xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เร่งแก้หมูแพง สั่งห้ามส่งออกหมูเป็น 3 เดือน พร้อมให้แจ้งสต๊อก-ราคาทุก 7 วัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“จุรินทร์” ประชุม กกร.สั่งห้ามส่งออกสุกรมีชีวิต 3 เดือน เริ่ม 6 ม.ค.-5 เม.ย. 65 ดึงหมูเป็นกลับเข้าสู่ระบบอีก 1 ล้านตัว พร้อมสั่งผู้เลี้ยง ผู้ค้าส่ง ห้องเย็น แจ้งสต๊อก และราคาขายทุก 7 วัน ย้ำการจำหน่ายปลีกต้องปิดป้ายแสดงราคาให้ชัดเจน หากพบค้ากำไรเกินควร เล่นงานตามกฎหมาย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ว่า ได้มีการพิจารณาประเด็นสำคัญเรื่องสุกร โดยหารือร่วมกับกรมปศุสัตว์ที่เป็นหน่วยงานดูแลการผลิตสุกรป้อนเข้าสู่ตลาด ตัวเลขเบื้องต้นในปี 2564 มีการเลี้ยงสุกรป้อนเข้าสู่ตลาดประมาณ 19 ล้านตัว บริโภคในประเทศ 18 ล้านตัว ส่งออกไปต่างประเทศประมาณ 1 ล้านตัว คาดการณ์ว่าปี 2565 จะมีสุกรหายไปจากระบบ เหลือประมาณ 13 ล้านตัว จาก 19 ล้านตัว ซึ่งเป็นการบริโภคในประเทศประมาณ 18 ล้านตัว ทำให้ขาดสุกรประมาณ 5 ล้านตัวสำหรับการบริโภค

“ได้มีการพิจารณาห้ามส่งออกสุกรมีชีวิตเป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 6 ม.ค. 2565 ถึงวันที่ 5 เม.ย. 2565 เป็นการชั่วคราว และจะพิจารณาตามสถานการณ์ว่าควรให้มีการต่ออายุหรือไม่ โดยติดตามสถานการณ์โดยใกล้ชิด คาดว่าจะช่วยให้มีหมูเป็นกลับเข้าสู่ระบบเพิ่มเติมประมาณ 1 ล้านตัว”

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้สั่งการให้ผู้เลี้ยงที่มีปริมาณการเลี้ยงเกิน 500 ตัว ผู้ค้าส่งที่มีปริมาณเกิน 500 ตัว ห้องเย็นที่มีการเก็บสต๊อกเกิน 5,000 กิโลกรัมขึ้นไป ให้ดำเนินการแจ้งสต็อกให้กรมการค้าภายในรับทราบ รวมทั้งแจ้งราคาในทุก 7 วัน เริ่มวันที่ 10 ม.ค. 2565 เป็นต้นไป เพื่อให้ทราบปริมาณหมูเป็นทั้งหมดที่อยู่ในระบบ รวมทั้งหมูแช่แข็ง แช่เย็นรวมกันทั้งประเทศว่ามีจำนวนเท่าไร เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาร่วมกันกับกรมปศุสัตว์และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

ส่วนการจำหน่ายเนื้อหมู กำหนดให้มีการติดป้ายแสดงราคาจำหน่าย ห้ามขายเกินราคาป้ายที่กำหนดไว้ รวมทั้งดำเนินการให้เจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจตามกฎหมาย ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พาณิชย์จังหวัด และกรมการค้าภายใน รวมทั้งกรมปศุสัตว์ ดำเนินการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งการขายเกินราคา การเข้าข่ายค้ากำไรเกินควร

ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังมีมติเพิ่มเติมให้กรมปศุสัตว์ ในฐานะหน่วยงานเจ้าของเรื่องโดยตรง ผลิตสุกรเข้าสู่ระบบ เร่งดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรเพิ่มเติม เพื่อให้สุกรมีเพียงพอสำหรับการบริโภคในประเทศโดยเร็วที่สุดด้วย

สำหรับมาตรการต่อจากนี้มี 2 มาตรการ คือ มาตรการที่ 1 เมื่อทราบสต๊อก จะเร่งนำหมูจากสต๊อกมาป้อนเข้าสู่ระบบโดยเร็ว และมาตรการที่ 2 กำกับราคาไม่ให้เกิดการค้ากำไรเกินควร ถ้าต้นทุนหมูสูงขึ้นจริง จำเป็นต้องขายราคาหน้าฟาร์มสูงขึ้น ก็ให้ความยุติธรรมแก่ทุกฝ่าย แต่ถ้าขายเกินราคาสมควรจนเข้าข่ายผิดกฎหมาย กระทรวงพาณิชย์จะเข้าไปดำเนินคดีโดยเด็ดขาด ไม่มียกเว้น โดยขอความร่วมมือกับพี่น้องประชาชนผู้บริโภคทั้งประเทศ หากพบเห็นการเอาเปรียบ ให้แจ้งเบาะแสมาที่สายด่วน 1569

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา ประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติมีมาตรการเร่งรัดการส่งเสริมการเลี้ยง ซึ่งกระทรวงพาณิชย์เห็นด้วยในการช่วยสนับสนุนมาตรการทั้งหมด และถ้ามีความจำเป็นในเรื่องใดที่จะต้องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) กระทรวงพาณิชย์พร้อมที่จะให้การสนับสนุน โดยเฉพาะมาตรการเร่งรัดส่งเสริมการเลี้ยง การช่วยให้เกษตรกรรายย่อยสามารถเข้าถึงแหล่งทุน ดอกเบี้ยราคาถูก หรือเงื่อนไขผ่อนปรนเป็นพิเศษ โดยจะขอให้กระทรวงการคลังเข้ามามีบทบาทช่วยดูแลเรื่องนี้ต่อไป รวมทั้งส่งเสริมให้เกษตรกรผู้เลี้ยงหมูเข้ามาเลี้ยงในระบบ GFM (Good Farming Management) ที่มีมาตรฐานและต้นทุนไม่สูงเกินไป เป็นระบบที่ป้องกันโรคได้และมีความปลอดภัยสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
กำลังโหลดความคิดเห็น