xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : ส่อง ยูเนียนเพย์ ประเทศไทย ในบริบทสงครามรัสเซีย-ยูเครน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลก หนึ่งในนั้นคือบริษัทผู้ให้บริการด้านการชำระเงิน วีซ่า และมาสเตอร์การ์ด สัญชาติอเมริกัน ประกาศระงับบริการบัตรเครดิตและบัตรเดบิต ที่ออกโดยสถาบันการเงินในรัสเซีย เพื่อคว่ำบาตรรัฐบาลรัสเซีย ส่งผลให้ผู้ถือบัตรในรัสเซียไม่สามารถใช้บัตรในต่างประเทศได้ หลังวันที่ 9 มีนาคม 2565 เป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางรัสเซีย ก็ระบุว่า สถาบันการเงินหลายแห่งเตรียมที่จะออก บัตรยูเนียนเพย์ (UnionPay) ให้แก่ลูกค้า ซึ่งจะสามารถใช้งานได้ใน 180 ประเทศ แม้ว่าธนาคารรัสเซียหลายแห่งจะใช้อยู่ก่อนแล้ว คาดว่าธนาคารใหญ่อื่นๆ เช่น Sberbank และ Tinkoff จะเริ่มออกบัตรเครดิตร่วมระหว่างยูเนียนเพย์กับ Mir ระบบการชำระเงินท้องถิ่นของรัสเซียเร็วๆ นี้


ขณะที่ชาวรัสเซียจำนวนมาก ติดค้างอยู่ในต่างประเทศ หลังจากที่หลายชาติประกาศปิดน่านฟ้าไม่ให้เครื่องบินรัสเซียผ่าน และรัสเซียประกาศห้ามสายการบินต่างชาติหลายแห่งผ่านเข้าน่านฟ้าเช่นกัน สำหรับประเทศไทย จากการสำรวจของ สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) พบว่ามีนักท่องเที่ยวรัสเซียตกค้างที่เกาะสมุย 2,000 คน ภูเก็ต 4,000 คน พัทยา 1,000 คน

ปัญหาที่เกิดขึ้นตอนนี้ คือ บัตรเครดิตที่นักท่องเที่ยวรัสเซียถืออยู่ 7 ธนาคาร ไม่สามารถใช้งานในประเทศไทยได้ ส่วนบัตรที่เหลือตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2565 ก็จะกดถอนเงินสดไม่ได้ ขณะเดียวกัน ไม่มีเที่ยวบินกลับประเทศ ส่วนเที่ยวบินปกติจะออกจากประเทศไทยไปยังรัสเซีย วันที่ 8 มี.ค. 2565 เป็นวันสุดท้าย

ภาพ : UnionPay International
ขณะที่ นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) หารือกับภาคเอกชนท่องเที่ยว เพื่อหามาตรการดูแลนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียและยูเครนที่ติดค้าง 4 มาตรการ ได้แก่ ขอยกเว้นค่าธรรมเนียมต่อวีซ่า หาที่พักชั่วคราวให้นักท่องเที่ยวที่ตกค้าง รอเครื่องบินจากรัสเซียส่งมารับ การแก้ปัญหาค่าใช้จ่ายของผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเรียกเก็บเงินมัดจำ

หนึ่งในนั้น คือ หาช่องทางให้นักท่องเที่ยวชาวรัสเซีย สามารถจ่ายค่าที่พักและอาหารให้กับผู้ประกอบการท่องเที่ยวได้ ภายหลังจากที่มีปัญหาไม่สามารถใช้วีซ่าและมาสเตอร์การ์ดได้ โดยให้ปรับมาใช้ยูเนียนเพย์ของจีนแทน ซึ่งจะต้องประสานให้ยูเนียนเพย์มาติดตั้งเครื่องอีดีซี (EDC) ซึ่งเป็นอุปกรณ์รับชำระเงินให้กับโรงแรมต่างๆ


น่าสังเกตว่า จากวิกฤตสงครามในครั้งนี้ อาจจะเป็นโอกาสทองให้กับเครือข่ายชำระเงินสัญชาติแดนมังกรได้แจ้งเกิดในตลาดรัสเซียอย่างกว้างขวางกว่าเดิม 

ภาพ : UnionPay International
เครือข่ายการชำระเงิน "ยูเนียนเพย์" (UnionPay) ก่อตั้งเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2545 หรือประมาณ 20 ปีก่อน มีสำนักงานใหญ่ที่นครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีบริษัทในเครืออย่าง ยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล (UPI) ดำเนินการธุรกิจระหว่างประเทศ ดึงธนาคารท้องถิ่นแต่ละประเทศเป็นสมาชิกเครือข่ายร้านค้า และออกบัตรแก่ผู้ใช้งาน 180 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก


