคือจริงๆ มันเป็นรสชาติที่เราคุ้นเคยอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไม่เคยนำเสนอออกมาในรูปแบบไอศกรีม อันนี้คือเป็นการนำเสนอให้คนสามารถเข้าใจง่าย และยอมรับง่ายครับ”
คุณหนุ่ม-เมธวัจน์ เกียรติกีรติสกุล เจ้าของร้าน จินตะไอศกรีม เล่าว่า ก่อนจะมามีหน้าร้านเป็นของตนเองเดิมทีเคยทำงานประจำ เกี่ยวกับโลจิสติกส์และด้วยความชอบในการทำไอศกรีมด้วย ก็ทำทั้งสองอย่างควบคู่กันมาโดยเริ่มตั้งแต่เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ในช่วงนั้นก็คือจะไปออกร้านตามงานตลาดนัดสีเขียวซึ่งเน้นแนวสินค้า อาหารเพื่อสุขภาพและพืชผักที่ผลิตแบบออร์แกนิกเป็นหลัก จนกระทั่งเริ่มมีความมั่นใจแล้วว่าตนเองมาถูกทางที่ใช่! สำหรับตัวเองแล้วจึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำ เพื่อมาทำไอศกรีมอย่างเต็มตัว และเริ่มมีหน้าร้านเป็นของตนเองครั้งแรกก่อนที่ Covid-19 จะมาเพียงหน่อยเดียวเท่านั้น แล้วจากนั้นก็ปรับตัวในการอยู่ร่วมกันมา จนสามารถเรียกตัวเองว่าเป็น survivor! นำพาร้านไอศกรีมข้ามผ่านวิกฤติได้กระทั่งถึงตอนนี้
“คือจริงๆ แล้วตั้งแต่ผมเริ่มทำไอศกรีมมา คือ 1 คือชื่อ Jinta หรือจินตา เป็นชื่อของลูกสาวเพราะฉะนั้น mindset ที่ตั้งอยู่ในหัวผมเลยคือ ทำยังไงก็ได้ทำให้ไอศกรีมออกมาดีที่สุด ดีที่สุดในแต่ละช่วงความรู้ของผมก็ไม่เหมือนกัน อย่างช่วงแรกๆ ที่ผมทำไอศกรีม การที่ทำไอศกรีมออกมาให้สีชัดๆ รสจัดๆ ใส่กลิ่นแต่งสีเยอะๆ มันคือไอศกรีมที่ดี แต่หลังจากที่ผมเริ่มอยู่ตลาดแนวตลาดสีเขียว เริ่มมีความรู้เรื่องโภชนาการโดยที่เพื่อนๆ ของผมแวดล้อมไปด้วย คนที่อาจจะเป็นคนที่ป่วยจากอาหาร หรือว่าคนที่เปลี่ยนวิถีการกิน ผมก็ได้เรียนรู้ว่า เขาเปลี่ยนเพราะอะไร เพราะฉะนั้นผมรู้สึก อย่างนั้นเราก็น่าจะเอาวิถีนี้มาเปลี่ยนไอศกรีมที่เราทำดู เราก็เลยค่อยๆ เปลี่ยนเริ่มจากการลด ละ เลิก กลิ่นและก็สีสังเคราะห์ เราก็ใช้ของสดมากขึ้น พอตอนหลังก็เริ่มมามองที่ผักและผลไม้ของบ้านเรา ซึ่งผมรู้สึกว่าประเทศบ้านเราเป็นครัวของโลก เพราะฉะนั้นเรามีความหลากหลายทางพืชพรรณธัญญาหารเยอะ ก็น่าจะเอาสิ่งนี้มาทำเป็นไอศกรีมได้ แล้วมันก็ได้ของสดใหม่แถมเรายังได้ช่วยสนับสนุน เกษตรกรบ้านเราด้วย
