ปี 2565 เป็นปีที่อุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายผงกหัวฟื้นตัวดีขึ้นมาได้หลังจากประสบปัญหาราคาตกต่ำมาตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมาจากปริมาณอ้อยที่ลดลงจากภัยแล้ง ทำให้เกิดการแย่งอ้อยกันเนื่องจากปริมาณอ้อยไม่สมดุลกับโรงงานน้ำตาลมีมากถึง 57 โรง รวมทั้งราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกเองก็ลดต่ำลงเหลือ 12-13 เซ็นต์ต่อปอนด์
แต่ในปีนี้ไทยมีปริมาณอ้อยเข้าหีบในฤดูการผลิตปี 2564/65 ของ 57 โรงงานตั้งแต่วันที่ 7 ธ.ค. 2564 จนถึงมีนาคม 2565 อยู่ที่ประมาณ 85-90 ล้านตันเนื่องจากปริมาณฝนที่ตกมาต่อเนื่องทำให้ผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะผลิตน้ำตาลทรายได้ 9-10 ล้านตัน สูงกว่าฤดูหีบปี 2563/64 ที่ผลผลิตอ้อยอยู่ที่ 66-67 ล้านตัน คิดเป็นน้ำตาลทรายเพียง 7.6 ล้านตันต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทำให้ภาพรวมโรงงานน้ำตาลทรายในปี 2565 สามารถกลับมาใช้อัตรากำลังการผลิตได้มากขึ้น
กอปรกับราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกมีสัญญาณที่ดีเฉลี่ยอยู่ที่ 19-20 เซ็นต์ต่อปอนด์ต่อเนื่องไปถึงฤดูหีบปี 2565/66 เลยทีเดียว
นายชลัช ชินธรรมมิตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) (KSL) กล่าวว่า ในฤดูการผลิตปี 2564/65 พบว่ามีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้น 25-30% เมื่อเทียบจากปีก่อน จากผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้นนี้เองทำให้บริษัทมีกากน้ำตาล (โมลาส) เพิ่มขึ้นเพื่อไปผลิตเอทานอลที่ใช้ผสมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์ รวมทั้งกากอ้อยที่ได้จากกระบวนการผลิตเพียงพอที่จะใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งบริษัทมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 260-270 เมกะวัตต์ ส่วนใหญ่ใช้ภายในโรงงานและส่วนหนึ่งจำหน่ายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ราว 45-50 เมกะวัตต์ตามสัญญาซื้อขายไฟ ช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานลง
ในปีนี้ไม่อาจกล่าวว่าเป็นปีทองของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย เพราะช่วง 2 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายถือว่าตกต่ำแบบสุดๆ แต่ช่วงการเปิดหีบอ้อยปี 2564/2565 นี้ถือว่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากปีที่แล้วมีปริมาณฝนที่สม่ำเสมอ ทำให้มีอ้อยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้โรงงานน้ำตาลต่างมีอ้อยเพียงพอในการผลิต และราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกเองก็ปรับเพิ่มสูงขึ้นด้วย เชื่อว่าสถานการณ์นี้จะดีต่อเนื่องเช่นนี้ไปอีก 2-3 ปีข้างหน้า
ดังนั้น ผลการดำเนินงานของ KSL ในปี 2565 บริษัทตั้งเป้าเติบโตขึ้น 30-40% จากงวดปี 2564 (ต.ค. 63-ก.ย. 64) ที่มีรายได้รวม 10,755 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 615 ล้านบาท มาจากปริมาณอ้อยที่เข้าหีบเพิ่มขึ้นราว 30% จากปีก่อน ทำให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยลดลง ขณะที่ราคาน้ำตาลทรายดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่เนื่องจากน้ำตาลทรายส่วนใหญ่ 70% ส่งออกต่างประเทศ ทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีส่วนสำคัญต่อผลประกอบการบริษัทฯ
BBGI ขายหุ้น IPO ไตรมาส 1 นี้
นอกจากนี้ บริษัทร่วมทุน คือ บมจ.บีบีจีไอ (BBGI) มีแผนจะขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนให้ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 433.20 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 2.50 บาท หรือไม่เกิน 30% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและจำหน่ายได้แล้วทั้งหมด ซึ่งหุ้น BBGI คาดเข้าเทรดใน SET ช่วงเดือนมีนาคม 2565
