xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) โคตรปัง! หนุ่มไทยเปิดร้านรถเข็นผลไม้เจ้าแรกและเจ้าเดียวในออสเตรเลีย สร้างรายได้เดือนละ 2 ล้านบาท!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สุดปัง รถเข็นผลไม้แบบไทยในประเทศออสเตรเลียสำหรับร้าน “ตลาดนัดหัวมุม” ที่ได้ “จอห์น” หนุ่มไทยคนแรกและเป็นเจ้าของร้านผู้มีไอเดียนำเอาเอกลักษณ์ความเป็นไทยไปเผยแพร่สู่สายตาต่างชาติ ด้วยการเปิดขายผลไม้สดและผลไม้ดองในรูปแบบรถเข็น ทำให้เป็นที่รู้จักและแปลกตาสำหรับคนต่างชาติและผลตอบรับดีเกินคาด ซึ่งสามารถสร้างยอดขายได้เดือนละ 2 ล้าน และปีละ 20 ล้านบาท


นายสมพร โพธิ์ศรี หรือ จอห์น เจ้าของร้านผลไม้รถเข็นเจ้าแรกและเจ้าเดียวในซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เล่าว่า ตนได้มาอาศัยอยู่ประเทศออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2538 ในตอนนั้นตนอายุได้ 18 ปี และแม่ของตนได้ส่งมาเรียนต่อที่ประเทศออสเตรเลีย เนื่องจากมีนิสัยเกเรทำให้คุณแม่ต้องส่งมาเรียนเพื่อให้ห่างจากกลุ่มเพื่อนจึงเป็นสาเหตุให้ได้มาอาศัย มาเรียน และทำมาหากินในประเทศออสเตรเลียจนถึงปัจจุบัน สำหรับจุดเริ่มต้นในการเปิดร้านขายผลไม้รถเข็นนั้นมีที่มาจากการที่ต้องการเพิ่มรายได้ให้กับธุรกิจตนเอง เดิมทีตนมีธุรกิจขนส่งโลจิสติกส์ส่งสินค้าทุกชนิดกลับประเทศไทย ทั้งทางเครื่องบินและทางเรือและมีสินค้าต่างๆ เข้ามาวางขายภายในร้าน แต่ก็ยังสร้างยอดขายได้ไม่ดีเท่าที่ควรรวมถึงยังนำเสนอความเป็นไทยได้ไม่มากนัก รถเข็นผลไม้แบบไทยจึงตอบโจทย์


ทำให้เกิดแนวคิดนำรถเข็นผลไม้มาขายบวกกับในพื้นที่ยังไม่มีใครทำและส่วนตัวตนเป็นคนที่ชื่นชอบการกินผลไม้เป็นประจำอยู่แล้ว คิดได้ดังนั้นตนจึงนำมาขายในย่านที่ตนเปิดร้านโดยมีชื่อเรียกว่า “ไทยทาวน์” ทั้งนี้เมื่อตัดสินใจนำผลไม้มาขายในรถเข็นแล้ว ตนมีวิธีการขายคือขายเป็น “ยำผลไม้” ใส่ในแก้ว และเป็นสูตรยำคลุกพริกเกลือของทางร้านโดยเฉพาะ รวมถึงให้ความรู้สึกเหมือนประเทศไทยให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ก่อนหน้าที่จะมาทำธุรกิจโลจิสติกส์ขนส่งสินค้าและร้านผลไม้รถเข็น เจ้าของร้านทำอาชีพมาหลายอย่างแต่หลักๆ จะเป็นอาชีพเกี่ยวกับอาหาร เช่น เปิดร้านอาหารประมาณ 10 สาขา แต่ต้องมาปิดตัวลงเพราะพิษของโควิด-19


ทั้งนี้ผลไม้รถเข็นที่นำมาขายเกือบทุกวันนั้น หลักๆ จะเป็นผลไม้สดซึ่งเป็นผลไม้ในท้องถิ่นได้แก่ มะกอกน้ำ มะม่วงน้ำดอกไม้ มะม่วงแก้ว ฝรั่ง แอปเปิ้ลเขียว สับปะรด แตงโม และแคนตาลูป รวมถึงผลไม้ดองที่นำเข้ามาจากประเทศไทย เช่น กระท้อนดอง องุ่นดอง มะกอกดอง เป็นต้น และเปิดขายที่หน้าร้านที่ใช้ชื่อว่า “ตลาดนัดหัวมุม” เพียงที่เดียว เนื่องจากตามกฎหมายของประเทศออสเตรเลียแล้วไม่สามารถเข็นรถเข็นไปจอดขายตามข้างทางได้


