xs
xsm
sm
md
lg

เทรนด์ไอทีปี 2022 มุ่งแก้ปัญหาโลกร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



จากสัญญาณของภาวะโลกร้อนที่ส่งผลออกมาเป็นสภาพอากาศให้ได้รับรู้กันว่าอุณหภูมิในช่วงปี 2021 ปรับเพิ่มขึ้นในแต่ละปีถึง 1.5 องศา เมื่อเทียบกับต่ำกว่า 1 องศาในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นถึงผลกระทบที่รุนแรงมากขึ้นจากสภาพภูมิอากาศ
​ขณะเดียวกัน ผลการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 (COP26) และรายงานฉบับล่าสุดว่าด้วยสถานะของวิกฤตภูมิอากาศโดยการประเมินของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ที่ไม่สู้ดีนักโดยระบุว่า สภาวะโลกร้อนจะ “เลวร้ายลง”

​ส่งผลให้ทางศูนย์วิจัยเทเลนอร์ ได้ทำการศึกษาถึงเมกะเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ ที่แต่ละเทคโนโลยีต่างแสดงให้เห็นว่าทุกฝ่ายกำลังคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และหวังว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่เข้าช่วยเปลี่ยนผ่านในลักษณะของอัตราเร่งช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจะกลายเป็นส่วนช่วยให้โลกเย็นขึ้นด้วย

​บียอน ทาล เเซนเบิร์ก ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทเลนอร์ ระบุว่า ผู้คนทั่วโลกต่างตื่นตัวกับสถานการณ์โลกร้อนที่เลวร้ายลงและต้องการหาทางออกให้สภาพอันเลวร้าย แต่ในมุมมองของเทเลนอร์ สิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจถึงบทบาทของเทคโนโลยีทั้งในแง่ผลกระทบด้วยตัวมันเอง และการใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาทางสิ่งแวดล้อมนั้นด้วย

​“ทุกธุรกิจต้องเริ่มหันมามองแล้วว่า รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ทำอยู่ในปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางด้านใดบ้าง และเริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบให้คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อย่างการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าไปช่วย การจัดการแบบใหม่ หรือแม้กระทั่งการเปลี่ยนคู่ค้าที่ทำงานร่วมกันเพื่อช่วยลดรอยเท้าทางคาร์บอนให้ได้มากที่สุด”

​นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ยังกระตุ้นให้ภาครัฐหันมาให้ความใส่ใจกับการออกกฎหมายเกี่ยวกับการใช้พลังงาน เพื่อให้องค์กรธุรกิจเร่งปรับตัวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างการนำสิทธิประโยชน์ทางภาษีมากระตุ้นให้เกิดการลงทุน หรือการเพิ่มค่าใช้จ่ายในกรณีที่มีการใช้พลังงานสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจต้องหันมาใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินงาน


สำหรับรายงานเทรนด์เทคโนโลยีของศูนย์วิจัยเทเลนอร์ในปีนี้จะเน้นไปที่การคาดการณ์ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่จะช่วยให้โลกสีเขียวได้อย่างยั่งยืน รวมถึงเป้าหมายของเทเลนอร์ กับการลดปริมาณการสร้างก๊าซคาร์บอนจากการดำเนินงานในภูมิภาคเอเชียให้ได้ 50% ภายในปี 2030

***มุ่งลดการใช้พลังงาน-สร้างความยั่งยืนให้ธุรกิจ


สิ่งที่เกิดขึ้นในยุคที่ข้อมูลปริมาณมหาศาลถูกส่งขึ้นไปคำนวณ และวิเคราะห์บนคลาวด์ หรือดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อประมวลผลออกมาเป็นสิ่งที่ผู้ใช้งานต้องการ หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้กับการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วในอัตราเร่ง ได้กลายมาเป็นเทรนด์แรกของปีนี้ ด้วยการที่ต้องคำนึงถึง 1.ลดการใช้พลังงานคลาวด์ (Green Clouds) โดยจากข้อมูลของหน่วยงานสำรวจการใช้พลังงานพบว่าในปี 2020 ดาต้าเซ็นเตอร์ทั่วโลกมีการใช้พลังงานคิดเป็นสัดส่วนราว 1% ของการใช้ไฟฟ้าทั่วโลก ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่ค่อนข้างสูง และแน่นอนว่าจะมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

