xs
xsm
sm
md
lg

หุ้น บจ.ขายเนื้อหมูไก่คึกยาว รับราคาแพงดันผลงานพุ่ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ราคาหุ้นกลุ่มขายเนื้อหมูไก่คึก รับราคาพุ่ง เชื่อราคาจะทรงตัวในระดับนี้ไปอีกระยะ จากปริมาณความต้องการที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจในประเทศ ขณะการผลิตลดเป็นบวกกับกลุ่มฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ในประเทศ โบรกเกอร์มอง TFG รับผลดีโดยตรงของราคาหมูและไก่ในประเทศขยับ ส่วน GFPT และ BR ได้ประโยชน์จากไก่และเป็ด เป็นสินค้าทดแทนช่วงที่หมูแพง และ CPF ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ส่งผลให้รายได้และกำไรพุ่ง

จากเหตุราคาเนื้อหมูหรือสุกรแพง ส่วนหนึ่งเพราะผู้เลี้ยงแบกรับภาระต้นทุนไม่ไหว เพราะการระบาดของโรคแอฟริกันสไวน์ฟีเวอร์ (AFS) หรืออหิวาต์สุกร ที่ระบาดในไทยมานานกว่า 3 ปีแล้ว ทำให้ผู้ประกอบการรายย่อยตัดสินใจปล่อยฟาร์มร้าง ส่งผลให้หมูขาดตลาด ขณะที่ช่วงเทศกาลปีใหม่ มีความต้องการบริโภคเพิ่มสูงขึ้น กว่าปกติ และคาดว่าราคาเนื้อหมูและไก่จะยังคงยืนอยู่ได้ในระดับนี้ไปจนถึงเทศกาลตรุษจีน

ขณะผู้ประกอบการรายใหญ่ หรือบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย มีหลายบริษัทที่ผลิตและขายทั้งในประเทศและส่งออก อย่าง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด(มหาชน) หรือ CPF บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TFG บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT รวมถึง BRบริษัท บางกอกแร้นช์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเมื่อราคาปรับขึ้นจะได้อานิสงส์เต็มๆ ส่งผลถึงราคาหุ้นของบริษัทเหล่านี้คึกคักตามไปด้วย โดย ราคาหุ้น TFG หรือ บริษัท ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) คึกรับปี 2565 ด้วยราคาปิดวันแรกของปีนี้ที่ 5.10 บาท เพิ่มขึ้น 0.24 บาทหรือ 4.94% จากราคาปิดวันสุดท้าของการเทรดในปี 2564 คือ 4.86 บาท และ BRบริษัท บางกอกแร้นช์ จำกัด (มหาชน) ที่คึกคักมาต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่ผ่านมา และปิดเทรดวันแรกของปีนี้ที่ 2.98 บาท ลดลง 0.02 บาทหรือ 0.67% จากวันเทรดวันสุดท้ายของปี 2564 ที่ปิดไป 3 บาท

ส่วน GFPT หรือ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน)ก็คึกคักมาตั้งแต่ปลายปี 2564 และปิดเทรดวันแรกของปี 2565 ที่ 13.60 บาท เพิ่มขึ้น 080 บาท หรือ 6.25% ขณะปิดเทรดวันสุดท้ายปีก่อนที่ 12.80 บาท

ปิดท้ายด้วยผู้นำตลาดอย่าง CPF ราคาหุ้นปิดเทรดวันของปีที่ 27 บาท เพิ่มขึ้น 1.50 บาทหรือ 5.88% มูลค่าซื้อขาย 3,876.49 ล้านบาท

ขณะราคาหุ้นล่าสุดเมื่อวันที่ 10 มกราคมที่ผ่านมา BR ปิดที่ 3.16 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 บาทหรือ 3.27% มูลค่าซื้อขาย 172.57 ล้านบาท ส่วน GFPT ปิดที่ 14.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.50 บาทหรือ 3.65% มูลค่าซื้อขาย140.52 ล้านบาท และ TFG ปิดที่ 5.20 บาท เพิ่มขึ้น 0.26 บาทหรือ 5.26% มูลค่าซื้อขาย 109.95 ล้านบาท ปิดท้ายด้วยผู้นำตลาดอย่าง CPF ปิดที่ 27 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลงจากวันศุกร์ที่ปิดด้วยราคา 27 บาท เพิ่มขึ้น 0.25 บาท หรือ 0.93%

