xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.ดันสร้าง N1 ลุยศึกษาทบทวนใหม่ หาทางเลือกเชื่อมโครงข่าย "ออก-ตก" สมบูรณ์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กทพ.จ้างศึกษาทบทวนทางด่วน N1 อีกรอบ เริ่ม มี.ค.นี้  ลุยออกแบบละเอียดและผลกระทบ ทั้งอุโมงค์-ยกระดับ เลือกที่ดีที่สุดดันเชื่อมต่อโครงข่ายออก-ตกสมบูรณ์ ส่วนทางด่วนเชื่อม S1-ท่าเรือคลองเตยคาดเจรจา กทท.แบ่งค่าลงทุนจบปีนี้ 

นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน กทพ.อยู่ระหว่างการประกวดราคาคัดเลือกว่าจ้างที่ปรึกษาทบทวนการศึกษาความเหมาะสมด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือ ส่วนทดแทนตอน N1 วงเงินงบประมาณ 30 ล้านบาท โดยคาดว่าจะได้ตัวที่ปรึกษาและเริ่มการศึกษาในเดือนมีนาคม 2565 มีระยะเวลาศึกษาประมาณ 1 ปี 

ทั้งนี้ สาเหตุที่ต้องศึกษาทบทวนเนื่องจาก การศึกษาความเหมาะสมโครงการเดิมที่ออกแบบเป็นทางยกระดับต่อจากทางด่วน N2 ไปตามแนว ถ.งามวงศ์วานผ่าน ม.เกษตรศาสตร์ ต่อมาสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ได้ศึกษาแนวทางที่ 2 โดยปรับแนวเส้นทางผ่านไปทางบางบัว แล้วจึงตัดมาขนานกับดอนเมืองโทลล์เวย์และไปเชื่อมกับทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตก ซึ่งมีปัญหาอุปสรรค และการเจรจากับ ม.เกษตรฯ ยังไม่ได้ข้อยุติ 

การศึกษาครั้งนี้จะเป็นการทบทวนทั้งแนวเส้นทาง ด้านวิศวกรรมเศรษฐกิจ การเงิน พร้อมออกแบบ รวมถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยนำผลการศึกษาเดิมที่มี 2 ทางเลือกเดิม มาทำการประเมินความเสี่ยงข้อดี ข้อเสีย รวมไปถึงศึกษาหาทางเลือกใหม่ๆ  เพิ่มเติมหากมี เพื่อให้มีข้อมูลที่ชัดเจนประกอบการพิจารณาต่อไป 

“จะศึกษาข้อมูลในทุกกรณี และประเมินค่าลงทุน พร้อมหาแนวทางแก้ปัญหา ลดผลกระทบอย่างรอบด้านด้วย เช่น แนวเส้นทางยกระดับบน ถ.งามวงศ์วานผ่าน ม.เกษตรศาสตร์  หากปรับแบบก่อสร้างเป็นอุโมงค์จะมีค่าก่อสร้างเท่าไร หรือหากมีแนวทางเลือกอื่น รูปแบบ ค่าลงทุนเป็นอย่างไร สำหรับการก่อสร้างเป็นอุโมงค์ใต้ดินตามแนว ถ.งามวงศ์วานนั้น ในด้านเทคนิคก่อสร้างไม่มีปัญหา ส่วนค่าลงทุนที่มองว่าค่อนข้างสูงนั้น หากมองมิติผลประโยชน์ด้านโครงข่ายในแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Corridor) ที่สมบูรณ์ ส่งผลต่อภาพรวมของการจราจรอนาคตในระยะยาว อาจต้องมาประเมินการลงทุน 30-40 ปี จะมีความคุ้มค่าเพิ่มขึ้นหรือไม่”

สำหรับโครงการก่อสร้างทางด่วนขั้นที่ 3 สายเหนือตอน N2 และ E-W Corridor จากแยกเกษตร-นวมินทร์ เชื่อมต่อไปยังถนนวงแหวนรอบนอกด้านตะวันออก ระยะทาง 10.5 กม. วงเงินลงทุนกว่า 1.4 หมื่นล้านบาทนั้น ซึ่งรายงาน EIA ผ่านการอนุมัติแล้วอยู่ในขั้นตอนนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะดำเนินการประมูลก่อสร้างหากตอน N1 มีความชัดเจน ทั้งนี้ เพื่อเร่งเบิกจ่ายกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (TFF) ให้เป็นไปตามเป้าหมาย

@หารือ กทท.แบ่งสัดส่วนลงทุน "ทางด่วนเชื่อม S1-ท่าเรือคลองเตย" จบในปีนี้ 

ส่วนโครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพ และทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง กทพ.กับการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) ในการแก้ปัญหาการจราจรบนถนนอาจณรงค์บริเวณทางเข้าท่าเรือกรุงเทพ และถนนโครงข่ายโดยรอบท่าเรือกรุงเทพนั้น เบื้องต้นได้เสนอรายงาน EIA ให้ คชก.พิจารณาตามขั้นตอนแล้ว ขณะที่คณะกรรมการร่วมฯ กทพ.และ กทท.จะหารือเรื่องสัดส่วนภาระการลงทุนตามความเหมาะสม คาดว่าจะสรุปผลการเจรจาร่วมกันภายในปี 2565 โดยหลักการ กทพ.จัดเก็บรายได้ค่าผ่านทาง ส่วน กทท.ได้รับผลตอบแทนในรูปแบบของผลประโยชน์จากการมีทางด่วนเข้าไปในพื้นที่ท่าเรือโดยตรง ซึ่งจะเป็นการสร้างโอกาสในการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น

"คณะกรรมการร่วมฯ จะเจรจาสัดส่วนการลงทุน ซึ่งทางด่วนนี้เชื่อมเข้าท่าเรือ ปริมาณจราจรที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นของใหม่ แต่เป็นปริมาณรถเดิมที่วิ่งบนโครงข่ายทางด่วนอยู่แล้ว ดังนั้นจึงถือเป็นการได้ผลประโชน์ร่วมกัน"

รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการทางเชื่อมต่อท่าเรือกรุงเทพและทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) มีระยะทาง 2.25 กม. ประเมินวงเงินลงทุนประมาณ 2,480 ล้านบาท โดยแนวเส้นทางจะเชื่อมจากทางเข้า-ออกเทอร์มินัล 3 ของท่าเรือกรุงเทพ ยกระดับบนถนนอาจณรงค์ข้ามคลองพระโขนง และถนนเลียบทางรถไฟสายเก่าปากน้ำ จากนั้นแยกเป็นขาทางเชื่อม (Ramp) เข้าเชื่อมกับทางพิเศษสายบางนา-อาจณรงค์ (S1) ทางพิเศษบูรพาวิถี และทางพิเศษฉลองรัช 
กำลังโหลดความคิดเห็น