​อย่างไรก็ตาม เทรนด์ของการใช้งานดาต้าเซ็นเตอร์ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้คือการหันมาใช้งาน Edge Computing หรือการประมวลผลข้อมูลระหว่างต้นทางและปลายทางที่ใกล้กันมากขึ้น เช่น การตั้งดาต้าเซ็นเตอร์ในระดับท้องถิ่น หรือภูมิภาค เพื่อให้การส่งต่อข้อมูลหากันทำได้รวดเร็วขึ้น และขณะเดียวกัน ก็ประหยัดพลังงานมากขึ้นด้วย ตัวแปรอย่างหนึ่งที่มาช่วยให้การทำงานของ Edge Computing มีประสิทธิภาพมากขึ้น คือการขยายตัวของเครือข่าย 5G ที่จะช่วยให้สามารถส่งข้อมูลไปประมวลผลที่ดาต้าเซ็นเตอร์ย่อยได้รวดเร็วขึ้น และยังเปิดโอกาสให้เลือกใช้พลังงานที่ผลิตขึ้นได้หลากหลาย อย่างเช่น การนำพลังงานลม พลังงานความร้อนส่วนเกินมาใช้

​แซนเบิร์ก เชื่อว่า ประสิทธิภาพการใช้พลังงานของดาต้าเซ็นเตอร์ด้วยระบบ Edge บนเครือข่าย 5G จะได้รับความนิยมขึ้นรวดเร็ว และการใช้พลังงานในส่วนของดาต้าเซ็นเตอร์จะมีประสิทธิภาพขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ


เทรนด์ถัดมา 2.การให้ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ที่องค์กรต้องเพิ่มทักษะให้แก่พนักงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ รวมถึงนโยบายและกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เคร่งครัดขึ้น เพื่อให้ผู้คน ธุรกิจ และสังคม สามารถปรับตัวและเรียนรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน

​ความน่าสนใจก็คือ ด้วยเทคโนโลยีที่มีในปัจจุบันทำให้เกิดแพลตฟอร์มและเว็บไซต์การเรียนรู้ต่างๆ มากมายให้เข้าไปหา ความรู้ไม่ว่าจะเป็น Coursera,LinkedIn Learning, Udacity และ Khan Academy ซึ่งหลักสูตรเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ก็มีเพิ่มมากขึ้น และเมื่อเรียนจบแล้วจะได้รับประกาศนียบัตรเพิ่มเติมด้วย

​“หลายๆ บริษัทจะหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะและความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มของโลกธุรกิจที่ต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วและตอบสนองกับความต้องการของพนักงานในองค์กรผ่านคอร์สความรู้สั้นๆ ที่เรียกว่า Micro-degree ซึ่งหากบริษัทหรือองค์กรใดไม่สามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้จะทำให้องค์กรนั้นไม่ดึงดูดคนเก่งใหม่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้”


เทรนด์ที่ 3.ประสิทธิภาพด้านพลังงานของอุปกรณ์ไฟฟ้าสูงขึ้น ในช่วงปีที่ผ่านมา จากปัญหาการขาดแคลนชิปเซ็ตได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในอีกมุมหนึ่งทำให้บรรดาผู้ผลิตชิปเซ็ตเริ่มหันมาทบทวนถึงกระบวนการในการพัฒนาชิปเซ็ตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น แต่ใช้งานพลังงานต่ำลง

