xs
xsm
sm
md
lg

เครื่องใช้ไฟฟ้าปี 65 ต้นทุนพุ่ง ลดโปรโมชัน-เคลียร์สต๊อก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



การตลาด - ส่องปี 2565 ตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านไม่รวมกลุ่มภาพและเสียงคาดโต 4% ตามจีดีพีประเทศ หรือมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 86,000 ล้านบาท จะดีกว่านี้หรือแย่ลงกว่าเดิมขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่การแข่งขันด้านราคา โปรโมชัน ลดแลก แจก แถม จะหายไป เหตุต้นทุนพุ่งจนเกินต้าน เน้นแข่งเรื่องฟังก์ชันและสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้า หรือมุ่งเคลียร์สต๊อกรุ่นเก่า ออกรุ่นใหม่ให้น้อยลง โดยมีเครื่องปรับอากาศยังเป็นพระเอกโกยรายได้ที่คาดว่าจะคึกคักที่สุด รวมถึงเครื่องซักผ้ายังเป็นตัวชูโรงที่คาดว่าจะแข่งขันรุนแรงไม่แพ้กัน

ภาพรวมตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าปี 2564 ยังคงมีการเติบโตเล็กน้อยที่ 0.3% เนื่องจากเศรษฐกิจหรือจีดีพีของประเทศไทยมีการขยายตัวต่ำ โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดการณ์จีดีพีปี 2564 อยู่ที่ 0.7% เท่านั้น จากผลกระทบวิกฤตโควิด-19 ที่ระบาดต่อเนื่องเป็นเวลา 2 ปีแล้ว
 


นายจาง เจิ้งฮุ้ย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เปิดเผยว่า หากมองเฉพาะตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หรือ กลุ่ม HA ไม่รวมกลุ่มภาพและเสียงหรือ AV แล้ว ตลาด HA ในปี 2564 คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าที่ 84,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2565 นี้มองว่าตลาด HA น่าจะกลับมาโตได้ถึง 4% ตามจีดีพีของประเทศไทย หรือมีมูลค่ารวมไม่ต่ำกว่า 86,000 ล้านบาทได้

“ในปี 2565 เชื่อว่าตลาดรวมเครื่องใช้ไฟฟ้าจะกลับมาโตได้ 3-4% จากกำลังซื้อที่เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะจากภาคท่องเที่ยวถึงแม้ว่าจะต้องใช้เวลาสักหน่อย รวมถึงการส่งออกที่ไม่ติดขัด การจ้างงานที่เริ่มคืนกลับมา แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูภาพรวมสถานการณ์ของโควิด-19 ด้วย และคงจะต้องเฝ้าระวังดูสถานการณ์กันแบบรายไตรมาสกันไป”

สำหรับทิศทางของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านประจำปี 2565 ที่จะมาถึงนั้น มองว่าเป็นโอกาสของทุกกลุ่มสินค้าที่จะกลับมาโตทั้งหมด แต่ที่เด่นชัดที่สุดน่าจะเป็นเครื่องปรับอากาศ ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าผู้บริโภคจะเลือกซื้อสินค้าในช่วงเวลาไหนเท่านั้นเอง ส่วนสถานการณ์การแข่งขันของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านในปี 2565 มั่นใจว่าจะมีการแข่งขันทางด้านราคาลดน้อยลง หรือทำโปรโมชัน ลด แลก แจก แถม กันน้อยลง เพราะต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทางด้านของซัปพลายเชน วัตถุดิบ และโดยเฉพาะค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้น จึงมองว่าในปี 2565 การแข่งขันของแต่ละแบรนด์จะมุ่งไปในเรื่องของการเพิ่มแวลู แอด หรือการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ยกระดับราคาสินค้าให้สูงขึ้นเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย ทำให้บริษัทต้องดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง และมีความยืดหยุ่น เพิ่มความคล่องตัวมากขึ้น เพื่อให้สามารถปรับตัว พลิกแพลงกลยุทธ์การทำตลาดให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ส่วนช่องทางการจำหน่ายต้องบุกหนักออนไลน์หรือ e-commerce มากขึ้น


“ไฮเออร์ต้องเป็นองค์กรที่พร้อมปรับตัวรับทุกการเปลี่ยนแปลง ปรับแผนการตลาด ร่วมมือกับดีลเลอร์ พันธมิตรช่องทางต่างๆ เพื่อจำหน่ายสินค้าให้ได้เหมือนกับสถานการณ์ปกติ ผลักดันการเติบโต สานเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาว โดยปี 2565 มุ่งสู่ยอดขาย 10,564 ล้านบาท จากปี 2564 ที่คาดว่าจะปิดยอดขายที่ 7,921 ล้านบาท เติบโต 29%” นายจาง เจิ้งฮุ้ย กล่าว

ด้านนายธเนศร์ บินอาซัน รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า ในปี 2565 บริษัทพร้อมใช้งบตลาด 850 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 30% เทียบกับปี 2564 โดยจะเน้นออกสินค้าใหม่รวมกว่า 40-50 SKU ภายใต้แผนการทำตลาดที่จะมุ่งนำเสนอสินค้าใหม่ เพิ่มไลน์สินค้ากลุ่ม Smart Home และสินค้ารุ่นไฮเอนด์ที่มีเทคโนโลยีทันสมัย ตอบโจทย์ Smart Life และ Self-Care ทำให้ผู้บริโภคสะดวกสบายมากขึ้น เช่น อีโคซิสเต็มของ Smart Home รองรับฟังก์ชันการสั่งงานด้วยเสียงผ่าน Google Assistant และ Alexa เป็นต้น