โดยที่เราไม่ต้องนำเข้าวัตถุดิบเข้ามาครับ” เจ้าของไอศกรีมจินตะกล่าวถึงจุดเน้นของการพัฒนาตัวสินค้า
หวานเป็นลม ขมเป็นไอศกรีม
การเลือกวัตถุดิบที่จะนำมาใช้ทำไอศกรีม คุณหนุ่ม-เมธวัจน์ บอกว่า ขึ้นอยู่กับช่วงฤดูนั้นๆ ว่าจะมีอะไรเยอะ และการได้พบกับเพื่อนๆ พี่ๆ เกษตรกรบ่อยแค่ไหน อย่างช่วงนี้เป็นช่วงโควิดฯ ค่อนข้างเจอกันยาก เพราะฉะนั้นการที่จะติดต่อหรือซื้อขายกันมันค่อนข้างที่จะลำบาก ดังนั้นบางทีก็ต้องดูจังหวะว่าช่วงนี้พี่คนนี้เขามีปลูกอะไร ผลผลิตอะไรออก แล้วเราสามารถนำผลผลิตเหล่านี้มาแปรรูปเป็นไอศกรีมได้รสอะไร อย่างนี้เป็นต้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับผลตอบรับของลูกค้า โดยจะสังเกตดูว่ารสไหนที่ลูกค้าชอบและฟีดแบ็คดี ก็จะเอามาทำซ้ำ อย่างผลไม้บางอย่างมันสามารถหาซื้อได้เกือบทั้งปี อย่าง มะม่วงเปรี้ยว ก็มีทำออกมาเป็น “มะม่วงน้ำปลาหวาน” หรือช่วงต้นปีก็จะเป็นช่วงของผลไม้หน้าร้อนแล้ว ผลไม้ก็จะออกมาเยอะก็สามารถเอามาไล่ทำได้ไปเรื่อยๆ อย่างตอนนี้ต้นปีก็จะเป็น มะยงชิด เดี๋ยวอีกหน่อยจะมี ลำไย ก็อาจจะเอามาทำเป็นแกงใต้สักอย่างหนึ่ง
เคยทำมาเป็นรสแกงใต้ครั้งหนึ่ง ต่อไปก็จะเป็น กระท้อน น้อยหน่า ทุเรียน อะไรแบบนี้ไล่ไป
ทุกอย่างสามารถทำเป็นไอศกรีมได้
สามารถเอาทุกอย่างหรือแม้แต่อาหารทุกเมนู มาทำเป็นไอศกรีมได้ ทั้งนี้มันขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรค์ของเรา ในการนำเสนอออกมา เพียงแต่ว่าเราจะทำออกมาให้มันต้องใกล้เคียงไหม หรือว่ามันไม่จำเป็นเราอยากชูวัตถุดิบตัวไหนไหม อย่างไอติม “รสขนมครก” จริงๆ มันเริ่มมาจากตนเองมองว่า เราจะเอาต้นหอมมาทำแปรรูปเป็นไอศกรีมได้อย่างไร วันหนึ่งไปยืนอยู่หน้าร้านขนมครกแล้วมองว่า อย่างนี้เราน่าจะมาทำเป็นไอติมขนมครกดี ก็เลยลองมาดูโดยที่ วิธีการง่ายๆ ก็คือการเอากะทิมาทำให้มันมีอารมณ์มี ติดไหม้ก้นหม้อนิดหนึ่ง แล้วก็เอามาปั่นกับต้นหอม มันก็จะออกมาเป็นไอศกรีมรสขนมครก
“มันจะมีอารมณ์คำแรก มันจะมีกลิ่นฉุนของต้นหอม มีกลิ่นไหม้นิดหนึ่งเป็นอารมณ์ของขนมครก แล้วก็จะมีตัวของ “มะระชีสเค้ก” คือที่เรียนรู้มาเนี่ย คือต่อมขมเราจะอยู่ในสุด เพราะฉะนั้นการรับรสครั้งแรกมันจะไม่มีรสขม แต่พอทานเข้าไปแล้วสักพักหนึ่ง