​“ปัจจุบัน อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามีจำนวนมากกว่าประชากรโลกถึง 4 เท่า และมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างมากในอนาคต ดังนั้น ในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานจำเป็นต้องใช้ประโยชน์จากทุกเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสิทธิภาพการใช้พลังงานของอุปกรณ์ที่มีอยู่”

​หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจคือ การแข่งขันในธุรกิจผู้ผลิตชิปเซ็ต ที่แต่เดิมอินเทล (Intel) และเอเอ็มดี (AMD) ถือเป็นผู้นำในตลาดนี้ แต่จากการที่แอปเปิล (Apple) หันมาพัฒนาชิปเซ็ต Apple Silicon เริ่มจาก Apple M1 ออกสู่ตลาด ได้เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบของการวัดประสิทธิภาพของหน่วยประมวลผลได้อย่างน่าสนใจ

​โดยหลังจากที่แอปเปิลเปิดตัวทั้ง Apple M1 ตามมาด้วย M1 Pro และ M1 Max ได้ออกมาเคลมว่า เมื่อเทียบประสิทธิภาพต่อพลังงาน คอมพิวเตอร์ที่ใช้ชิปเซ็ตของแอปเปิลจะให้ประสิทธิภาพในการประมวลผลแรงที่สุดในปัจจุบัน และถือเป็นผลดีต่อการใช้งานของผู้ใช้ที่ได้อุปกรณ์พกพาที่ประหยัดแบตเตอรี่มากขึ้น ใช้งานได้ยาวนานขึ้น

​นอกเหนือจากแอปเปิล ในกลุ่มของผู้ผลิตสมาร์ทโฟนและอุปกรณ์พกพาก็เริ่มเห็นถึงเทรนด์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ว่าจะเป็นหัวเว่ย ซัมซุง หรือแม้แต่ออปโป้ ที่เริ่มหันมาพัฒนาชิปเซ็ตเฉพาะทาง เพื่อช่วยให้อุปกรณ์มีประสิทธิภาพสูงขึ้น และใช้พลังงานลดลง และเป็นหนึ่งในเทรนด์การลงทุนเพื่อวิจัยและพัฒนาที่ช่วยเหลือสิ่งแวดล้อมไปในตัว

***สื่อสารด้วยแนวทางรักษ์โลก


เทรนด์ที่ 4.จะเกี่ยวข้องกับการใช้งานโซเชียล มีเดียเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงสังคม โดยเฉพาะด้านการสร้างการรับรู้ด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะกลายเป็นประเด็นหลักในการสื่อสาร เพื่อเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่อย่าง Gen Z ที่ให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพราะจะเป็นโลกที่พวกเขาต้องเผชิญในอนาคต

​ดังนั้น บรรดากลุ่มผู้นำทางความคิด หรืออินฟลูเอนเซอร์ในสายต่างๆ ทั้งแฟชัน บิวตี้ หรือสุขภาพ จะหันมาสื่อสารเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มคนดู หรือผู้ชมรุ่นใหม่ ผสมผสานไปกับกลุ่ม Greenfluencer ที่เดิมให้ความรู้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ก็จะมีจำนวนผู้ติดตามเพิ่มขึ้น

​แซนเบิร์ก ยังชี้ให้เห็นว่าในกรณีที่อินฟลูเอนเซอร์ผลิตเนื้อหาโดยหลีกเลี่ยงประเด็นทางสิ่งแวดล้อม หรือไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมจะถูกมองว่าล้าสมัยและบรรดาแฟนๆ จะเข้าหาและติดตามอินฟลูเอนเซอร์ที่มุ่งสร้างการรับรู้แนวรักษ์โลก เช่นเดียวกับนักการตลาดที่จะเปลี่ยนไปในทิศทางเดียวกัน 

