สถาบันอัญมณีฯ เตือนภัยผู้บริโภค ระวังอันตรายจาก “ทองคำเปลวปลอม” หรือ “ทองคำสังเคราะห์” ที่นำมาใช้ผสมอาหารหรือขนมเพื่อจำหน่าย หลังลงเก็บตัวอย่างที่วางขายในตลาดนัดพบเจอเพียบ เผยทำให้เกิดอาการแพ้ สะสมในร่างกาย เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แนะซื้อจากร้านที่น่าเชื่อถือ มีมาตรฐาน
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เปิดเผยว่า GIT ได้มีการเก็บตัวอย่างอาหารและขนมที่มีการนำทองคำเปลวมาเป็นส่วนประกอบใช้ตกแต่งเพื่อความสวยงาม หรูหรา สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้า และมีวางจำหน่ายทั่วไปในตลาดนัด เพื่อนำมาตรวจสอบ พบว่ามีการใช้ทองคำเปลวปลอม ซึ่งไม่มีส่วนผสมของทองคำ แต่เป็นโลหะอันตราย อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ สะสมในร่างกาย และเกิดอันตรายต่อสุขภาพได้
“องค์ประกอบของธาตุที่ตรวจสอบพบ คือ ทองเหลือง ซึ่งมีส่วนผสมของทองแดง สังกะสี นิกเกิล โครเมียม อะลูมิเนียม และยังมีโลหะหนักอื่นๆ ผสมอยู่ หากนำไปตกแต่งหรือเป็นส่วนผสมในอาหารอาจจะเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค และอาจจะสะสมในร่างกาย ทำให้เกิดโรคจากพิษโลหะหนัก และส่งผลต่อสุขภาพในระยะยาว” นายสุเมธกล่าว
นายสุเมธกล่าวว่า การนำทองคำมาเป็นส่วนประกอบในอาหารมีการใช้มานานแล้วทั้งในไทยและต่างประเทศ แต่ที่ถูกต้องจะต้องเป็นทองคำบริสุทธิ์ 99.99% เพราะเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะไม่ดูดซึม ไม่ย่อย และขับถ่ายออกมาตามปกติ หากผู้บริโภคจะรับประทาน หรือใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีทองคำเป็นส่วนประกอบ ควรมั่นใจว่าเป็นทองคำบริสุทธิ์ 99.99% แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ ทองคำบริสุทธิ์มีราคาสูงมาก จึงมีการนำทองคำที่ค่าความบริสุทธิ์ต่ำ ทองคำสังเคราะห์ หรือทองวิทยาศาสตร์มาใช้ทดแทน ซึ่งมีโทษต่อร่างกายอย่างมากตามที่กล่าวไปแล้ว
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้บริโภค GIT ขอแนะนำให้สังเกตร้านที่น่าเชื่อถือ ร้านที่มีคุณภาพและมาตรฐาน และให้หลีกเลี่ยงร้านค้าที่จำหน่ายในตลาดนัด ตลาดทั่วไป หรือร้านค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าใช้ทองคำเปลวจริงหรือไม่ และในส่วนของผู้ประกอบการที่ต้องการความมั่นใจในการนำทองคำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้าต่างๆ สามารถนำทองคำมาตรวจสอบค่าความบริสุทธิ์ และโลหะเจือปนที่เป็นพิษกับ GIT ได้
อย่างไรก็ตาม เพื่อตรวจสอบว่าเป็นทองคำเปลวจริงหรือไม่ ผู้บริโภคและผู้ประกอบการสามารถขอรับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญของ GIT เบื้องต้น ได้ที่แอปพลิเคชัน CARAT ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มให้คำปรึกษาจาก GIT โดยไม่มีค่าใช้จ่าย หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ห้องปฏิบัติการตรวจสอบโลหะมีค่า โทร. 0-2634-4999 ต่อ 421-425
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปัจจุบันมีการนำทองคำเปลวมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในอาหารและขนม โดยปิดไว้ด้านบน เพื่อความสวยงามและเพิ่มมูลค่าให้แก่อาหาร เช่น เนื้อชั้นดี โอมากาเสะ ซูชิ และขนม เช่น ขนมทองเอก ขนมเค้ก มาการอง ช็อกโกแลต ไอศกรีม เป็นต้น