แม้ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 และมาตราการล็อกดาวน์ของภาครัฐ จะกระทบกับภาคการท่องเที่ยว แต่ที่น่าสนใจก็คือ เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย และเปิดให้ประชาชนเดินทางระหว่างจังหวัด พบว่าอัตราการเข้าพักของกลุ่มโรงแรมราคาประหยัด หรือบัดเจ็ตโฮเต็ล (Budget Hotel) ใช้เวลาฟื้นตัวสั้นที่สุด เมื่อเทียบกับโรงแรมในกลุ่มอื่น หลังผ่อนปรนมาตรการของภาครัฐ
บัดเจ็ตโฮเต็ลสองแบรนด์หลัก ได้แก่ โรงแรมฮ็อปอินน์ (Hop Inn) ของดิ เอราวัณ กรุ๊ป (ERW) แม้เดือน พ.ค. 2564 อัตราการเข้าพักต่ำสุดเพียง 23% แต่เดือน มิ.ย. 2564 ฟื้นตัวเป็น 35% และมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่ โรงแรมบีทู (B2) ของกลุ่มจาวลา เชียงใหม่ กรุ๊ป ยังคงมีอัตราการจองห้องพักที่ดี เพราะได้รับความนิยมจากตลาดนักท่องเที่ยวในประเทศเป็นหลักถึง 80%
นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ บริษัท ซี.พี.แลนด์ จำกัด (มหาชน) เจ้าของโรงแรมในเครือฟอร์จูน มีแผนลงทุนตั้งแต่ปี 2565-2569 ตั้งเป้าพัฒนาโรงแรมใหม่อีก 39 แห่ง ใช้เงินลงทุน 2,200 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่ม "บัดเจ็ตโฮเต็ล" ภายใต้แบรนด์ที่มีชื่อว่า "ฟอร์จูน ดี" (Fortune D) หลังจากเปิดให้บริการภายใต้แบรนด์นี้ไปแล้ว 5 แห่ง
โดยในปี 2565 มีแผนจะพัฒนาบัดเจ็ตโฮเต็ล 4 แห่ง ได้แก่ โรงแรมฟอร์จูน ดี ปราจีนบุรี, โรงแรมฟอร์จูน ดี ขอนแก่น, โรงแรมฟอร์จูน ดี สมุทรสาคร และอีก 1 โครงการที่ จ.บุรีรัมย์ พร้อมกับเตรียมที่จะเปิดตัวโปรแกรมสิทธิประโยชน์ (Loyalty Program) ร่วมกับทรูดิจิทัล เพื่อขยายฐานลูกค้าในปี 2565 อีกด้วย
นายสุนทร อรุณานนท์ชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร ซี.พี.แลนด์ ระบุว่า ในปี 2565-2569 จะมีการลงทุนและพัฒนาโรงแรมใหม่ในเบื้องต้น 37 แห่ง งบลงทุนเบื้องต้นประมาณ 2,000 ล้านบาท โดยหันมาโฟกัสลงทุนในโรงแรมที่เจาะลูกค้าเฉพาะกลุ่มมากขึ้นทั้งนี้ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าซึ่งเป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวหรือกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่ ที่นิยมเดินทางท่องเที่ยว เพื่อหาประสบการณ์ แต่ก็ยังชอบเรื่องความง่าย ความสะดวกสบายและสะอาดเป็นสำคัญ
ที่ผ่านมา ซี.พี.แลนด์ ไม่ได้ลงทุนจนเกินตัว ประกอบกับช่วงวิกฤตโควิด-19 ไม่ได้มีการลงทุนซื้อที่ดินแปลงใหม่ เนื่องจากบริษัทฯ ยังมีที่ดินสะสม พร้อมพัฒนาโครงการทั้งในรูปแบบของโรงแรมและคอนโดมิเนียมประมาณ 10-20 กว่าแปลง ใช้เวลาในการดำเนินงานจนหมดภายในระยะเวลา 30 ปี มั่นใจว่าในภาพรวมเศรษฐกิจปี 2565 จะเติบโตได้กว่า 4%
กลยุทธ์ของซี.พี.แลนด์ จะพัฒนาและขยายโรงแรมใหม่ในจังหวัดเมืองท่องเที่ยว ด่านการค้าชายแดน แหล่งอุตสาหกรรม โดยในปีหน้า จะพัฒนาภายใต้แบรนด์ “ฟอร์จูน ดี” ซึ่งเป็นบัดเจ็ทโฮเทลระดับ 2-3 ดาว อย่างน้อย 4 จังหวัด ในเบื้องต้นมีความชัดเจนในการลงทุน 3 จังหวัดแรกแล้ว ได้แก่ ขอนแก่น ปราจีนบุรี และสมุทรสาคร แต่ละแห่งจะใช้งบในการลงทุนประมาณ 60-70 ล้านบาท ส่วน จ.บุรีรัมย์ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูล จึงยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
สำหรับรูปแบบการพัฒนาบัดเจ็ตโฮเต็ลนั้น จะมีขนาดห้องพักไม่เกิน 79 ห้อง เจาะฐานลูกค้าในหัวเมืองใหญ่ รองรับการเข้าพักระยะสั้นและตลาดการจัดประชุมสัมมนา จุดขายหลักที่จะนำมาใช้ คือ ราคาเข้าถึงง่าย เพียง 700-1,200 บาทต่อห้องต่อคืน พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่อีกสองแบรนด์ยังไม่มี ได้แก่ ตู้เซฟภายในห้องพัก, เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ ฯลฯ