***ใส่ใจพนักงานรุ่นใหม่ให้มากขึ้น



อีกปรากฏการณ์ที่กลายมาเป็นเทรนด์ที่ 5 คือปัญหาการขาดแคลนพนักงาน เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ทั่วโลกและองค์กรธุรกิจเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานสู่การทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) ที่แม้ว่าจะมีผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เพราะปริมาณการเดินทางลดลง ช่วยให้สภาพอากาศดีขึ้น แต่ในมุมกลับกันพนักงานรุ่นใหม่กลับเผชิญกับความยากลำบากในการเรียนรู้วัฒนธรรมองค์กร หรือการทำความรู้จักกับสังคมในองค์กรธุรกิจส่งผลให้เกิดรายงานอย่าง “การลาออกระลอกใหญ่” (Great Resignation)

​แซนเบิร์ก กล่าวต่อว่า ผลกระทบจากความเหลื่อมล้ำของคนทำงานในยุคโควิด-19 หลายบริษัทหลายองค์กรจะประสบปัญหากับการไหลออกของคนรุ่นใหม่ที่แม้แต่การเตรียมความพร้อม (On-boarding) ก็ยังไม่เคยได้รับ เว้นเสียแต่องค์กรจะมีผู้นำที่ดีโดยจากการสำรวจพบว่ากว่า 40% ของพนักงานใหม่ มีแผนที่จะลาออก หรือหางานใหม่

​ศูนย์วิจัยเทเลนอร์ จึงได้รวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ และจะช่วยให้องค์กรนำพาคนรุ่นใหม่เปลี่ยนผ่านสู่อนาคตแห่งโลกการทำงาน คือเริ่มจากการจัดกิจกรรมที่ทำให้คนในแต่ละรุ่นขององค์กรมาร่วมกันพูดคุย อภิปราย แลกเปลี่ยน ขณะเดียวกัน ต้องกำหนดหน้าที่ของหัวหน้างานในแง่ของการเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำและการปรึกษาอย่างชัดเจน สุดท้ายคือให้คุณค่าและชื่นชมพนักงานอย่างเปิดเผย พร้อมมอบโอกาสและพื้นที่ให้พวกเขาได้กล่าวถึงความรู้สึก

***กลุ่มเทเลนอร์ กับภารกิจลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ

​ในมุมของเทเลนอร์ที่เป็นผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีดาต้าเซ็นเตอร์ และสถานีฐานจำนวนมาก จึงได้เริ่มแผนที่จะปรับรูปแบบการดำเนินงานเพื่อลดรอยเท้าทางคาร์บอน โดยมีเป้าหมายเบื้องต้นว่าจะลดการปล่อยปริมาณคาร์บอนในภูมิภาคเอเชียให้ได้ 50% ภายในปี 2030

​ผ่านแนวทางในการนำพลังงานธรรมชาติมาใช้งาน ร่วมกับการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วยให้ผู้ประกอบการ และธุรกิจสามารถร่วมกันแก้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับโลกใบนี้ได้ ไล่ตั้งแต่ในส่วนของการใช้พลังงานในสถานีฐาน ที่จะเปลี่ยนจากการใช้พลังงานดีเซลในการปั่นไฟ มาใช้พลังงานแสงอาทิตย์แทน รวมถึงการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาช่วยวิเคราะห์ปริมาณการใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์ เพื่อลดการใช้พลังงานในบางสถานีฐาน ในบางช่วงเวลาที่มีการใช้งานน้อย ซึ่งจะช่วยลดการใช้พลังงานได้

​นอกจากนี้ การนำ 5G เข้าไปใช้งานกับภาคธุรกิจต่างๆ จะกลายเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้สามารถควบคุมการใช้พลังงานได้อย่างน่าสนใจ ทั้งการบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าภายในอาคาร โรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ จนถึงนำไปประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ อย่างภาคการขนส่ง ที่เมื่อโครงข่าย 5G ครอบคลุม สามารถนำไปใช้ในการคำนวณการเดินทางของรถบรรทุกให้ประหยัดพลังงานมากที่สุดรวมถึงการทำงานร่วมกับซัปพลายเออร์ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น