ปตท.ฟันธงปี 65 ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ย 71-76 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มสูงขึ้นกว่าปีนี้ที่เฉลี่ย 68-71 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และราคา LNG Spot ดีดตัวขึ้นมาอยู่ที่ 17.8 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู แย้มความคืบหน้าตั้งโรงงานผลิตรถอีวีร่วมกับฟ็อกซ์คอนน์จะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) กลางปี 65 เบื้องต้นจะมีกำลังผลิตรถอีวี 5 หมื่นคันก่อนขยับเป็น 1.5 แสนคันในปี 73
นายธนพล ประภาพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายผู้ลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทิศทางราคาน้ำมันในปี 2565 จะปรับเพิ่มสูงขึ้นทุกผลิตภัณฑ์ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นตามการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายลง และการขาดแคลนพลังงานทั้งก๊าซและถ่านหินทำให้ธุรกิจไฟฟ้าจะเปลี่ยนมาใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันหรือโอเปกพลัส และฝั่งสหรัฐฯ จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบขึ้นส่งผลให้ราคาน้ำมันในปีหน้าจะอ่อนตัวลงจากไตรมาส 4/2564 ซึ่ง ปตท.คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 71 -76 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่เฉลี่ย 68-71 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
สำหรับค่าการกลั่น (GRM) ในปีหน้าจะปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 4-5 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่เฉลี่ย 3-4 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติเหลวตลาดจรเอเชีย (Asian Spot LNG) เฉลี่ย 17.8 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่เฉลี่ย 15.5 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เนื่องจากสำรอง LNG ในยุโรปต่ำ และเทรนด์โลกหันมาใช้พลังงานสะอาดทดแทนการใช้พลังงานจากฟอสซิล ทำให้มีความต้องการใช้ LNG เพิ่มมากขึ้นในจีน
ส่วนทิศทางราคาปิโตรเคมีทั้งโอเลฟินส์และอะโรเมติกส์ในปี 2565 มีแนวโน้มปรับตัวลดลงยกเว้นพาราไซลีน (PX) เนื่องจากมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปีนี้ถึงกลางปีหน้า ทำให้ราคาเม็ดพลาสติก HDPE เม็ดพลาสติก PP และเบนซีน ปรับตัวลง 2-4% จากปีนี้ ส่วนพาราไซลีนปรับเพิ่มขึ้น 2-4%
ดังนั้น แนวโน้มผลการดำเนินงานปตท.ในปี 2565 เติบโตดีขึ้นจากปีนี้ หลังความต้องการใช้น้ำมันและปิโตรเคมีฟื้นตัว โดยในส่วนของธุรกิจสำรวจและผลิต (E&P) ราคาขายจะได้รับปัจจัยบวกจากราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มอยู่ในระดับสูง และต้นทุนปรับตัวดีขึ้นหลังจาก ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) เข้าลงทุนในแหล่งโอมาน 61 ที่มีต้นทุนต่ำ ส่วนธุรกิจก๊าซฯ คาดว่าความต้องการใช้จะฟื้นตัวจากปีนี้เล็กน้อย โดยมองว่าความต้องการใช้ก๊าซฯ ใน 5 ปีข้างหน้าจะเติบโตเฉลี่ย 3% และทิศทางราคาก๊าซฯ ในปีหน้าจะเพิ่มขึ้นตามทิศทางราคาน้ำมันเตาที่สูงขึ้น รวมถึงราคา Spot LNG ที่สูงขึ้น
ขณะที่ธุรกิจน้ำมัน คาดการณ์ปริมาณการขายจะฟื้นตัวจากการคลายมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศ รวมถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ดีขึ้นจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ
ด้านธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น คาดว่าในส่วนของโรงกลั่นจะฟื้นตัวจากปีนี้ ตามความต้องการใช้น้ำมันที่เพิ่มขึ้น และธุรกิจปิโตรเคมี ในปีหน้าราคาผลิตภัณฑ์จะสูงกดดันจากกำลังการผลิตใหม่ในโลกที่เพิ่มขึ้น และธุรกิจไฟฟ้าคาดว่าความต้องการใช้จะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
นายประพลกล่าวถึงความคืบหน้าการร่วมทุนกับบริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด หรือฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป จากไต้หวัน เพื่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในไทยว่า จะตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) ในกลางปี 2565 หากตัดสินใจลงทุนคาดว่าจะจัดตั้งโรงงานสร้างแพลตฟอร์มผลิตรถไฟฟ้าครบวงจรแล้วเสร็จปลายปี 2566 เบื้องต้นมีกำลังการผลิตรถอีวี 50,000 คัน และจะทยอยเพิ่มเป็น 150,000 คันในปี 2573
นอกจากนี้ บริษัทย่อยคือ อรุณ พลัส ที่ดำเนินธุรกิจ EV Value Chain จะดำเนินการติดตั้งปั๊มชาร์จไฟฟ้าในปีหน้าจำนวน 1,350 ยูนิต และ OR ตั้งเป้าหมายขยายปั๊มชาร์จไฟฟ้าในปั๊มน้ำมันอีก 200 แห่ง เพื่อให้ครบ 300 แห่งภายในสิ้นปี 2565
ส่วนความคืบหน้าหลังจากลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อศึกษาความเป็นไปได้สำหรับโอกาสทางธุรกิจและการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทย ระหว่าง บริษัท อรุณ พลัส จำกัด กับบริษัท โฮซอน นิว เอนเนอร์ยี่ ออโต้โมบิล (Hozon) บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศจีน ขณะนี้ทางทีม EV ได้เจรจาค่ายผู้ผลิตรถหลายรายทั้งจีน และค่ายอื่นๆ เพื่อดึงมาเป็นพาร์ตเนอร์และมาใช้แพลตฟอร์มผลิตรถอีวีในประเทศไทย