สำหรับโครงการบัดเจ็ตโฮเต็ล 4 แห่ง นอกเหนือจากจังหวัดบุรีรัมย์ที่อยู่ในระหว่างการศึกษาข้อมูล ประกอบด้วย โรงแรมฟอร์จูน ดี ปราจีนบุรี ขนาด 78 ห้องพัก ใกล้ทางเข้านิคมอุตสาหกรรม 304 อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี ที่มีสถานประกอบการกว่า 50 บริษัท, โรงแรมฟอร์จูน ดี สมุทรสาคร ขนาด 78 ห้องพัก บนถนนเศรษฐกิจ 1 ใกล้ห้างบิ๊กซี มหาชัย จ.สมุทรสาคร
และ โรงแรมฟอร์จูน ดี ขอนแก่น ติดกับศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติขอนแก่น (KICE) ถนนมิตรภาพ ใกล้ตัวเมืองขอนแก่น รองรับลูกค้าตลาดประชุมสัมมนา มีขนาดรวม 156 ห้องพัก แบ่งออกเป็น 2 เฟส ได้แก่ เฟสแรก 78 ห้องพัก จะเริ่มพัฒนาในช่วงครึ่งปีแรก และเฟสสอง 78 ห้องพักจะเริ่มพัฒนาปลายปีหน้า
ที่น่าสนใจก็คือ มีรายงานว่า จะมีการทำ โปรแกรมสิทธิประโยชน์ (Loyalty Program) ร่วมกับ ทรูดิจิทัล เพื่อขยายฐานลูกค้า โดยเมื่อจองโรงแรมในเครือ ซี.พี.แลนด์ นอกจากจะได้ส่วนลดค่าห้องพักแล้ว ยังสามารถแลกคะแนนสะสมเป็นพอยต์ โอนเข้าบัญชีทรูมันนี วอลเลต (TrueMoney Wallet) เพื่อใช้จ่ายในร้านค้าเครือซีพี อาทิ เซเว่นอีเลฟเว่น และอื่นๆ
เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัจจุบันกลุ่มทรูมีฐานลูกค้าอยู่ประมาณ 32 ล้านราย ซึ่งแต่ละรายอาจมีมากกว่าหนึ่งผลิตภัณฑ์ เช่น ทรู 5G ทรูมูฟเอช ทรูออนไลน์ ทรูวิชั่นส์ ฯลฯ ขณะที่ผู้ใช้ทรูมันนี่ วอลเล็ต (TrueMoney Wallet) ที่รองรับมือถือทุกเครือข่าย ผู้ใช้งานกว่า 20 ล้านราย ไม่นับรวมแอปพลิเคชันทรูไอดี ที่มีจำนวนผู้ใช้งานกว่า 26 ล้านรายต่อเดือน
ปัจจุบัน โรงแรมในเครือฟอร์จูนมีอยู่ 13 แห่ง กระจายใน 9 จังหวัด คิดเป็นห้องพักรวมกว่า 2,000 ห้อง แม้ที่ผ่านมาจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ก็มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลง อาทิ โรงแรมแกรนด์ ฟอร์จูน กรุงเทพฯ ขนาด 402 ห้องพัก ได้ตัดสินใจปิดโรงแรมเพื่อรีโนเวตด้วยคอนเซปต์ที่ทันสมัยขึ้น กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อวันที่ 15 ต.ค. ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ ซี.พี.แลนด์ มีโรงแรมในรูปแบบไลฟ์สไตล์แอนด์คอนวีเนียนโฮเต็ล (Lifestyle and Convenient Hotel) ระดับ 2-3 ดาว ได้แก่ โรงแรมฟอร์จูน ดี เขาใหญ่, โรงแรมฟอร์จูน ดี แม่สอด, โรงแรมฟอร์จูน ดี เลย, โรงแรมฟอร์จูน บุรีรัมย์, โรงแรม ฟอร์จูน พิษณุโลก ฯลฯ ซึ่งข้อดีของโรงแรมขนาดเล็ก คือ ใช้เวลาก่อสร้างไม่นาน และมีความยืดหยุ่นในการให้บริการ
ปัจจุบัน ธุรกิจบัดเจ็ตโฮเต็ลมีสองเจ้าหลัก ได้แก่ โรงแรมฮ็อปอินน์ มีอยู่ 43 สาขาในไทย และ 6 สาขาในประเทศฟิลิปปินส์ ขณะนี้กำลังขยายโรงแรมในไทยเพิ่มอีก 7 แห่ง ส่วนโรงแรมบีทู มีสาขาทั่วประเทศมากกว่า 50 แห่ง มีสาขาในจังหวัดเชียงใหม่มากที่สุดถึง 16 แห่ง จึงน่าสนใจว่าก้าวย่างต่อจากนี้ อาจจะได้เห็นโรงแรมฟอร์จูน ดี เป็นอีกตัวเลือกของผู้บริโภคมากขึ้น
หมายเหตุ : คอลัมน์ Ibusiness review ขอหยุดตีพิมพ์ 1 ครั้ง เนื่องจากอยู่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ และจะกลับมาพบกับคุณผู้อ่านอีกครั้ง ประมาณวันพุธที่ 12 มกราคม 2565
(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค พบกับคอลัมน์ Ibusiness review เป็นประจำทุกเช้ามืดวันพุธ ทางเว็บไซต์ ibusiness.co และเฟซบุ๊ก Ibusiness)