xs
xsm
sm
md
lg

ทล.ปัดฝุ่นแผนแม่บทมอเตอร์เวย์ ผุด MR-MAP ขึงแนวโครงข่ายทั่วปท.10 เส้นทาง กว่า 7,000กม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมทางหลวงลุยศึกษา MR-MAP โครงข่ายมอเตอร์เวย์พร้อมรถไฟทางคู่ 10 เส้นทางทั่วประเทศ ขึงแนวเหนือ-ใต้,ออก-ตก กว่า 7,000 กม. ทบทวนแผนแม่บทมอเตอร์เวย์เดิม เตรียมลงพื้นที่ฟังเสียงประชาชนผุด 3 เส้นทางนำร่อง ชุมพร-ระนอง/แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี-นครราชสีมา/นครราชสีมา-อุบลราชธานี เส้นทางยุทธศาสตร์รองรับแหล่งผลิตและอุตสาหกรรม

วันที่ 15 ก.พ.2565 กรมทางหลวง (ทล.) โดย กองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ ได้จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็นแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP) โดยมีนายไพฑูรย์ พงษ์ชวลิต รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เป็นประธาน เปิดการประชุม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้งภายในห้องสัมมนา และประชุมทางไกลผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Cloud Meetings) ไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ 22 จังหวัด เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ
 
นายอภิชัย อิสริยานุกูล วิศวกรโยธาชำนาญการพิเศษ กรมทางหลวง กล่าวว่า ตามที่ทล.มีแผนแม่บทการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองระยะ 20 ปี (พ.ศ.2560-2579) โดยจะมีการทบทวนความเหมาะสมของแผนทุก 5 ปี ดังนั้นในครั้งนี้กองทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง กรมทางหลวง ได้ว่าจ้างกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา ประกอบด้วย บริษัท พีเอสเค คอนซัลแทนส์ จำกัด และบริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแต้นส์ จำกัด วงเงิน 55 ล้านบาท ดำเนินการศึกษาจัดทำแผนกลยุทธ์การลงทุนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และงานศึกษาปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษ พร้อมการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น ซึ่งถือเป็นการศึกษาพิจารณาสถานะความเหมาะสมแผนกลยุทธ์ของโครงการมอเตอร์เวย์ โดยจะบูรณาการร่วมกับแผนพัฒนาระบบรางและโครงข่ายขนส่งโหมดอื่นทางอากาศ ทางน้ำ ให้ครบสมบูรณ์ ตามแนวคิดการพัฒนาโครงข่ายทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองและระบบราง (MR-MAP)

โดยจะมีการนำเสนอแผนแม่บท MR-MAP จำนวน 10 เส้นทาง ประชาสัมพันธ์โครงการ รวมทั้งรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน มาประกอบการพิจารณา ในการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนา MR-MAP และการออกแบบแนวเส้นทางที่เหมาะสมต่อไป โดยการศึกษาได้เริ่มตั้งแต่กลางปี 2564 กำหนดแล้วเสร็จปลายปี 2565 โดยมี 2 สัญญาจ้าง คือ ส่วนของการ ศึกษาจัดทำแผนแม่บทพร้อม ศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ จำนวน 3 เส้นทางนำร่อง ได้แก่ 1.ชุมพร-ระนอง หรือ แลนด์บริดจ์ , 2. เส้นทาง แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี-นครราชสีมา เป็นเส้นทางรองรับยุทธศาสตร์การผลิต แหล่งแรงงานและวัตถุดิบเข้าเชื่อมกับแหล่งอุตสาหกรรม และ 3.เส้นทาง นครราชสีมา-อุบลราชธานี ซึ่งเป็นเส้นทางที่เป็นยุทธศาสตร์ในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่าง และอีกสัญญาเป็นการศึกษาแผนแม่บทรวมทั้ง 10 เส้นทาง
 
ซึ่งหลังจากนี้ที่ปรึกษาจะลงพื้นที่ ทุกภาคทั่วประเทศ จำนวน 20 ครั้ง เพื่อนำเสนอความก้าวหน้าผลของการศึกษาด้านต่างๆ และรับฟังความเห็นทั้งแนวเส้นทาง จากนั้นจะสรุปแผนแม่บท MR-MAP ระยะ 20 ปี รอบใหม่ (พ.ศ.2566-2585) โดยจะมีการศึกษาทบทวนแผนทุกๆ 5 ปี เช่นกัน
 
สำหรับแผนแม่บท MR-MAP จำนวน 10 เส้นทาง ระยะทางรวมประมาณ 7,003 กม. มีเส้นทางพัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์รวมกับระบบราง 4,321 กม. ประกอบด้วย เส้นทางแนวเหนือ-ใต้ MR1 เชียงราย-นราธิวาส ระยะทาง 2,125 กม. เริ่มต้นจาก ด้านเชียงของ/ด่านแม่สาย จ.เชียงราย สิ้นสุดที่ จ.นราธิวาส มีช่วงที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง ประมาณ 1,720 กม. คือ ช่วง เชียงราย (ด่านเชียงของ-พะเยา) และช่วงลำปาง-นราธิวาส
 