ปัจจุบัน BBGI มีทุนจดทะเบียน 3,615.00 ล้านบาท แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,446.00 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) หุ้นละ 2.50 บาท โดยมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วทั้งสิ้น 2,532.00 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1,012.80 ล้านหุ้น
นายชลัชกล่าวว่า BBGI เป็นการร่วมทุนระหว่าง KSL ถือหุ้น 40% กับ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น (BCP) ถือหุ้น 60% เพื่อทำธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-Based) สอดรับเทรนด์โลกที่ใช้พืชผลทางการเกษตรสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเบื้องต้นดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงชีวภาพทั้งเอทานอล และไบโอดีเซล
จนปัจจุบัน BBGI เป็น Flagship ของกลุ่มบางจากและ KSL ที่ดำเนินธุรกิจพลังงานเชื้อเพลิงชีวภาพ และธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูงที่ส่งเสริมสุขภาพ โดยมีธุรกิจหลัก คือธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (Bio-based Products) ประเภทผลิตภัณฑ์เชื้อเพลิงชีวภาพ ได้แก่ ไบโอดีเซล กลีเซอรีนบริสุทธิ์เกรดอาหารและยา เอทานอล แอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อเกรดเภสัชกรรม และธุรกิจอื่นๆ คือธุรกิจผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูง (HVP) ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดูแลและส่งเสริมสุขภาพ (Health and Well-Being) ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงโดยจดสิทธิบัตรหรือได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่ง BBGI เป็นเจ้าของหรือได้รับสิทธิบัตรดังกล่าว
ปัจจุบัน BBGI มีโรงงานผลิตไบโอดีเซลตั้งอยู่ที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กำลังการผลิตรวม 1,000,000 ลิตรต่อวัน เพื่อจำหน่ายแก่ผู้ค้าน้ำมันรายใหญ่ มีโรงงานผลิตเอทานอลทั้งหมด 3 แห่ง ตั้งอยู่ในจังหวัดขอนแก่น กาญจนบุรี และ ฉะเชิงเทรา กำลังการผลิตรวมสำหรับเอทานอลทั้งหมด 600,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขยายกำลังการผลิตเอทานอลเพิ่มอีก 200,000 ลิตรต่อวัน เพื่อส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานเชื้อเพลิงให้แก่ประเทศ
สำหรับเงินที่ได้จากการขายหุ้น IPO นั้น ทาง BBGI จะนำไปลงทุนขยายกิจการ และลงทุนในโครงการในอนาคตของกลุ่มบริษัทฯ รวมถึงกระบวนการพัฒนา ปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินการ ของกลุ่มบริษัทฯ และบริษัทย่อย ส่วนที่เหลือจะใช้ชำระคืนเงินกู้ยืมให้กับสถาบันการเงินและชำระคืนหุ้นกู้ของกลุ่มบริษัทฯ รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงาน
ขณะนี้ BBGI มีหลายโครงการที่อยู่ระหว่างศึกษาและพัฒนาก่อนตัดสินใจลงทุน โดย BBGI ได้ร่วมกับพันธมิตรอย่าง Manus Bio Inc. เป็นสตาร์ทอัพมีความเชี่ยวชาญด้านผลิตภัณฑ์ชีวภาพมูลค่าสูงจากสหรัฐฯ หลังจากที่ BBGI เป็นผู้ถือหุ้นจากการเข้าหุ้นเพิ่มทุนในบริษัท Manus Bio Inc. (Manus Bio) ด้วยเงินลงทุนกว่า 800 ล้านบาทเมื่อเดือนตุลาคม 2563
ซึ่ง BBGI คาดหวังว่าจะนำนวัตกรรมจาก Manus Bio ที่จดลิขสิทธิ์มาลงทุนในไทยในอนาคต เช่น สารให้ความหวานจากธรรมชาติ สารปรุงแต่งสี กลิ่น รสจากธรรมชาติ วัตถุดิบชีวภาพสำหรับใช้ในการผลิตเครื่องสำอาง รวมถึงวัตถุดิบชีวภาพสำหรับใช้ในการผลิตยาหรือชีวเภสัชภัณฑ์ เป็นต้น โดยอาศัยที่ไทยมีความได้เปรียบเรื่องวัตถุดิบ คือ น้ำตาล ซึ่ง KSL พร้อมที่จะสนับสนุนโครงการ แต่ทั้งนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องพิจารณาประกอบการตัดสินใจด้วย โดยเฉพาะกฎระเบียบจากหน่วยงานรัฐ เป็นต้น