สำหรับกลุ่มลูกค้าในช่วงแรก 95% เป็นคนไทยทั้งหมด แต่พอเปิดร้านไปได้สักพัก ต่างชาติเห็นแล้วรู้สึกว่าแปลกและได้ลองกิน ซึ่งลูกค้าต่างชาตินั้นส่วนใหญ่เป็นคนเอเชีย เช่น จีน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย อินเดีย และเวียดนาม ซึ่งลูกค้าต่างชาติเหล่านี้ให้เหตุว่าผลไม้รถเข็นของทางร้านมีขายในประเทศโซนเอเชียเช่นเดียวกัน และลูกค้าชื่นชอบอย่างมากทำให้ในตอนนี้ลูกค้าคนไทยและต่างชาติมีสัดส่วนที่เท่ากัน 50%-50% ซึ่งผลไม้ที่ลูกค้าชื่นชอบมากที่สุด คือ มะม่วง ใน 1 สัปดาห์สามารถขายได้ถึง 200-300 กิโลกรัม มะกอกน้ำ สัปดาห์ละประมาณ 200 กิโลกรัม สับปะรดประมาณ 20-30 ลังต่อสัปดาห์ แตงโมและแคนตาลูปรองลงมา โดยมีราคาขายแก้วละ 10 เหรียญดอลล่าร์ออสเตรเลียหรือเทียบกับเงินบาทไทยประมาณแก้วละ 240 บาท


ในส่วนของเทคนิคการขายผลไม้ไทยในต่างประเทศนั้น เจ้าของร้านให้ข้อมูลว่า “พยายามทำให้เหมือนบ้านเรามากที่สุด นำเสนอสินค้าให้ดูเหมือนบ้านเรา อย่างคนไทยเราไม่ต้องอธิบายอะไรมากมาย ส่วนต่างชาติเวลาเขาไปเที่ยวเมืองไทยก็เห็นผ่านๆ อยู่แล้ว ซึ่งการโปรโมทเราก็ทำออนไลน์เป็นหลัก โดยผ่านเพจเฟซบุ๊กของเราครับ” นอกจากนี้สำหรับผลตอบรับจากลูกค้านั้นดีมาก จากวันแรกที่ขายได้ไม่เกิน 40-50 แก้วต่อวัน ปัจจุบันสามารถขายได้หลักหลายร้อยแก้วต่อวัน


ทั้งนี้ความรู้สึกของเจ้าของร้านเมื่อมีคนรู้จักร้านผลไม้รถเข็นเพิ่มมากขึ้น ตนให้ความรู้สึกว่า “ดีใจครับ ภูมิใจ ซึ่งเราก็ไม่ได้คิดว่ามันจะเป็นที่พูดถึงหรือว่าเป็นที่ชื่นชอบในต่างชาติ ตอนที่เราเปิดใหม่ๆ เราก็เจาะกลุ่มลูกค้าแค่กลุ่มคนไทย แต่พอเราเห็นต่างชาติมากินเยอะเราก็ดีใจ เราก็คิดว่าเราก็ช่วยเผยแพร่อาหารของไทย สิ่งที่เรากินที่บ้านเรามันเป็นเรื่องธรรดามากแต่พอมาอยู่ที่นี่ต่างชาติเขาให้ความสนใจ เขาตื่นเต้นกับมันมาก บางคนมาถ่ายรูปมีต่างชาติที่เป็นเน็ตไอดอลหรือบล็อกเกอร์มาถ่ายแล้วเอาไปลงในเพจของเขา ซึ่งเขาบอกว่าร้านเรามีชื่อเสียงในเพจของประเทศเขา”


นอกจากนี้ในส่วนของยอดขายจากการขายผลไม้รถเข็นในออสเตรเลียนั้นใน 1 วันสามารถสร้างรายได้ประมาณ 50,000-70,000 บาทหรือประมาณ 1.5-2 ล้านบาทต่อเดือน 20 กว่าล้านต่อปี เมื่อเทียบเป็นเงินไทย แต่เมื่อเห็นตัวเลขแล้วอาจจะรู้สึกว่าตัวเลขมีจำนวนมาก แต่เจ้าของร้านให้ข้อมูลว่าตัวเลขยอดขายนี้จะต้องมีส่วนที่ต้องจ่ายภาษี ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าสถานที่ ซึ่งเมื่อบวกลบค่าใช้จ่ายแล้วยอดขายก็พออยู่ได้ ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้อีกหนึ่งช่องทางให้กับธุรกิจหลักอย่างขนส่งโลจิสติกส์


อย่างไรก็ตามร้านรถเข็นผลไม้นั้นตั้งอยู่ในตลาดนัดหัวมุม 770 George street,ซิดนีย์, รัฐนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งชื่อร้านตลาดนัดหัวมุมนั้นมาจากร้านที่ตั้งอยู่บริเวณหัวมุมถนน 2 ฝั่ง ซึ่งในอนาคตเจ้าของร้านมีไอเดียที่จะเปิดร้านรถเข็นลูกชิ้นปิ้งแบบไทย ร้านไอติมแบบไทย โดยจะทำให้รู้สึกถึงความเป็นไทย ตลาดบ้านๆ แบบไทยแต่ขายในต่างประเทศ

ติดต่อเพิ่มเติม
Facebook : ตลาดนัดหัวมุม










* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SMEsผู้จัดการ" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด* * *
กำลังโหลดความคิดเห็น