นั่นเพราะผู้ผลิตและจำหน่ายเนื้อหมูจะมีรายได้เพิ่มขึ้นกกว่าปกติ เพราะราคาเนื้อหมูที่พุ่งขึ้น ส่งผลไปถึงเนื้อไก่ที่พลอยขยับเพิ่มเพราะเมื่อผู้บริโภคแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว ย่อมหันไปเนื้อสัตว์ในราคาต่ำกว่าเพื่อทดแทน จึงทำให้ผู้ประกอบการหลายรายได้รับอานิสงส์โดยตรง

หุ้นกลุ่มอาหารบวก รับราคา-ขายพุ่ง

บล.หยวนต้า(ประเทศไทย) จำกัด หรือ บล.หยวนต้า ฯ ประเมินราคาหมูหน้าฟาร์มเฉลี่ย YTD2565 อยู่ที่ 100 – 115 บาท/กก. ทำระดับสูงสุดใหม่ และมีแนวโน้มจะปรับขึ้นได้อีก เนื่องจากต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้น ทำให้ปริมาณหมูในตลาดยังต่ำ สวนทางปริมาณความต้องการที่ฟื้นตัว ขณะราคาไก่และเป็ด ซึ่งเป็นโปรตีนทดแทนหมูได้ใกล้เคียงที่สุดปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดยราคาไก่หน้าฟาร์มเฉลี่ยปรับตัวขึ้นแตะระดับ 40 บาท/กก. เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ มิ.ย. 2560

บล.หยวนต้า ฯ มีมุมมองเป็นบวกต่อกลุ่มธุรกิจอาหาร แม้ราคา ต้นทุนยังอยู่ในระดับที่สูง แต่ราคาเนื้อสัตว์ปรับสูงขึ้นแรงเช่นกัน จากปริมาณความต้องการที่ฟื้นตัวตามเศรษฐกิจในประเทศ แต่ Supply ลดลง และคาดราคา จะยังทรงสูงต่อเนื่อง เป็นบวกกับกลุ่มฟาร์มเลี้ยงสัตว์ ในประเทศจากราคาขายเฉลี่ยที่สูงขึ้น คงน้ำหนักการลงทุน “มากกว่าตลาด”

ดังนั้น บล.หยวนต้า ฯ เลือก TFG เพราะเป็นผู้ประกอบการที่ได้ ประโยชน์โดยตรงจากการปรับตัวขึ้นพร้อมกันของราคาหมูและไก่ในประเทศ โดยกำลังการผลิตทั้งหมดอยู่ในประเทศ ขณะที่ในต่างประเทศเริ่มฟื้นตามการคลาย Lockdown เช่นกัน

ส่วน GFPT/ BR ได้ประโยชน์เช่นกันจากการที่ไก่ และเป็ด เป็นสินค้าทดแทนหมูในช่วงที่หมูแพง และสินค้าหา ซื้อได้ยาก ทำให้ได้ประโยชน์จากทั้งราคาขายและ ปริมาณขายเพิ่มขึ้น

ไตรมาส 4 ผลงานฟื้นถ้วนหน้า

นายกิจพล ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย)  กล่าวว่า ราคาหุ้นกลุ่ม Food ปรับตัวขึ้นได้โดดเด่น หลังจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานักลงทุนลดน้ำหนัก เพราะผิดหวังผลประกอบการ และต้นทุนอาหารสัตว์ก็ปรับตัวสูงขึ้น แต่วันนี้กลับมายืนได้ทั้งกลุ่มเป็นมองเป็นกลุ่มปลอดภัยจากแรงขาย เทียบกับกลุ่มอื่น อาทิ กลุ่มพลังงาน กลุ่มปิโตรเคมี น่าจะแย่ลง ส่วนส่งออกที่เป็นอิเล็กทรอทริกส์ก็ไม่น่าจะดีไปกว่านี้

ขณะเดียวกันราคาเนื้อสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนอาหารสัตว์ปรับตัวลลงทำให้อัตรากำไร (มาร์จิ้น) ไม่รับแรงกดดัน และแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 4/64 น่าจะฟื้นตัวจากไตรมาส 3/64 จึงเป็นเหตุผลที่วันนี้ราคาหลุ่ม Food ปรับตัวขึ้นโดดเด่นทุกตัว โดย หุ้นบมจ.ไทยฟู้ดส์ กรุ๊ป (TFG) ขึ้นมาแรงสุด ตามมาด้วย บมจ.จีเอฟพีที (GFPT) เพราะเป็นธุรกิจไม่ซับซ้อน แต่ CPF แม้เป็นบริษัทใหญ่ แต่ก็มีความซับซ้อน ซึ่งบางครั้งก็รับผลกระทบจากการลงทุนในต่างประเทศ เช่น จีน ตุรกี ทำให้คาดเดาผลประกอบการได้ยาก

