xs
xsm
sm
md
lg

มัดรวบ "ภาษีคริปโต" เจ็บแต่จบ จ่ายเฉพาะส่วนกำไร แม้ผลรวมทั้งปีจะขาดทุน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



ดราม่าภาษีคริปโตที่สร้างความวิตกกังวลต่อนักลงทุนอย่างมาก โดยเฉพาะนักลงทุนรุ่นใหม่ที่นิยมเข้าเทรดเหรียญคริปโตในกระดานเทรดทั้งไทย และต่างประเทศ ซึ่งเป็นกระแสที่ร้อนแรงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดทางกรมสรรพากรได้ประกาศเรียกเก็บภาษีคริปโตตั้งแต่เดือนมีนาคม 2565 นี้เป็นต้นไป ซึ่งจากการประกาศออกมาดังกล่าว ก่อให้เกิดข้อถกเถียงของนักลงทุนเหรียญคริปโตในโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์มต่อมาตรการ "ภาษีคริปโต15%" ที่เกิดขึ้นอย่างเผ็ดร้อน

ล่าสุดนางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี และโฆษกกรมสรรพากร ซึ่งเปิดเผยมาตรการภาษีคริปโตผ่านทางรายการ The Morning Wealth ถึงแนวทางการจัดเก็บภาษีที่ได้จากการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ คริปโต รวมไปถึง NFT และอื่นๆ โดยระบุว่าการคิดคำนวณและจัดเก็บภาษีนั้น เป็นการคิดจากฐานของภาษีเงินได้ ในการนำไปซื้อขายหรือทำธุรกรรมคริปโตในทุกรายการ (transactions) ที่มีกำไรเป็นเงินสด เช่น ผู้เสียภาษีทำการแลกเปลี่ยนบนแพลตฟอร์มแลกเปลี่ยน 10 รายการในปีนั้น โดยขายเหรียญได้กำไรเป็นเงินสด (THB) 5 รายการ รวม 2 แสนบาท แต่อีก 5 รายการ ขายเหรียญแล้วขาดทุน 5 แสนบาท รวมทั้งปีผู้เสียภาษีขาดทุนจากการแลกเปลี่ยนรวม 3 แสนบาท ภาษี 15% นั้นก็จะต้องระบุเงินได้เพื่อเสียภาษีจากกำไร 2 แสนบาทอยู่ดี แม้ยอดรวมทั้งปีจะขาดทุน หรือแม้จะยังไม่ได้ถอนเงินบาทออกมาจากกระดานเทรดบนแพลตฟอร์มการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นก็ตาม เนื่องจากสรรพากรถือว่าการซื้อขายและกำไรเกิดขึ้นแล้ว แม้ว่านักลงทุนเจ้าของบัญชีเทรดนั้นจะยังไม่ได้ถอนเงินออกมาก็ตาม

นอกจากนี้ การที่กรมสรรพากร เตรียมที่จะนำ Big Data และ Data Analytic มาใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเส้นทางการเงินและการลงทุนของนักลงทุน โดยหากผู้เสียภาษีอยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะเสียภาษีไม่ถูกต้อง ผู้เสียภาษีจะต้องยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าการยื่นแบบเสียภาษี ถูกต้องตามความเป็นจริง หรือแสดงเงินได้น้อยกว่าความเป็นจริงหรือไม่ โดยหากจำนวนรายได้กำไรที่เกิดขึ้นจริงมากกว่าหรือที่เกิดขึ้นต่ำกว่า ก็ต้องชำระส่วนต่างที่เกิดขึ้นจากส่วนที่ขาดตกบกพร่องไป นอกจากนี้อาจต้องเสียดอกเบี้ยอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน ในส่วนที่ยื่นขาด ซึ่งขณะนี้ทาง สรรพากร กำลังประสานงานร่วมกับกระดานเทรดต่างๆ ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลการซื้อขาย รายได้และกำไรของนักลงทุน เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำส่งข้อมูลภาษีของผู้ซื้อและผู้ขายให้กับกรมสรรพากร

อย่างไรก็ดีการที่กรมสรรพากรเดินหน้าเรียกเก็บภาษี Capital Gain จาก “คริปโตเคอร์เรนซี” กรณีซื้อขาย-แลกเปลี่ยน รวมทั้งชำระค่าสินค้า-บริการ โดยกำหนดให้มีการเสียภาษีโดย หัก ณ ที่จ่ายจำนวน 15% ขณะเดียวกันผู้ที่ได้รับรางวัลจากการชิงโชคก็จะต้องเสียภาษีในส่วนนี้ด้วยในจำนวน 5% นอกจากนี้ หากนักลงทุนมีการฝากเหรียญเพื่อกินดอกเบี้ยก็จะต้องมีการจ่ายภาษีจำนวน 15% อีกด้วยเช่นกัน และหากมีการรับมรดกยกเว้นภาษี ด้านนิติบุคคล ก็จะต้องยื่นจ่ายภาษีนี้ด้วย โดยผู้มีเงินได้มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 ถึง วันที่ 31 มีนาคม 2565 โดยล่าสุดกรมสรรพากรได้สรุปแนวทางการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่เกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี ไว้ดังนี้

1.กรณีกำไรจากการขาย หรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี (Capital Gain) ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (4) (ฌ) ผู้ขายมีหน้าที่ยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ขณะที่ผู้ซื้อมีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

2.กรณีนำคริปโตเคอร์เรนซี ไปชำระค่าสินค้าหรือบริการ โดยมูลค่ามากกว่าตอนที่ได้มา ถือเป็นเงินได้ตาม 40 (4) (ฌ) ผู้ที่ชำระค่าสินค้า หรือบริการด้วยคริปโตเคอร์เรนซี มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ขณะที่ผู้รับชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยคริปโตเคอร์เรนซี มีหน้าที่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

