xs
xsm
sm
md
lg

กทพ.-BEM ลุยระบบ EMV จ่ายค่าทางด่วน 5 สาย เป้า 5 ปีเลิกใช้เงินสดถาวร

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กทพ.เปิดตัวระบบ EMV แตะบัตรเครดิต-เดบิตจ่ายค่าทางด่วน ตั้งเป้าภายใน 5 ปีไม่มีจ่ายด้วยเงินสด “ศักดิ์สยาม” ลั่นอนาคตปรับเป็นระบบ M-Flow หมดยุคชำระด้วยเงินสด แก้รถติดหน้าด่านยั่งยืน

วันที่ 13 ธ.ค. 2564 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการระบบชำระค่าผ่านทางด้วยเทคโนโลยี EMV Contactless (Europay Mastercard and Visa) ณ บริเวณด่านเก็บค่าผ่านทางพิเศษสะพานพระราม 7 ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานคร ว่า ระบบ EMV จะช่วยอำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการทางพิเศษ โดยเชื่อมโยงทุกระบบการชำระเงินด้วยบัตรมาตรฐานสากลเพียงใบเดียว ทั้งบัตรเดบิตและบัตรเครดิตทุกธนาคารที่มีสัญลักษณ์ Contactless แตะ-จ่ายค่าผ่านทางได้สะดวก และมีความเร็วในการผ่านด่านกว่าการจ่ายเงินสดถึง 1 เท่า และหลีกเลี่ยงการสัมผัส ป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ตามที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีนโยบายให้ทุกหน่วยงานเตรียมรองรับสถานการณ์และปรับตัวในรูปแบบ New Normal เพี่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปลอดภัย รวมถึงเตรียมความพร้อมประเทศด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่สังคมดิจิทัลในอนาคต และให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีต่างๆ ได้ง่ายและทั่วถึง เพื่อให้ใช้บริการต่างๆ ของภาครัฐได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น

การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ได้ร่วมกับธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM พัฒนาระบบชำระค่าผ่านทางพิเศษด้วยบัตร EMV Contactless เพื่อเป็นทางเลือกในการชำระค่าผ่านทางให้ประชาชนได้รับความสะดวกสบาย โดยมีขั้นตอนง่ายๆ เพียงแค่ขับรถเข้าช่องเงินสด ลดกระจก และแตะบัตรที่มีสัญลักษณ์ Contactless และในอนาคตจะพัฒนาไปสู่ระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น หรือ M-Flow และระบบตั๋วร่วม ซึ่งใช้บัตรเพียงใบเดียวสามารถเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ ได้แก่ รถไฟฟ้า รถโดยสารประจำทาง และเรือโดยสาร โดยขณะนี้ให้ปลัดกระทรวงคมนาคมศึกษาเปรียบเทียบระหว่างระบบ EMV กับระบบตั๋วร่วม (Common Ticket) ที่ใช้บัตรใบเดียวในการชำระค่าบริการขนส่งสาธารณะต่างๆ ซึ่งจะประชุมในสัปดาห์หน้า
ปัจจุบันระบบ EMV ได้เปิดให้บริการครบทั้ง 5 สายทางแล้ว ได้แก่ ทางพิเศษเฉลิมมหานคร (ทางด่วนขั้นที่ 1) ทางพิเศษศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอกฯ ทางพิเศษอุดรรัถยา (บางปะอิน-ปากเกร็ด) และทางพิเศษกาญจนาภิเษก (วงแหวนใต้) ซึ่งได้รับการตอบรับจากผู้ใช้บริการทางพิเศษเป็นอย่างดี มีจำนวนผู้ใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากมีความสะดวกรวดเร็ว ใช้เวลาน้อยกว่าการชำระค่าผ่านทางด้วยเงินสด ถือเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ใช้บริการทางพิเศษ และลดความแออัดของปริมาณรถสะสมบริเวณหน้าด่าน รวมถึงลดการสัมผัสเงินสดในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 และในอนาคตจะขยายให้ครอบคลุมครบทุกสายทาง
“เป้าหมายในการชำระค่าผ่านทางนั้นต้องการให้เป็นระบบ M-Flow ทั้งหมด เนื่องจากเป็นเทคโนโลยีที่ทั่วโลกใช้ แต่จะค่อยๆ เปลี่ยนผ่าน และในอนาคตการชำระด้วยเงินสดจะไม่มีอีกต่อไป และจะแก้ปัญหาจราจรติดขัดหน้าด่านได้อีกด้วย โดยตามแผน กทพ.มีการติดตั้งระบบ M-Flow และเริ่มทดลองใช้ในปี 2565”

ด้าน นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการ กทพ. กล่าวว่า ปัจจุบันสัดส่วนการชำระค่าผ่านทางในรูปแบบเงินสดมี 50% และเป็นระบบ Easy Pass 50% ซึ่งจากที่ กทพ.ได้ให้มีการทดลองระบบ EMV มาระยะหนึ่งมีผู้ใช้ไม่มาก เนื่องจากไม่มีการประชาสัมพันธ์มากนัก แต่ทั้งนี้ วางเป้าหมายว่าจะเพิ่มการใช้ระบบ EMV ทดแทนการชำระด้วยเงินสดทั้งหมดภายในนระยะเวลา 5 ปี

สำหรับระบบการชำระเงินดังกล่าว ธนาคารกรุงไทยได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องอ่านข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Data Capture) หรือ EDC ที่ได้มาตรฐานที่ช่องเงินสดทุกช่อง โดยผู้ใช้ทางมั่นใจได้ว่าระบบดังกล่าวมีการตรวจสอบข้อมูลที่ถูกต้องและน่าเชื่อถือ นอกจากนี้ ธนาคารฯ ยังได้นำระบบ Krungthai Digital Platform มาช่วยบริหารต้นทุน ลดการใช้กระดาษ และเพิ่มศักยภาพการบริหารจัดการเงินสดของค่าผ่านทางพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพ






กำลังโหลดความคิดเห็น