MR 2 กรุงเทพ /ชลบุรี -หนองคาย ระยะทาง 914 กม. มีเส้นทางที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง คือ สายบางปะเน-นครราชสีมา ระยะทาง 196 กม. และเส้นทางในอนาคตอีก 718 กม. โดยมีช่วงที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง ประมาณ 313 กม. คือช่วง ชลบุรี(แหลมฉบัง) - นครราชสีมา
 
MR 3 บึงกาฬ -สุรินทร์ ระยะทาง 544 กม. มีช่วงที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง ประมาณ 490 กม. ได้แก่ ช่วงบึงกาฬ-สุรินทร์ (ด่านช่องจอม)

เส้นทางแนวตะวันออก-ตะวันตก
MR 4 ตาก-นครพนม ระยะทาง 856 กม.มีช่วงที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง ประมาณ 435 กม. ได้แก่ ช่วง ด่านแม่สอด-ตาก ช่วง พิษณุโลก และช่วง ขอนแก่น-มุกดาหาร-นครพนม
 
MR 5 นครสวรรค์-อุบลราชธานี (ด่านช่องเม็ก / สะพานมิตรภาพแห่งที่ 6 ) ระยะทาง 722 กม.
 
MR 6 กาญจนบุรี-สระแก้ว ระยะทาง 390 กม. มีแนวเส้นทางที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง คือ สายบางใหญ่-กาญจนบุรี ระยะทาง 96 กม. ที่เหลือแผนก่อสร้างในอนาคต โดยมีช่วงที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง ประมาณ 172 กม. ได้แก่ ช่วงด่านน้ำพุร้อน-กาญจนบุรี และช่วงปราจีนบุรี-สระแก้ว
 
MR7 กรุงเทพ-ระยอง/ตราด ระยะทาง 467 กม. มีเส้นทางที่เปิดให้บริการแล้ว คือ สายกรุงเทพ-พัทยา-มาบตาพุด ระยะทาง 181 กม. เส้นทางในอนาคต 286 กม. มีช่วงที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง ประมาณ 193 กม. ได้แก่ ช่วงระยอง-จันทบุรี-ตราด
 
MR 8 ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 91 กม.
 
MR 9 สุราษฎร์ธานี-ภูเก็ต ระยะทาง 252 กม. มีช่วงที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง ประมาณ155 กม. คือช่วงดอนสัก-สุราษฎร์ธานี และช่วงพังงา-ภูเก็ต
 
MR10 เส้นทางเชื่อมต่อกรุงเทพมหานครปริมณฑล วงแหวนรอบที่ 3 และเส้นทางเชื่อมต่อ ระยะทางรวม 642 กม. ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 วงแหวนรอบที่ 2 (ถนนกาญจนาภิเษก) ระยะทาง 193 กม. เปิดให้บริการแล้ว /เส้นทาง บางขุนเทียน-บ้านแพ้ว อยู่ระหว่างก่อสร้าง ส่วนที่ 2 วงแหวนรอบที่ 3 เส้นทางในอนาคต ระยะทาง 346 กม. ส่วนที่ 3 เส้นทางเชื่อมต่อวงแหวนรอบที่ 2 และ 3 ได้แก่ บ้านแพ้ว-ปากท่อ ระยะทาง 54 กม. และ บางปะอิน-สุพรรณบุรี ระยะทาง 55 กม. โดยมีช่วงที่พัฒนาเป็นมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง ประมาณ 365 กม. คือวงแหวนรอบที่ 3 ด้านเหนือ ช่วงสุพรรณบุรี-ทล. 6 ด้านใต้ ช่วงทล.34-ทล35 ด้านตะวันตก ช่วง ทล.35-นครปฐม-สุพรรณบุรี
 
ทั้งนี้ การพัฒนา MR-MAP คือ การบูรณาการพัฒนาระบบถนนและรางไปด้วยกัน แต่ไม่จำเป็นต้องก่อสร้างพร้อมกัน แต่เพื่อเป็นการบริหารจัดการเขตทางที่มีอยู่ให้เต็มที่ ลดการเวนคืนพื้นที่และแบ่งแยกชุมชน เกิดการพัฒนาความเจริญไปสู่พื้นที่ใหม่ ปรับปรุงการเชื่อมต่อโครงข่าย เพื่อความสะดวกและคล่องตัวในการขนส่งผู้โดยสารและสินค้า แก้ปัญหาทางรถไฟในเขตเมืองที่มี่ความแออัด ภาพรวมคือการวางแผนพัฒนา เพื่อเตรียมพื้นที่ ส่วนระบบใดมีความพร้อมและความจำเป็นก่อนให้ก่อสร้างก่อน








กำลังโหลดความคิดเห็น