3.กรณีได้รับจากการให้โดยไม่มีค่าตอบแทน ถือเป็นเงินได้ตาม 40 (8) แบ่งเป็น กรณีทั่วไปผู้ได้รับต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และแบบ ภ.ง.ด.94 สำหรับกรณีนี้ผู้ให้ไม่ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย ขณะที่บางกรณีเป็นเงินได้ที่ถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้แล้ว หรือ Final withholding tax และ กรณีได้รับยกเว้นภาษีไม่ต้องยื่นแบบ แต่ตอนขายต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 ขณะที่ผู้ที่จ่ายรางวัลชิงโชคเป็นคริปโตเคอร์เรนซี 1,000 บาท ขึ้นไป มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 5%

4.กรณีได้รับทางมรดก ถือเป็นเงินได้ตาม 40 (8) ตอนได้รับมรดก และตอนขาย ได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี

5.กรณีได้รับจากการทำงาน ถือเป็นเงินได้ทุกประเภท ผู้ได้รับมีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ ถ้ามีเงินได้ตามมาตรา 40 (5)-(8) ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.94 กรณีนี้อาจต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย

6.กรณีขุดเหรียญ (Mining) ถือเป็นเงินได้ตาม 40 (8) ผู้ขุดชนะ มีหน้าที่ต้องยื่นแบบ ภ.ง.ด.90 และ แบบ ภ.ง.ด.94

7.กรณีการฝากเหรียญเอาดอกเบี้ย (Staking) ถือเป็นเงินได้ตาม 40 (4) (ช) ผู้ฝากมีหน้าที่ต้องยื่น แบบ ภ.ง.ด.90 ตัวกลางรับแลกเปลี่ยน หรือ Exchange มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

"การจัดเก็บภาษีเงินได้จากกำไรจากการขายคริปโตเคอร์เรนซี ในส่วนของบุคคลธรรมดา จะแบ่งเป็น 1.เก็บตามแหล่งเงินได้ในประเทศ โดยการขายคริปโตฯ ในประเทศทุกรายการถ้ามีกำไร จะต้องเสียภาษี ตามมาตรา 40 (4) (ฌ) 2.เก็บตามแหล่งถิ่นที่อยู่อาศัย กรณีที่ขายคริปโตฯ ในต่างประเทศ และมีกำไร แล้วนำเงินกลับเข้ามาในประเทศ ในปีภาษีนั้น ๆ ก็ต้องเสียภาษีเช่นกัน ถ้าอยู่เกิน 180 วัน และนิติบุคคลต้องเสียภาษีจากกำไรจากการขายคริปโตเคอร์เรนซีด้วย โดยสามารถนำไปคำนวณเป็นรายได้ รวมกับรายได้อื่น ๆ ถ้าหากมีกำไรก็ต้องเสียภาษี ในอัตราของนิติบุคคล" นางสมหมาย ศิริอุดมเศรษฐ กล่าว

ขณะที่เหรียญคริปโตเคอร์เรนซีที่มีความร้อนแรงและกำลังเป็นที่จับตาจากทั้งนักลงทุนและ สำนักงาน ก.ล.ต. จากปริมาณการซื้อขายที่มีมากผิดปกติ และราคาที่พุ่งขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ อีกทั้ง ส่วนของการซื้อขายเหรียญคริปโตแม้ว่าจะอยู่ภายใต้การบังคับใช้กฏหมาย ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แต่ก็ไม่มีข้อบังคับในส่วนของ insider trading เหมือนเช่นกรณีที่เกิดกับการซื้อขายหุ้น โดยเฉพาะ 3 เหรียญดังที่ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในปี 2564 ที่ผ่านมา โดยอันดับได้แก่ 1. JFIN ราคาปรับเพิ่มขึ้นมากกว่า 7,092% นับจากวันที่ 1 ม.ค. 2564 ถึง 31 ธ.ค. 2564 2. KUB ราคาปรับขึ้น 1,312% นับจากวันที่ 21 พ.ค. 2564 ถึง วันที่ 31 ธ.ค. 2564 และ 3. SIX ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3,500% นับจาก 1 ม.ค. 2564 ถึง 31 ธ.ค. 2564 โดยกำไรจากการขายจะต้องนำไปยื่นแบบเสียภาษีเงินได้ และต้องถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15%

ทั้งนี้ การที่กรมสรรพากรกำหนดให้แจ้งเงินได้จากกำไรจากการขายคริปโตเคอร์เรนซี และสินทรัพย์ดิจิทัลต่าง ๆ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ระบุให้เก็บภาษีจากกำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัล แต่ที่ผ่านมารูปแบบการยื่นภาษีออนไลน์ยังไม่มีความชัดเจน จึงได้มีการปรับรูปแบบใหม่ให้เห็นชัดเจนมากขึ้น เนื่องจากปัจจุบันผู้เสียภาษีจำนวนมากมีเงินได้และกำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลดังกล่าวเพิ่มขึ้น

สำหรับการตรวจสอบการเสียภาษีเงินได้ที่มาจากกำไรจากการขายคริปโตเคอร์เรนซี หรือสินทรัพย์ดิจิทัล เป็นไปตามหลักปฏิบัติปกติของกรมสรรพากร ซึ่งผู้เสียภาษีมีหน้าที่ประเมินตัวเอง และต้องแจ้งข้อมูลรายได้ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่ามีเงินได้จากทางไหนบ้างให้ครบถ้วน
กำลังโหลดความคิดเห็น