ดังนั้น BBGI เพิ่มทุนจะทำให้มีเงินทุนที่จะใช้ขยายธุรกิจใหม่แต่ก็ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่าโครงการที่ตัดสินใจลงทุนต้องมีตลาดรองรับเพื่อให้ธุรกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งในปี 2564 กลุ่มบริษัทฯ ได้เริ่มนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่มีมูลค่าสูงที่ดูแลและส่งเสริมสุขภาพ
KTIS ชี้ปี 65 ทุกธุรกิจโต เหตุปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่ม
ด้านบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (KTIS) เป็นอีกบริษัทที่เล็งเห็นโอกาสในการขยายธุรกิจต่อยอดอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ไม่ว่าจะเป็นการนำชานอ้อยมาผลิตเป็นเยื่อกระดาษเพื่อผลิตภาชนะและหลอดรักษ์โลก สอดรับกับเทรนด์รณรงค์การเลิกใช้ภาชนะจากโฟมและหลอดพลาสติก
นายประพันธ์ ศิริวิริยะกุล กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS กล่าวว่า จากการประเมินผลผลิตอ้อยของกลุ่ม KTIS สำหรับฤดูการผลิตปี 2564/2565 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบเพิ่มขึ้นจากปีก่อนไม่น้อยกว่า 20% ส่งผลดีต่อทุกสายธุรกิจทั้งการผลิตและจำหน่ายน้ำตาล เอทานอล ไฟฟ้า และเยื่อกระดาษจากชานอ้อยเพิ่มขึ้น รวมทั้งสถานการณ์โควิดคลี่คลายทำให้ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้นจากกิจกรรมเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว ส่งผลให้บริษัทมีรายได้มากขึ้นกว่าปี 2564 อย่างแน่นอน
ในปี 2565 KTIS จะเริ่มรับรู้รายได้จากโครงการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย ซึ่งมีกำลังการผลิตสูงถึง 50 ตันต่อวัน หรือ 3 ล้านชิ้นต่อวัน โดยมีเครื่องจักร 50 เครื่อง ที่สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์ออกสู่ตลาดได้หลากหลายรูปแบบ เช่น จาน ชาม กล่อง ถาดหลุม เป็นต้น รวมไปถึงการผลิตและจำหน่ายหลอดชานอ้อยแบรนด์ cherr BY KTIS ที่ได้รับการตอบรับจากตลาดเป็นอย่างดี
นอกจากนี้ ยังรับรู้รายได้เพิ่มเติมจากโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) เฟส 1 ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท จีจีซี เคทิสไบโออินดัสเทรียล จำกัด หรือ GKBI ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง KTIS กับบริษัทโกลบอล กรีนเคมิคอล จำกัด (มหาชน) (GGC) ซึ่งมีโรงงานผลิตเอทานอลจากน้ำอ้อย กำลังการผลิต 6 แสนลิตรต่อวัน และโรงไฟฟ้า 3 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 85 เมกะวัตต์
ล่าสุด บริษัท เนเชอร์เวิร์คส์ เอเชีย แปซิฟิก จำกัด ในเครือเนเชอร์เวิร์คส์ สหรัฐอเมริกา ตัดสินใจลงทุนโครงการลงทุนผลิตโพลีแลคติค แอซิด (Polylactic Acid : PLA) กำลังผลิต 7.5 หมื่นตัน/ปีในไทย ซึ่ง PLA เป็นพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ โดยจะตั้งโรงงานบนพื้นที่โครงการนครสวรรค์ ไบโอคอมเพล็กซ์ เฟส 2 ซึ่งจะเป็นโอกาสที่ดีในการเป็นพันธมิตรเพื่อป้อนวัตถุดิบและอาจร่วมทุนในโครงการดังกล่าวในอนาคต ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมพื้นที่และระบบสาธารณูปโภคทั้งน้ำและไฟฟ้าจากไบโอแมสเพื่อรองรับโครงการผลิต PLA ที่คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2565
ขณะเดียวกัน เทรนด์การใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต บริษัทศึกษาต่อยอดธุรกิจเอทานอลจากเดิมเน้นผลิตเกรดที่ใช้ผสมในน้ำมันเบนซิน โดยสามารถพัฒนาไปใช้ในการผลิตเครื่องสำอางและทำแอลกอฮอล์เจล เพื่อสร้างรายได้ให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืน ลดความผันผวนจากธุรกิจหลักในอนาคต