ทั้งนี้ ในปี 2565 ยังเป็นปีแห่งการพลิกโฉมแบรนด์ให้เป็นระดับพรีเมียมและลักชัวรีมากขึ้น ทั้งหมดเพื่อเจาะกลุ่มเป้าหมายวงกว้าง จากเจเนอเรชันเอ็กซ์ และเจเนอเรชันวาย ขยายไปสู่คนรุ่นใหม่ และกลุ่มเจเนอเรชันซีนั่นเอง


จากภาวะต้นทุนพุ่งสูงนี่เอง Beko ถือเป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าอีกแบรนด์ที่ขอมองเกมปี 2565 กันใหม่ เชื่อผู้บริโภคยังเงินฝืดตึง เน้นเคลียร์สต๊อก ออกสินค้าใหม่ลดลง โดยนายพรชัย ตระกูลเตชะเดช ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดและผลิตภัณฑ์ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บริษัท เบโค (ไทย) จำกัด หรือ Beko ได้กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งส่งผลต่อสภาพเศรษฐกิจตลอดปี 2564 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ในปี 2565 นี้ทางบริษัทวางกลยุทธ์ทางธุรกิจไว้ว่าจะไม่เน้นออกสินค้าใหม่ เพราะมองว่าเป็นภาวะที่ผู้บริโภคมีอำนาจในการซื้อลดน้อยลง บวกกับสถานการณ์ของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าเองก็มีต้นทุนสินค้าที่เพิ่มขึ้น 20-25%

ดังนั้น แผนการดำเนินงานในปีนี้จะเน้นเคลียร์สินค้าเก่ามากกว่าส่งสินค้าใหม่ลงตลาด เพราะสินค้าใหม่จะต้องทำโปรโมชันการขาย ในช่วงแรกอาจจะไม่คุ้ม ที่สำคัญจะเน้นช่องทางออนไลน์มากขึ้น จากปัจจุบันยอดขายออนไลน์มีสัดส่วนไม่ถึง 3% ของยอดขายรวม เชื่อว่าในปี 2565 ยอดขายออนไลน์จะเติบโตขึ้น 5 เท่า

อย่างไรก็ตาม Beko ได้มีการปรับแผนการดำเนินงานมาตั้งแต่ในไตรมาสสี่ปี 2564 ที่ผ่านมา โดยจะเน้นช่องทางขาย เพิ่มชอป รวมถึงออนไลน์ ภายใต้แผนการทำตลาดที่จะเน้นกลยุทธ์การเข้าถึงผู้บริโภคครอบคลุมทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นการขยายช่องทางการจัดจำหน่ายผ่านห้างสรรพสินค้าและดีลเลอร์ทั่วประเทศไทย และ Beko Online Official Store กับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ Lazada และ Shopee สอดรับกับเทรนด์ผู้บริโภคปัจจุบันที่หันมาซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19


นอกจากนี้ Beko ยังตอบรับเทรนด์สินค้าที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมความยั่งยืน ภายใต้การขับเคลื่อนยอดขายผ่านเครื่องซักผ้า/เครื่องอบผ้า จบปี 2564 ประเมินว่า Beko จะมียอดขายรวมเติบโตขึ้น 35%

สำหรับ Beko เป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าอันดับ 1 จากฝั่งยุโรป ซึ่งในปี 2563 ที่ผ่านมา 85% ของยอดขายสินค้ากลุ่มพรีเมียมของ Beko ขับเคลื่อนด้วยสินค้าฮีโร่ 3 ชนิด ได้แก่ ตู้เย็น 40% เครื่องซักผ้า 30% และเครื่องปรับอากาศ 15% และมีทิศทางที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ Beko พร้อมเปิดตัวเครื่องซักผ้าฝาหน้ารุ่นใหม่ Beko AquaTechTM ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในกลุ่มคนเมือง ตอกย้ำวิสัยทัศน์ของ Beko ‘Live Like a Pro’ ที่มุ่งยกระดับสุขภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืนให้แก่คนไทย ด้วยกลยุทธ์แบรนด์สู่การเป็นโซลูชันเพื่อสุขภาพชีวิตที่ดีกว่า

“จากการที่บริษัทได้เห็นถึงเทรนด์พฤติกรรมของผู้บริโภคไทยที่มีความหลากหลายและเห็นถึงศักยภาพของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในประเทศไทย เรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่เทคโนโลยีและนวัตกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ Beko สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเข้ามาเติมเต็มความต้องการ และมอบความสุขให้แก่ผู้บริโภค พร้อมตอบโจทย์การยกระดับสุขภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืนของคนไทยตามวิสัยทัศน์ของแบรนด์ ซึ่งบริษัทตั้งใจที่จะส่งมอบสินค้าและบริการเพื่อส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืนยิ่งขึ้นต่อไป” นายพรชัยกล่าว


นายหลี่ เจิง กรรมการผู้จัดการ บริษัท สกายเวิร์ท (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์โทรทัศน์ แบรนด์ “SKYWORTH” (สกายเวิร์ท) เปิดเผยว่า ในปี 2565 สกายเวิร์ทวางแผนงานที่จะแตกไลน์ธุรกิจ ขยายไลน์สินค้าผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าไปยังกลุ่มอื่นๆ อีกหลายกลุ่มภายใต้แบรนด์ “SKYWORTH” เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยเพิ่มขึ้นอีกด้วย หลังจากที่ทำตลาดทีวีและได้รับความสำเร็จมาก่อนแล้ว เพราะไทยเป็นตลาดที่น่าสนใจและมีศักยภาพมาก
กำลังโหลดความคิดเห็น