คือมันจะมี After taste ขมปลายติดมา ซึงรสนี้มันค่อนข้างจะไปทางผู้ใหญ่เสียมากกว่า แต่ก็มีลูกค้าหลายคนที่เขามาบอกว่า
เออพี่ปกติหนูไม่กินมะระนะ แต่หนูชอบกินมะระของพี่”
กำลังการผลิตแบบโฮมเมด
เจ้าของจินตะไอศกรีม บอกด้วย เนื่องจากการผลิตยังเป็นลักษณะ Home Made อยู่เป็นการทำในครอบครัว ที่ไม่ได้มีคนมากนัก บางทีการวางล่วงหน้าว่าจะมีรสอะไรบ้างมันค่อนข้างยาก เพราะรสที่ทำอยู่ค่อนข้างหลากหลาย เพราะฉะนั้นจะขึ้นอยู่กับว่าช่วงนั้นเจอวัตถุดิบอะไร เจอเกษตรกรคนนี้ที่ปลูกสิ่งนี้ในช่วงนั้นก็จะเอาของเขามาทำ อย่างก่อนหน้านี้ก็มีพี่ที่เค้าปลูกกุหลาบก็จะเอามาทำไอติม “ช็อกโกแล็ตกุหลาบ” อย่างนี้เป็นต้น ก็คือแล้วแต่เลย อย่างช่วงที่ low season ของผลไม้ เราก็ยังมีผักอยู่ เพราะฉะนั้นเราก็สามารถเอาผักมาทำได้ อย่างเคยมาทำเป็นรส “ผักโขม-ฟักทอง” หรือ “คะน้า-สะระแหน่” อย่างนี้จริงๆ 2 รสนี้เด็กๆ ก็ชอบ
คนแพ้นมวัว ก็มี “ไอศกรีมทางเลือก”
สำหรับคนที่แพ้นมหลายคน ทางร้านก็จะมีไอศกรีมทางเลือกอย่างเช่น ไอติม plant based ซึ่งตอนนี้ที่มีอยู่ง่ายๆ เลยคือ based กะทิ ซึ่งไม่มีส่วนผสมของนมวัวเลย ก็จะมี รสเปียกปูน รสขนมตาล รสน้ำตาลมะพร้าว แล้วก็รสขนมครก เป็นต้น หรือว่ารสผลไม้พวกซอร์เบท์ ก็จะไม่มีนมผงไม่มีหางนมใดๆ ผสมเลย ก็จะเป็นผลไม้เพียวๆ เลย แต่คอนเซ็ปต์ที่กำลังจะทำต่อไปก็จะเป็นไอติม “น้ำนมข้าว” ซึ่งตนเองมองว่าบ้านเราเป็นเมืองที่ปลูกข้าว แต่ว่าเรานำเข้าน้ำนมข้าวจากเมืองนอกเยอะมาก เพราะฉะนั้นมองว่าทำไมเราไม่เอาข้าวบ้านเรามาทำ
ราคา และการตอบรับ
คุณหนุ่ม-เมธวัจน์ บอกว่า ราคาจำหน่ายของจินตะไอศกรีมที่เซ็ตไว้ตนเองมองว่าเป็นราคากลางๆ คืออยู่ที่ 85 บาทต่อ 1 scoop หรือถ้าไซส์เดียวกัน 2 scoop อยู่ในถ้วยเดียวกันคิดที่ราคา 145 บาท ก็คิดว่าเป็นราคาที่ทุกคนน่าจะเอื้อมถึงได้ โดยถ้ามาฟังเรื่องราวว่าแต่ละรสชาติมันมาได้อย่างไร มีหลายคนที่บอกว่ามันไม่แพงเลย “ผมว่าลูกค้าที่เขาประทับใจคือ บรรยากาศของร้าน การนำเสนอการพูดคุย แล้วก็เขาจะเห็นความตั้งใจว่าแต่ละรสชาติ เราทำมายังไง เราคัดเลือกวัตถุดิบมายังไง และเราคิดยังไงแต่ละรสชาติหรือแต่ละเมนูของนั้นๆ ครับ”
