xs
xsm
sm
md
lg

จับตา "กกร." ถกพรุ่งนี้ประเมิน ศก.-ส่งออกปี 65 ใหม่รับมือ "โอมิครอน"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“กกร.” นัดหารือพรุ่งนี้ (12 ม.ค.) ประเมินภาพรวมผลกระทบ "โอมิครอน" ต่อภาวะเศรษฐกิจ ส่งออก และเงินเฟ้อ ปี 2565 หวั่นชะลอตัวหลังแพร่กระจายเร็ว แนะรัฐยกระดับป้องกันการแพร่ระบาด หามาตรการดูแลค่าครองชีพประชาชน

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)
เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่ประกอบด้วย ส.อ.ท. สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย วันที่ 12 มกราคม 2565 จะหารือภาพรวมถึงแนวโน้มภาวะเศรษฐกิจปี 2565 การส่งออก และอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งมีโอกาสเปลี่ยนแปลงจากผลกระทบการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 กลายพันธุ์โอมิครอน


“คงจะต้องมาดูแต่ละส่วนจะมีผลกระทบมากน้อยเพียงใด โดยยอมรับว่าก่อนหน้านี้ไม่ได้คาดคิดว่าโอมิครอนจะระบาดรวดเร็วเช่นนี้ ดังนั้นตัวเลขต่างๆ ทางเศรษฐกิจที่เคยประมาณการไว้คงจะต้องปรับให้สอดรับ โดย กกร. ธ.ค. 64 ได้คาดการณ์เศรษฐกิจปี 2565 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพีจะโต 3-4.5% ส่งออก 3-5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะขยายตัวอยู่ในกรอบ 1.2- 2%” นายสุพันธุ์กล่าว

สำหรับผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 86.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.4 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน สะท้อนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมดีขึ้นต่อเนื่องหลังจากที่รัฐได้ผ่อนคลายมาตรการการควบคุมโควิด-19 และเปิดประเทศ อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดโควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" ส่งผลต่อความกังวลต่อภาคเศรษฐกิจไทยที่อาจจะฟื้นตัวได้ช้า จำเป็นที่รัฐต้องเร่งยกระดับป้องกันการแพร่ระบาดโอมิครอนและวางมาตรการที่จะเข้ามาดูแลค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากค่าพลังงานที่ปรับเพิ่มและราคาสินค้า

ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะจากการสำรวจฯ ต่อรัฐในการยกระดับป้องกันโอมิครอน ได้แก่ 1) เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 (Booster) ให้แก่ประชาชนเพื่อลดโอกาสการแพร่ระบาด และลดความรุนแรงเมื่อติดเชื้อ 2) ยกระดับการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุข ควบคู่ไปกับมาตรการด้านเศรษฐกิจ โดยไม่นำมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้ 3) การเตรียมความพร้อมด้านระบบสาธารณสุข ศูนย์พักคอย สถานที่กักตัว และโรงพยาบาล ตลอดจนสำรองยาและเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ รวมทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากร เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 ที่อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากโอมิครอน 4) เร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจและช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยในการใช้สิทธิ ประโยชน์ทางภาษี ภายใต้กรอบความร่วมมือการเปิดเสรีการค้าตามข้อตกลง RCEP ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา

“ราคาพลังงานทั้งน้ำมัน ค่าไฟ สูงขึ้น และวัตถุดิบหลายๆ อย่างก็สูงขึ้นตามไปค่อนข้างมาก จึงเห็นว่ารัฐจำเป็นจะต้องดูแลในส่วนนี้เพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อประชาชนมากจนเกินไป และจำเป็นต้องเร่งหามาตรการดูแล SMEs ให้มากขึ้น” นายสุพันธุ์กล่าว


นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า ดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 95.2 จากระดับ 97.3 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 เนื่องจากโอมิครอนระบาดในประเทศไทยและในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งนี้ ผู้ประกอบการมีความกังวลว่าหากมีการแพร่ระบาดรุนแรงในประเทศภาครัฐอาจพิจารณาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการประกอบกิจการและฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565

"โอมิครอนถือเป็นปัจจัยลบที่ยังมีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะการพบผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ประกอบการยังเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบ ขณะที่ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์ยังไม่คลี่คลาย และจากผลสำรวจปัจจัยที่ผู้ประกอบการกังวลมากขึ้นคือราคาน้ำมันคิดเป็น 67.3%" นายวิรัตน์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น