xs
xsm
sm
md
lg

Web3.0 อนาคตของอินเทอร์เนตแบบไร้ตัวกลาง / นเรศ เหล่าพรรณราย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



Web3.0 หรืออินเทอร์เนตในยุคที่สาม กำลังจะเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกคริปโตที่น่าจะขึ้นมาเป็นกระแสหลักได้ภายในปี 2022 นี้ ต่อเนื่องจาก DeFi และ NFT และอาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้คริปโตเข้าสู่โลกกระแสหลักหรือ Mass Adoption อย่างเต็มตัว

ก่อนจะไปทำความรู้จักกับ Web3.0 เราไปดูอินเทอร์เนตในยุคแรกกับยุคปัจจุบันกันก่อน โดยอินเทอร์เนตในยุคแรกหรือ 1.0 ซึ่งเกิดขึ้นประมาณกลางยุค 90 รูปแบบการใช้งานจะเป็นการสื่อสารทางเดียว (One Way Communication) เช่น ถ้าต้องการทราบผลการแข่งขันบาสเก็ตบอลเอ็นบีเอก็เข้าไปที่ www.NBA.com หรือถ้าต้องการสืบค้นข้อมูลก็เข้าไปที่ yahoo.com หรือ Google

มาถึงอินเทอร์เนตยุคสองซึ่งเริ่มต้นมาตั้งแต่ยุค 2000 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันเป็นยุคของแพลตฟอร์มซึ่งเริ่มจะมีการสื่อสารทองทางและมีฟีเจอร์ต่างๆที่หลากหลายขึ้นเช่นสามารถชำระเงินผ่านเวบไซต์ได้ สามารถสั่งจองสินค้าและบริการผ่านเวบไซต์ได้หรือจะมี Mobile Application ต่างๆ

พระเอกในยุค Web2.0 ก็คือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆไม่ว่าจะเป็น Facebook,Youtube,Tiktok ฯลฯ ทำให้คนทั้งโลกเข้าถึงอินเทอร์เนตกันมากขึ้น จนเรียกได้ว่าเข้าถึงแทบจะทุกพื้นที่บนโลกแล้ว

แต่ Web3.0 หรืออินเทอร์เนตในยุคที่สาม คอนเซบท์จะเปลี่ยนไปเป็นเรื่องของการกระจายศูนย์หรือ Decentralized หรือตั้งอยู่บนหลักการของ Ownership หรือผู้ใช้งานสามารถเป็นเจ้าของทรัพย์สินบนโลกออนไลน์เป็นของตัวเอง

กล่าวคือเป็นการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนตลอดจน Cryptocurrency,Digital Token รวมถึง DeFi และ NFT เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของอินเทอร์เนตนั่นเอง

Web3.0 ที่กำลังเป็นกระแสในตอนนี้ก็คือ Metaverse แต่การจะพัฒนาโลกเสมือนจริงให้มีความสมบูรณ์แบบอาจจะต้องใช้ระยะเวลาหลายปี เนื่องจากนักพัฒนาคอนเทนท์และฮาร์ดแวร์จะต้องเติบโตไปด้วยกัน

แต่ Web3.0 ไม่ได้จำกัดแค่จะต้องเป็น Metaverse แต่เพียงแค่เวบไซต์ปกติ แอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนก็สามารถพัฒนาให้เป็น Web3.0 ได้แล้ว โดยไม่จำเป็นต้องมีกราฟฟิคอลังการ

อธิบายให้เห็นภาพง่ายๆคือในโลกของ Web2.0 เจ้าของแพลตฟอร์มคือผู้ที่ควบคุมดูแลจัดการทุกอย่าง เช่น Facebook มีสิทธิที่จะแบนเนื้อหาต่างๆ ปิดกั้นการเข้าถึง ตลอดจนเข้ามาควบคุมเนื้อหาภายในแพลตฟอร์มได้ด้วยตัวเอง หากเจ้าของแพลตฟอร์มต้องการที่จะกำจัดเราออกไปก็สามารถทำได้

ขณะที่ Content ต่างๆที่เราสร้างขึ้นใน Facebook จะไม่สามารถนำออกไปนอกแพลตฟอร์มได้และถ้า Facebook แบนบัญชีของเราโอกาสที่จะได้สิ่งที่สร้างไว้คืนมาแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

แต่ Web3.0 จะทำให้เกิดสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่ได้มีจุดรวมศูนย์กลางอีกต่อไป แต่คนในชุมชนจะทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจสอบซึ่งกันและกัน เหมือนกับ DeFi หรือการเงินไร้ตัวกลางที่เปิดให้ผู้ใช้งานเข้ามามีส่วนร่วมในธุรกรรมต่างๆได้ นอกจากนี้ผู้ใช้งานมีสิทธิที่จะเป็นเจ้าของสินทรัพย์บนโลกดิจิทัลของตัวเองผ่านการแปลงให้เป็น NFT ซึ่งสามารถส่งต่อหรือซื้อขายกันได้อย่างอิสระ

ที่สำคัญยังมีโอกาสที่จะสร้างรายได้จากโลกออนไลน์จากการสร้างคอนเทนท์หรือสินทรัพย์ดิจิทัลโดยที่ผู้สร้างแพลตฟอร์มไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแบ่งรายได้ในระดับที่สูงเหมือนกับสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน

ปัจจุบันได้มีโปรเจกต์บล็อกเชนที่เข้ามาเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการสร้าง Web3.0 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น Flux ซึ่งวางตัวเป็น Blockchain-As-A-Service หรือผู้ให้บริการด้านซอฟท์แวร์ในการสร้างแอปพลิเคชั่นบล็อกเชนโดยไม่จำเป็นต้องเขียนโค้ดเองทั้งหมดตั้งแต่ต้น เหมือนกับผู้ให้บริการ Software-As-A-service

หรือจะเป็น Filecoin ซึ่งวางตัวเป็นผู้ให้บริการ Cloud Service ที่เราสามารถนำไฟล์ดิจิทัลเช่นเอกสาร ไฟล์ภาพ คลิปวีดีโอ ไปฝากไว้ในระบบ Cloud แต่เป็นระบบที่ผู้สร้างไม่ได้เข้ามาจัดการดูแลหรือวางตัวเป็นศูนย์กลาง ทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลของเราจะมีความปลอดภัยจากการถูกเจาะข้อมูลได้

นี่เป็นเพียงตัวอย่างคร่าวๆเท่านั้น ปีนี้เราน่าจะได้ยินเรื่องของเทคโนโลยี Web3.0 กันมากขึ้น และมีโอกาสที่จะเข้าถึงผู้ใช้งานทั่วไปได้เร็วกว่า DeFi ,NFT ตลอดจน Blockchain Games เพราะปัจจุบันนี้คนทั่วโลกคงไม่มีใครที่ไม่ได้เข้าสู่โลกอินเทอร์เนตอีกแล้ว

บทความโดย : นเรศ เหล่าพรรณราย ซีอีโอ Ricco Wealth,เลขาธิการสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น