xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์”นำนวัตกรรมมาใช้ออก Form RCEP อำนวยความสะดวกผู้ประกอบการไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมการค้าต่างประเทศเผยนำนวัตกรรมมาใช้ในการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ใช้เวลาเหลือไม่เกิน 10 นาที และเอกสารก็ป้องกันการปลอมแปลง มี QR Code ตรวจสอบย้อนกลับได้ มั่นใจช่วยอำนวยความสะดวกผู้ส่งออกไทยขยายตลาด RCEP ได้ง่ายขึ้น

นายพิทักษ์ อุดมวิชัยวัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ขณะนี้ระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ระบบการตรวจสอบคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดของสินค้า หรือ ROVERs และระบบการขึ้นทะเบียนผู้ส่งออกที่ได้รับอนุญาต (Self-Certification) เพื่อใช้ประโยชน์ภายใต้ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ได้พร้อมเปิดให้บริการแล้ว โดยกรมฯ ได้นำนวัตกรรมมาใช้ในการพัฒนาระบบ ซึ่งเป็นการยกระดับการให้บริการให้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น และได้เริ่มเปิดให้บริการแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2565 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ระบบออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form RCEP ที่กรมฯ ได้พัฒนาขึ้น เป็นการนำลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ของเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการ (Electronic Signature and Seal : ESS) มาพิมพ์ลงบน Form RCEP แทนการลงลายมือชื่อและประทับตราด้วยมือ ช่วยให้สามารถลดระยะเวลารับบริการเหลือเพียงไม่เกิน 10 นาทีต่อฉบับ และยังใช้รูปแบบการพิมพ์ Form RCEP ลงบนกระดาษ A4 รูปแบบพิเศษ ที่สามารถป้องกันการปลอมแปลง และมีการเพิ่ม QR Code เพื่อยืนยันความถูกต้อง ซึ่งจะช่วยลดการตรวจสอบย้อนกลับจากศุลกากรปลายทาง ทำให้มั่นใจได้ว่า Form RCEP ดังกล่าวที่ออกโดยกรมฯ มีข้อมูลถูกต้อง ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของสินค้าไทยและช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการได้อีกทางหนึ่ง

“ระบบการให้บริการออก Form RCEP เป็นส่วนหนึ่งของ 1 ใน 118 รายการของบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียวของกระทรวงพาณิชย์ (MOC Online One Stop Service) ที่ดำเนินการตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้สั่งการให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ เร่งปรับปรุงการให้บริการเข้าสู่ดิจิทัล”นายพิทักษ์กล่าว

สำหรับการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีภายใต้ Form RCEP จะเป็นประโยชน์แก่ผู้ประกอบการไทย เนื่องจากตลาด RCEP มีขนาดใหญ่และมีขนาดเศรษฐกิจรวมกันมากกว่า 1 ใน 3 ของโลก ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกของไทยให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง และยังได้ประโยชน์ในด้านการนำเข้าสินค้าที่เป็นวัตถุดิบจากประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP เพื่อนำมาผลิตเป็นสินค้าไทยโดยใช้กฎการสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าและส่งออกไปยังประเทศสมาชิกในกลุ่ม RCEP เพื่อใช้สิทธิลดหย่อนหรือยกเว้นภาษี ณ ประเทศปลายทาง โดยผู้ประกอบการไทยสามารถเลือกใช้วัตถุดิบที่มีความหลากหลายและสามารถนำมาสะสมถิ่นกำเนิดสินค้าได้จากทุกประเทศที่เป็นสมาชิกในกลุ่ม RCEP ซึ่งจะเป็นการช่วยลดต้นทุนในการผลิตและสร้างแต้มต่อให้แก่ในตลาดต่างประเทศ

โดยมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก RCEP ในช่วง 11 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-พ.ย.) มีมูลค่า 2.97 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 9.38 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.97% และคิดเป็นสัดส่วนกว่า 60.7% ของมูลค่าการค้าของไทยทั้งหมด
กำลังโหลดความคิดเห็น