xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” ปักธงปี 65 ลุยหนุนอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่การผลิตรับมือโลกเปลี่ยน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สุริยะ” ปักหมุดปี 2565 ลุยขับเคลื่อนแผนงานหนุนภาคอุตสาหกรรมไทยตลอดห่วงโซ่การผลิตเพื่อเพิ่มศักยภาพรับมือ ศก.เปลี่ยนแปลง เล็งชง กอช.เพื่อบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งดึงลงทุน EV อุตฯ น้ำตาล ต่อยอดพืชเกษตรต่างๆ สู่อุตสาหกรรมชีวภาพ ดัน GDP อุตฯ โต 2.5-3.5% รับแรงหนุนตลาดส่งออกโต

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
เปิดเผยว่า ปี 2565 กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายการยกระดับพัฒนาภาคอุตสาหกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อรองรับกับภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยจะนำเสนอนโยบายสำคัญต่อคณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) เพื่อการบูรณาการกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ภาคอุตสาหกรรมไทยยังคงเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งปัจจุบันและอนาคต

สำหรับแนวทางดำเนินการ เช่น 1. การกำหนดสาระสำคัญของกระบวนการผลิตในเขตประกอบการเสรี (Free Zone) เพื่อให้สอดรับกับมาตรการส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่จะเอื้อให้เกิดการลงทุนภายในประเทศ 2. การจัดเตรียมสินเชื่อจากกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ อัตราดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ รวมถึงพัฒนาแพลตฟอร์มอุตสาหกรรม 4.0 โดยทำหน้าที่เป็น One Stop Service 3. การจัดพระราชบัญญัติอ้อยและน้ำตาลทราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... เพื่อขจัดอุปสรรคการลงทุน และสร้างปัจจัยสนับสนุนให้เอื้อต่อการลงทุนในอุตสาหกรรมชีวภาพ ตลอดจนการจัดตั้งศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมชีวภาพ ซึ่งคาดว่าแล้วเสร็จเดือนเมษายน 2565 เพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยสู่ภาคอุตสาหกรรม และขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมชีวภาพอย่างต่อเนื่อง ผ่านมาตรการส่งเสริมการผลิตและใช้ประโยชน์พลังงานหมุนเวียนจากอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย  
4. เร่งพัฒนาพืชเศรษฐกิจอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น ปาล์ม แป้งมันสำปะหลัง เพื่อสร้างรายได้เพิ่มแก่ภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม 5. เร่งสร้างนักรบอุตสาหกรรมอาหารพันธุ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง พร้อมผลักดันการพัฒนาอาหารอนาคต โดยบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดกรอบแนวทางพัฒนาปัจจัยพื้นฐานให้เอื้อต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเป้าหมายใหม่ (Product Champion) รวมถึงให้เกิดการลงทุนเชิงพาณิชย์ และขับเคลื่อน flagship ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 

นอกจากนี้ กระทรวงอุตสาหกรรมยังเตรียมที่จะนำเสนอแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ ระยะที่ 1 (ปี พ.ศ. 2563-2570) ต่อ กอช. เพื่อพิจารณาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2565 ก่อนนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป เป็นต้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการพัฒนาต่อเนื่องจากปี 2564 ที่กระทรวงฯ ได้ดำเนินการโดยเฉพาะการผลักดันอุตสาหกรรมเป้าหมายที่มุ่งเน้นใช้เทคโนโลยีขั้นสูง 
 
นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปี 2564 คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) จะขยายตัว 5.2% ปรับตัวดีขึ้นจากปี 2563 ที่ MPI หดตัว 9.3% ขณะที่คาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2565 อัตราการใช้กำลังการผลิตมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ประมาณการ MPI ขยายตัว 4.0-5.0% ส่วน GDP ภาคอุตสาหกรรมขยายตัว 2.5-3.5% เป็นผลจากตลาดส่งออกขยายตัวต่อเนื่อง รวมถึงตลาดในประเทศเริ่มฟื้นตัวจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งนี้ ยังต้องเฝ้าระวังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ประกอบกับต้องพิจารณาปัจจัยราคาพลังงานและการขาดแคลนแรงงานโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมสำคัญที่มีการใช้แรงงานเข้มข้นต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น