สำหรับประเทศไทย ยูเนี่ยนเพย์เข้ามาให้บริการเมื่อปี 2548 โดยมีธนาคารแห่งประเทศจีน สาขากรุงเทพฯ เปิดให้บริการ และมีสยาม เวิลด์ กรุ๊ป เป็นลูกค้ารายแรก เพื่อส่งเสริมให้ชาวจีนท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยในเมืองไทยมากขึ้น ต่อมา ธนาคารกสิกรไทย เพิ่มการรับบัตรไชน่ายูเนียนเพย์ผ่านเครื่องอนุมัติวงเงินอัตโนมัติ (EDC) แก่ร้านค้าเริ่มต้น 500 แห่ง ก่อนขยายมาเรื่อยๆ

แฟ้มภาพ
ขณะที่ ธนาคารกรุงเทพ ทำข้อตกลงให้ผู้ถือบัตรยูเนี่ยนเพย์ สามารถเบิกถอนเงินสดจากเครื่องเบิกเงินอัตโนมัติบัวหลวงเอทีเอ็มทั่วประเทศ ก่อนที่ในปี 2549 จะลงนามความร่วมมือให้บริการรับบัตรในประเทศไทย และออกบัตรเครดิตและบัตรเดบิตที่มีสัญลักษณ UnionPay โดยได้ออกบัตรเครดิตยูเนียนเพย์ใบแรกของไทย เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552

มาถึงปี 2559 ธนาคารกรุงเทพ และยูเนี่ยนเพย์ อินเตอร์เนชั่นแนล จัดตั้งเครือข่ายระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศที่ชื่อว่า Thai Payment Network หรือ TPN เพื่อเป็นเครือข่ายระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย และให้บริการสวิตช์ชิ่งข้อมูลสำหรับธุรกรรมการชำระเงินผ่านบัตรเดบิต TPN และบัตรเดบิตยูเนี่ยนเพย์ในประเทศไทย เพื่อให้ค่าธรรมเนียมถูกลง

ภาพ : UnionPay International
ปัจจุบัน บัตรยูเนี่ยนเพย์ให้บริการหลายธนาคารในไทย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ธนาคารแห่งประเทศจีน และธนาคารไอซีบีซีไทย ส่วนธนาคารชั้นนำของไทย ได้พัฒนาเครื่อง EDC รุ่นใหม่ให้รองรับบัตรยูเนียนเพย์แล้ว นอกจากนี้ ร้านค้าออนไลน์บางแห่งก็ใช้บัตรยูเนี่ยนเพย์ช้อปออนไลน์ได้


ส่วนการกดเงินสดจากเครื่องเอทีเอ็มในประเทศไทย สำหรับชาวต่างชาติ พบว่าธนาคารชั้นนำของไทย สามารถกดเงินสดจากบัตรยูเนียนเพย์ ที่ออกโดยสถาบันการเงินต่างประเทศได้ ที่เครื่องเอทีเอ็มที่มีสัญลักษณ์ UnionPay เช่น ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ฯลฯ โดยมีค่าธรรมเนียมขึ้นอยู่กับธนาคารแต่ละแห่งกำหนด

ภาพ : UnionPay International - Thailand
ยูเนียนเพย์เกิดขึ้นในประเทศไทยมานานถึง 17 ปี มีการพัฒนาตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีชำระเงิน โดยเฉพาะในช่วงที่โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของไทยเปลี่ยนแปลง เช่น บัตรเดบิตมาตรฐานไทยชิปการ์ด การพัฒนาคิวอาร์เพย์เมนต์ อีกทั้งก่อนหน้านี้ นักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางมาประเทศไทยมากขึ้น กลายเป็นอานิสงส์ที่ทำให้ยูเนี่ยนเพย์เติบโตมากขึ้นในไทย


แม้ว่าการออกบัตรยูเนี่ยนเพย์ให้แก่ลูกค้าชาวรัสเซียนับล้านใบไม่ใช่เรื่องง่าย ในช่วงที่วีซ่าและมาสเตอร์การ์ด ประกาศคว่ำบาตรจากกรณีพิพาทระหว่างรัสเซียกับยูเครน แต่อย่างน้อยที่สุด การมีอยู่ของยูเนี่ยนเพย์ เครือข่ายชำระเงินสัญชาติจีน แสดงให้เห็นว่านับต่อจากนี้เป็นต้นไป ระบบการเงินต่างๆ ของโลก จะไม่ผูกขาดแต่เพียงชาติตะวันตกแต่เพียงฝ่ายเดียว

(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทุกเช้ามืดวันพุธ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)
กำลังโหลดความคิดเห็น