xs
xsm
sm
md
lg

“บอร์ดอีอีซี”ลุยแผนระยะ2 ขับเคลื่อนลงทุน2.2ล้านลบ.หนุนศก.สีเขียวปั้นGDPโต5%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บอร์ดอีอีซีไฟเขียวแผนลงทุนระยะ 2 (ปี 2565-69 ) 2.2 ล้านล้านบาท ต่อยอดโครงสร้างพื้นฐานเดิม เพิ่มดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) หวังดันGDP โตปีละ 5% ฝันให้ไกลไปให้ถึงหลักชัยสร้างไทยสู่ประเทศพัฒนาพ้นกับดักรายได้ปานกลางปี 2572

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก
เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) วันนี้(7ม.ค.65) โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ. เป็นประธาน ว่า ที่ประชุม กพอ. รับทราบ ภาพรวมการดำเนินงาน อีอีซี ที่ผ่านมาและแผนงานปี 2565 ที่จะขับเคลื่อนแผนลงทุนระยะ 2 (ปี 2565-2569) ที่จะก่อให้เกิดการลงทุน 2.2 ล้านล้านบาท จากการต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน 2 แสนล้านบาท ดึงดูดการลงทุนต่างชาติในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ต่อยอดจากฐานปกติ และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ปีละ 4 แสนล้านบาท เพื่อให้เกิดการลงทุนนวัตกรรมใหม่เคียงคู่สิ่งแวดล้อม รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตขึ้น (GDP) 5% ต่อปี มูลค่าการส่งออกสินค้าและบริการของไทยมีมูลค่าสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ จะเกิดการพลิกโฉมการศึกษาพัฒนาทักษะบุคลากรโดยเฉพาะด้านดิจิทัล ที่จะสร้างตำแหน่งงานใหม่ รายได้มั่นคงเพื่อสู่เป้าหมายปี 2572 ที่จะผลักดันให้ไทยพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางสู่ประเทศพัฒนา

“ กพอ.ได้รับทราบ ความก้าวหน้าการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานหลัก ซึ่งถือเป็นความสำเร็จสำคัญของอีอีซี ที่ได้ผลักดันการลงทุนร่วมรัฐ-เอกชน (PPP) จนสำเร็จครบ และต่อจากไตรมาส 1 ปี 2565 นี้ ทุกโครงการ (รถไฟความเร็วสูง สนามบินอู่ตะเภา ท่าเรือมาบตาพุด และแหลมฉบัง) จะสามารถเดินหน้าก่อสร้างได้ตามแผนทั้งหมด นับเป็นต้นแบบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่ไม่ต้องพึ่งพิงเงินกู้ต่างประเทศเช่นในอดีต รัฐได้ประหยัดงบประมาณ ร่วมมือกับเอกชนไทยใช้เงินไทย ใช้บริษัทไทย ใช้คนไทย ร่วมสร้างประเทศไทยที่แข็งแกร่งเป็นแกนหลักนำพันธมิตรต่างชาติมาร่วมลงทุน สร้างงาน สร้างเงินให้คนไทย มูลค่าการลงทุนรวมกว่า 654,921 ล้านบาท และรัฐได้ผลตอบแทนสูงถึง 210,352 ล้านบาท”นายคณิศกล่าว

สำหรับการดำเนินงาน ปี 2561 – 64 ได้อนุมัติการลงทุนแล้วกว่า 1.7 ล้านล้านบาท (การลงทุนภาคเอกชน 80% และภาครัฐ 20%) เกิดจากโครงการโครงสร้างพื้นฐานประมาณ 654,921 ล้านบาท ลงทุนอุตสาหกรรมเป้าหมายประมาณ 924,734 ล้านบาท และบูรณาการเชิงพื้นที่ประมาณ 82,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ที่ประชุม กพอ. รับทราบ ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาศูนย์บริการทดสอบการแพทย์จีโนมิกส์ ในพื้นที่ อีอีซี ยกระดับให้ชุมชนเข้าถึงบริการสาธารณสุข และแผนการขับเคลื่อนการรักษาแบบการแพทย์แม่นยำ โดยเร่งส่งเสริมให้เกิดการลงทุน ศูนย์บริการจีโนมิกส์ในอีอีซี และบริการที่เกี่ยวข้อง ซึ่งปัจจุบันสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ สกพอ. ได้ลงนาม ในสัญญาจ้าง และสัญญาเช่าที่บริการถอดรหัสพันธุกรรม กับกิจการร่วมค้าไทยโอมิกส์ เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมประชาชน 50,000 ราย ในระยะเวลา 5 ปี และจัดเก็บเป็นข้อมูลเพื่อการวินิจฉัยและเลือกการรักษาโรคที่ถูกต้อง เป็นต้นแบบในพื้นที่ อีอีซี เพื่อให้คนไทยทุกคน ได้รับการวินิจฉัยโรคที่แม่นยำ รักษาได้ตรงอาการ และมีสุขภาพดี


กำลังโหลดความคิดเห็น