อย่างไรก็ตาม คาดว่า CPF จะผ่านจุดต่ำสุดในไตรมาส 3/64 ที่ทั้งราคาเนื้อสัตว์ทั้งใน-ต่างประเทศปรับตัวลง แต่ต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น และมูลค่าสินทรัพย์ที่มีชีวิต อาทิ สุกร ไก่ ก็มีมูลค่าลดลง แต่ในไตรมาส 4/64 ผลประกอบการพลิกฟื้น และไม่จำเป็นต้องตั้งสำรองมูลค่าสินทรัพย์มีชีวิต ที่ปรับตัวเพิ่มตามราคาเนื้อสัตว์

GFPT กำไรปี 65 พุ่งเกิน 400%

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ บล.เคจีไอฯ  ประเมินว่า GFPT จะมีกำไรสุทธิ 67 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 64 ลดลง 86% จากปีก่อน แต่พลิกจากที่ขาดทุนสุทธิ 87 ล้านบาทในไตรมาส 3 ปีเดียวกัน โดยคาดว่ารายได้จะอยู่ที่ 3.7 พันล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 14% เนื่องจากการกลับมาเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งช่วยหนุนราคาไก่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเดือนธันวาคม ขณะที่การส่งออกไก่ฟื้นตัวขึ้นจากที่สะดุดไปเพราะโควิด-19 คาดว่าสัดส่วน SG&A ต่อยอดขายจะลดลงเล็กน้อยเหลือ 10.2% จาก 10.8% ในไตรมาส3 ปี64 เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 ลดลง

โดย บล.เคจีไอฯ คาดว่าราคาไก่ในประเทศจะยังคงสูงในไตรมาสแรกปี 65 เฉลี่ยอยู่ที่ 37 บาท/กก. เนื่องจากการบริโภคในประเทศฟื้นตัวขึ้น และราคาหมูที่พุ่งสูงขึ้นทำหน้าที่เป็นปัจจัยกระตุ้นอุปสงค์ไก่ให้เพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงปรับเพิ่มสมมติฐานราคาไก่ในปี 2565 เป็น 35.50 บาท/กก. จากเดิม 34.00 บาท/กก.

อย่างไรก็ดี คาดว่ากำไรสุทธิจะโตถึง 402% ในปี 65 เมื่ออิงตามสมมติฐานใหม่ข้างต้น ทำให้ปรับเพิ่มประมาณการกำไรสุทธิปี 2565F ขึ้นจากเดิมอีก 5% เป็น 1.11 พันล้านบาท ซึ่งจะโตถึง 402% เทียบปีที่ผ่านมา จากฐานที่ต่ำมากในปี 2564F โดยปัจจัยสำคัญที่จะขับเคลื่อนการเติบโตของกำไรจากรายได้ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 22% จากการขยายกำลังการผลิต และราคาไก่ที่สูงขึ้น อีกทั้ง GPM ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 8.6% ในปี 2564F เป็น 13.2% ในปี 2565F และ ส่วนแบ่งกำไรจาก JVs ที่เพิ่มขึ้น 203 ล้านบาท เป็น 430 ล้านบาท จากการที่ McKey ขยายกำลังการผลิต  ดังนั้น จากการปรับกำไรปี 2565F ขึ้น 5% ได้ปรับเพิ่มราคาเป้าหมายปี 2565F เป็น 13.50 บาท จากเดิม 12.80 บาท ขณะที่คงคำแนะนำถือหุ้น GFPT อย่างไรก็ดี ยังเป็นห่วงประเด็นการระบาดของโควิด -19 และต้นทุนอาหารสัตว์ที่แพงด้วย

ขณะที่ บล.กรุงศรีฯ แนะให้" ถือ" หุ้น GFPT เพราะคาดว่ากำไรในไตรมาส 4 ปี 64 และครึ่งแรกปี 65 จะยังคงอ่อนแอ แต่กำไรในครึ่งหลังปี 65 จะปรับตัวดีขึ้นเนื่องจาก อุปสงค์ฟื้นตัว ต้นทุนอาหาร สัตว์ลดลง เพราะอุปทานเพิ่มขึ้นจากผลผลิตรอบใหม่ และต้นทุนค่าขนส่ง ลดลง คาดว่าปัญหาความคับคั่งของการจราจรทางน้ำ ที่ท่าเรือจะลดลง ปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี FY22F ขึ้นอีก 13% เป็น 1.1 พันล้านบาท และยังคงคำแนะนำถือ โดยปรับราคาเป้าหมาย เป็น 13.10 บาท อิงจาก PER ปี FY22F ที่ 15x

แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น เมื่ออิงจากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์ ราคาไก่ในประเทศเพิ่มขึ้น 28% QTD เป็น37 บาท/กก. หนุนโดยอุปสงค์ฟื้นตัวตามการกลับมาเปิดร้านอาหาร ขณะต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้นยังคงเป็นความเสี่ยงหลัก โดยราคากากถั่วเหลืองในตลาดโลกลดลง 12% จากระดับสูงสุดของปีนี้มาอยู่ที่ USD406/ตัน แต่ราคากากถั่วเหลืองในประเทศยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 19.80 บาท/กก. (+4% QTD) เนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น และราคาข้าวโพดเพิ่มขึ้น 3%QTDเป็น 10.70 บาท/กก. คาดว่าผลประกอบการไตรมาส 4 จะดีขึ้นจากไตรมาสก่อน จากอัตรากำไรขั้นต้นเพิ่มเป็น 8-9% จาก 5.4% ในไตรมาส 3

ผลประกอบการจะยังคงอ่อนแอไปจนถึงไตรมาส 2 ปี 65 แต่คาดว่าจะดีขึ้นในครึ่งปีหลังดีขึ้น คาดว่าผลประกอบการครึ่งแรกปี 65 จะยังคงอ่อนแอเนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง เนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน และมีการใช้มาตรการป้องกันโควิด-19 ที่โรงงานของบริษัท อีกทั้งต้นทุนอาหารสัตว์แพงขึ้น และต้นทุนค่าขนส่งสูงขึ้น และคาดว่าผลประกอบการตรึ่งหลังปี 65 จะดีขึ้นเนื่องจากอุปสงค์ฟื้นตัว ต้นทุนอาหารสัตว์และต้นทุนค่าขนส่งจะลดลง คงคำแนะนำ "ถือ" และปรับเพิ่มราคาเป้าหมายเป็น 13.10 บาท (เดิม 10.90 บาท) พร้อมกับปรับเพิ่มประมาณการกำไรปี FY22F ขึ้นอีก 13% เป็น 1.1 พันล้านบาท หลังจากราคาไก่ปรับเพิ่ม และปรับเพิ่มสมมติฐานอัตรากำไรขั้นต้นปี FY22F จากเดิม 13.0% เป็น 13.5%

CPF ฟื้นแกร่ง ให้ราคาเป้าหมาย 33.50 บ.

บล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ประเมินว่าให้ “ซื้อเก็งกำไร” CPF ราคาเป้าหมาย 33.50 บาท เนื่องจากกำไรที่จะกลับมาฟื้นตัวแข็งแกร่งในปี 2565และมีมูลค่าหุ้นที่ยังคงน่าสนใจ ซึ่งอัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิ (PER) ปี 2565 อยู่ที่ 12 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาวอยู่ที่ 13.8 เท่า

ทั้งนี้ ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มในต่างจังหวัดของไทยได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างกระโดดไปแตะระดับสูงสุดใหม่ที่เกิน 100 บาทต่อกิโลกรัม ขณะเดียวกันราคาหมูมีชีวิตในกรุงเทพฯ ก็ทำสถิติใหม่สูงสุดเช่นกันที่ 102.5 บาทต่อกิโลกรัม หรือเพิ่มขึ้นมากถึง 29% ภายในระยะเวลา 1 เดือน มองว่าราคาหมูมีชีวิตที่ปรับตัวขึ้นแรงผิดปกติในครั้งนี้มาจาก 2 สาเหตุคืออุปทานหมูที่ขาดแคลน เนื่องจากการระบาดของโรคเพิร์ส หรือ PRRS (ไม่ใช่โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร หรือ AFS) ภาวะน้ำท่วม ต้นทุนอาหารสัตว์ที่ปรับตัวขึ้นอย่างก้าวกระโดดช่วงไตรมาส 3ปี 64 ส่งผลให้ผู้ประกอบการสุกรรายย่อยต้องออกจากตลาด และการบริโภคเนื้อสัตว์ที่กลับมาเติบโตแรงมากหลังจากการเปิดเมืองในเดือน พ.ย. และต่อเนื่องไปยังเทศกาลปีใหม่