ในตอนท้ายยังได้พูดถึงการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาสร้างสรรค์สู่เมนูไอศกรีมด้วย “จริงๆ ผมมองว่าบ้านเรามีเกษตรกรรายย่อยหลายคนที่ตั้งใจ ปลูกของดีๆ ผลิตของดีๆ ออกมาแต่ว่า เขาอาจจะไม่เก่งเรื่องการตลาด ไม่เก่งเรื่องการขาย แต่เขาตั้งใจที่จะปรับเปลี่ยนวิถีโดยการลด ละ เลิก สารเคมี ผมก็แค่อยากจะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยนำสินค้าของพี่ๆ เหล่านั้น ที่ระหว่างทางที่ผมกว่าจะมาถึงจุดนี้ผมมีเพื่อน มีพี่หลายคนที่เขาคอยให้การสนับสนุน และก็ให้ความรู้เรื่องว่าทำไมการปลูกผักแบบอินทรีย์มันยากอย่างไร การไม่ใช้สารเคมีมันยากกว่าการใช้สารเคมีอย่างไร เพราะฉะนั้นผมเลยเข้าใจ ว่ามันลำบากแค่ไหน และมันดีกว่าไหมถ้าเอาสิ่งเหล่านี้ที่พี่เขาตั้งใจ มาแปรรูปไอศกรีมในร้านผม หนึ่งคือเราได้ช่วยเกษตรกร สองเราได้ของดีๆ นะครับ สามลูกค้าได้กินของดี เพราะฉะนั้นมันก็เท่ากับว่ามัน win win ทุกฝ่าย มันอาจจะไม่ใช้รสที่มันหรูหราเหมือนไอศกรีมเมืองนอก แต่ว่ามันเป็นรสชาติของบ้านเรา มันเป็นของที่เราคุ้นเคยมาตั้งแต่เด็กเพียงแต่นำเสนอออกมาในรูปแบบใหม่ ซึ่งความตั้งใจของผมจริงๆ วันหนึ่งอยากให้คนต่างชาติเขาได้รู้ว่า บ้านเรามันมีของดีอีกเยอะนะครับที่คนต่างชาติเขาไม่รู้”
ปัจจุบันร้าน Jinta Icecream เปิดให้บริการจำหน่ายไอศกรีมโฮมเมดจากวัตถุดิบท้องถิ่น ที่มีความหลากหลายทั้งรสชาติและความแปลกใหม่เรื่องของวัตถุดิบที่ใช้ผลิต ซึ่งเชื่อแน่ว่าลูกค้าใหม่ๆ ที่ได้เห็นจะต้อง ว้าว! อย่างแน่นอน ไปทดลองชิมกันได้ที่ร้านสาขา 1 บุญถาวร-เกษตร นวมินทร์ และสาขา 2 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ทั้งนี้จากประสบการณ์ที่ได้ชิมมาแล้วต้องยอมรับว่า
สิ่งที่ คุณหนุ่ม-เมธวัจน์ เจ้าของร้านบอกว่าชื่อแบรนด์เป็นชื่อของลูกสาว “เรารู้สึกว่าการตั้งชื่อเป็นชื่อลูกสาวเราแล้ว เราก็จะมองโปรดักส์ของเราเหมือนเป็นลูกคนหนึ่ง เวลาเขาทานแล้วเขาไม่อร่อย เขาว่าJinta ก็เหมือนว่าลูกเราด้วย เพราะฉะนั้นทุกครั้งเราตั้งใจทำและพยายามนำเสนอสิ่งดีๆ ที่ดีที่สุด ในความรู้ของเราในตอนนั้น ให้กับลูกค้าครับ” เชื่อมั่นได้เลยจริงๆ แบบไม่มีข้อโต้แย้ง
สอบถามเพิ่มเติม โทร.087-318-0057
คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า “SMEsผู้จัดการ”รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด
SMEs manager