xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ผวาเงินเฟ้อฉุด ศก.ถดถอย จี้รับมือน้ำมันโลกพุ่งหนุนลดภาษีฯ-เร่งคนละครึ่งเฟส 4

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ส.อ.ท.ผวาคลื่นลูกใหม่ "ภาวะเศรษฐกิจถดถอย" หลังเงินเฟ้อถล่มทั่วโลก หนุนรัฐเตรียมรับมือราคาน้ำมันดิบโลกจ่อพุ่ง 100 เหรียญฯ/บาร์เรล แนะลดภาษีฯ แก้กักตุนสินค้า ลั่นสมาชิก 45 กลุ่มพร้อมตรึงราคาแต่แค่ 5-6 เดือนหากต้นทุนพุ่งไม่หยุดจำเป็นต้องขยับ หนุนรัฐเร่งโครงการคนละครึ่งเฟส 4 เร็วขึ้นและเพิ่มวงเงินฟื้นแรงซื้อระยะสั้น

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะรับผิดชอบดูแล 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 11 คลัสเตอร์
เปิดเผยว่า ส.อ.ท.กำลังติดตามสถานการณ์น้ำมันดิบตลาดโลกใกล้ชิด ที่ล่าสุดราคาเวสต์เทกซัส เบรนต์ได้ขยับสูงสุดในรอบ 7 ปี และโกลด์แมน แซคส์ วาณิชธนกิจรายใหญ่ของสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าเบรนต์อาจทะยานสู่ 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรลได้ในไตรมาส 3 ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะยิ่งกดดันให้ภาวะเงินเฟ้อของไทยเพิ่มขึ้น โดยรัฐบาลจำเป็นต้องวางมาตรการรับมือทั้งระยะสั้น กลาง และยาว เพราะปี 2565 ทั่วโลกและไทยจะเผชิญภาวะเงินเฟ้อและอาจนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่งเป็นคลื่นลูกใหม่ที่จะเข้ามาซ้ำเติม

“สินค้าที่แพงและนำมาสู่ปัญหาเงินเฟ้อสัญญาณนี้รับรู้ล่วงหน้ากันแล้วเพราะหลังโควิด-19 ดีขึ้น หลายประเทศก็ฟื้นตัวทำให้ความต้องการน้ำมัน สินค้าเพิ่ม แต่ที่ผ่านมาการผลิตลดลงเพราะโควิด-19 จึงทำให้เกิดภาวะขาดแคลนหรือตึงตัวโดยเฉพาะน้ำมัน โดยสหรัฐฯ เงินเฟ้อสูงสุดรอบ 40 ปีอยู่ที่ 7% ของไทยก็เช่นกันเงินเฟ้อเราเคยอยู่เฉลี่ย 1% ล่าสุดขึ้นไป 2.7% แต่หากหักราคาน้ำมันและอาหารออกเหลือแค่ 0.29% ดังนั้นสิ่งที่รัฐต้องเร่งแก้ระยะสั้นคือดูแลราคาน้ำมันและค่าอาหารที่แพง” นายเกรียงไกรกล่าว

ทั้งนี้ ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคสมาชิก ส.อ.ท. 45 กลุ่มพร้อมที่จะช่วยเหลือประชาชนโดยการบริหารสินค้าสต๊อกเก่าที่มีอยู่ในการตรึงราคาซึ่งเฉลี่ยจะอยู่ได้อีกราว 5-6 เดือน หากระดับต้นทุนต่างๆ ยังคงสูงขึ้นจากนั้นก็จำเป็นต้องปรับราคาบ้างเพื่อให้ทุกส่วนอยู่รอด อย่างไรก็ตาม ในแง่ของอาหารที่มีราคาแพงจากวัตถุดิบที่สูง เช่น หมู ไก่ ไข่ และอื่นๆ รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรควบคุมให้เหมาะสม โดยเฉพาะกรณีหมูที่มีการระบุถึงการเอาเปรียบจากพ่อค้าคนกลางต้องเร่งตรวจสอบและแก้ไขให้ได้ในทุกสินค้าที่มีกระบวนการกักตุน

ส่วนราคาน้ำมันไทยเป็นผู้นำเข้าหลักเลี่ยงยากที่จะไม่มีผลกระทบ แต่รัฐมีมาตรการดูแลดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ขณะที่กลุ่มเบนซินยังขึ้นต่อเนื่องหากน้ำมันโลกขยับสูงมากรัฐควรมองกลไกอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น การปรับลดภาษีน้ำมันฯ การตรึงค่าไฟฟ้า ฯลฯ เพื่อลดค่าครองชีพ รวมไปถึงการกระตุ้นแรงซื้อ ซึ่งกรณีรัฐจะเร่งโครงการคนละครึ่งเฟส 4 ให้เร็วขึ้นมาอยู่ในช่วงกลาง ก.พ.นี้จากเดิมกำหนด 1 มี.ค. และเพิ่มวงเงินให้มากกว่า 1,500 บาทเป็นเรื่องที่ดีแต่จะช่วยแก้ไขแค่ระยะสั้น จำเป็นต้องหามาตรการระยะกลางและยาวไว้เพื่อความมั่นคง

โดยเฉพาะด้านพลังงานที่ต้องเร่งส่งเสริมหาพลังงานทดแทนให้มากขึ้นที่ไม่เพียงลดการพึ่งพิงต่างประเทศ หากแต่ยังเตรียมรับมือกติกาโลกที่มุ่งสู่เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เพื่อลดโลกร้อนที่เป็นเทรนด์ของโลก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าจะกลายเป็นคลื่นระลอกใหม่และใหญ่สุดที่รอวันเปลี่ยนแปลง หากปรับตัวไม่ทันจะกระทบเศรษฐกิจอย่างมากเช่นกัน

“ปีนี้เงินเฟ้อจะเกิดขึ้นทั่วโลกจากการฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด-19 และไทยก็อาจเผชิญภาวะเงินเฟ้อและเงินฝืดพร้อมกันหรือ Stagflation จำเป็นต้องหากลไกดูแลอย่างเป็นระบบ เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ก็ส่งสัญญาณแก้เงินเฟ้อด้วยการขยับขึ้นดอกเบี้ยปีนี้อย่างน้อย 3 ครั้ง ที่สุดไทยเองก็จะหนีไม่พ้นเพื่อสกัดเงินไหลออกทุกฝ่ายจึงต้องเตรียมตัวรับมือ” นายเกรียงไกรกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น