ดังนั้น  จึงได้ทำการปรับประมาณการราคาหมูไทยเฉลี่ยในปี 2565 ของ CPF เพิ่มขึ้นอีก 7% และปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2565 ของ CPF เพิ่มขึ้นอีก 8% (จาก 1.72 หมื่นล้านบาท ไปเป็น 1.85 หมื่นล้านบาท) ส่งผลให้ราคาเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2565 ปรับเพิ่มขึ้นอีก 8% (ไปเป็น 33.50 บาท) ให้สังเกตว่ารายได้ของธุรกิจหมูของประเทศไทยคิดเป็น 9-10% ของรายได้รวมของ CPF และเนื่องจากระยะเวลาเลี้ยงลูกหมูที่นานถึง 6 เดือนและระยะเวลาเลี้ยงสำหรับหมูขุนคิดเป็น 9-12 เดือน จึงเชื่อว่าราคาหมูไทยจะยังคงยืนในกรอบระดับราคาที่สูง 80-90 บาทต่อกิโลกรัม ภายในปี 2565

เนื่องจากราคาหมูไทยที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นแรงมากเป็นประวัติการณ์ จึงคาดว่าจะมีผู้บริโภคบางส่วนที่จะหันมาบริโภคเนื้อไก่แทนเนื้อหมู ส่งผลให้ราคาขายไก่และวอลุ่มขายไก่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ต่อสมมติฐานราคาไก่ไทยเฉลี่ยของ CPF ซึ่งใช้ที่ 35 บาทต่อกิโลกรัม สำหรับในปี 2565 เนื่องจากราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มของไทย ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 38-40 บาทต่อกิโลกรัม จึงคาดว่าราคาไก่มีชีวิตหน้าฟาร์มของไทยมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า เนื่องจากราคาลูกเจี๊ยบปรับตัวเพิ่มขึ้นแรง 16% นับจากเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา

TFG ให้ซื้อเก็งกำไรราคา 6.10 บ.

นอกจากนี้ บล.บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ยัง มองหุ้น TFG แนะ " ซื้อเก็งกำไร" ราคาเป้าหมาย 6.10 บาท เพราะมุมมองเชิงบวกเพิ่มขึ้นเล็กน้อยต่อราคาหมูไทยเฉลี่ยและอัตรากำไรขั้นต้นสำหรับปี 2564 ถ้าเทียบกับในครั้งก่อนหน้า เนื่องจากราคาหมูไทยเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบันยังคงเพิ่มขึ้นแข็งแกร่ง ถึงแม้ว่ากำไรปี 2564 มีแนวโน้มเติบโตจากวอลุ่มขายมากกว่าราคาขาย แต่ก็ยังคาดว่ากำไรจะเพิ่มขึ้นได้ เทียบปีก่อน ได้ ยังคงคำแนะนำ "ซื้อเก็งกำไร" จากกำไรหลักที่ยังคงเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งในปี 2564 และมูลค่าหุ้นที่ยังคงถูก โดยอัตราส่วน PER ปี 2564 อยู่ที่ 11.9 เท่า เทียบกับอัตราส่วน PER สูงสุดเมื่อเร็วๆ นี้ที่ 14.6 เท่า ในเดือนมิ.ย. 2562 ขณะมีแนวโน้มจะพึ่งพาเทสโก้โลตัสน้อยลงในระยะยาว-บริษัทมีแผนขยายร้านค้าปลีกของตัวเองไปเป็น 50 สาขา ณ สิ้นปี 2564 เพื่อลดความเสี่ยงที่เทสโก้โลตัสจะต้องนำเอาสินค้าจาก CPF เข้ามาวางในห้างมากขึ้น ซึ่งจะเข้ามาแข่งโดยตรงกับผลิตภัณฑ์ของ TFG ยอดขายของ TFG ในเทสโก้โลตัส คิดเป็น 10% ของยอดขายรวม

จากข้อมูลข้างต้นจะต้องมาดูกันต่อไปว่ารัฐบาลจะออกมาควบคุมราคาเนื้อสัตว์ไม่ให้ขยับเพิ่มไปมากกว่านี้ได้มากน้อยเพียงใด และปริมาณของเนื้อหมูไก่ จะออกสู่ตลาดนั้นจะลดน้อยลงหรือเพิ่มขั้นได้เพียงใด แต่ผู้ประกอบการที่ผลิตและขายเนื้อสัตว์เหล่านั้นรับผลดีไปล่วงหน้าแล้ว


กำลังโหลดความคิดเห็น