xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” ชู BCG โมเดลขับเคลื่อนลดโลกร้อน-ฟื้นฟู ศก.หลังโควิด-19

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สุริยะ” เร่งขับเคลื่อนโมเดล ศก. BCG เพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า หนุนลดโลกร้อนตามกระแสโลก ควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 เพื่อความยั่งยืน

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แสดงปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนาออนไลน์ “BCG The New Growth Engine พลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย” ซึ่งจัดโดยโพสต์ทูเดย์
ว่า รัฐบาลได้มุ่งเน้นการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG (BCG Model) ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) เพื่อที่จะทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพในการลดโลกร้อนตามทิศทางของกระแสโลกควบคู่ไปกับการกระตุ้นเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19

“สิ่งแวดล้อมกำลังเป็นปัญหาและกระทบให้โลกร้อนขึ้น แม้ว่าโควิด-19 ที่แพร่ระบาดทำให้มิติทางด้านสิ่งแวดล้อมดีขึ้นจากการหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่โควิด-19 ก็ทำให้เกิดขยะทางการแพทย์ รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งจากบริการ Delivery ต่างๆ เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เมื่อมีการคลายล็อกดาวน์ กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินได้เป็นปกติ เศรษฐกิจของประเทศทั้งการผลิตและการบริโภคกลับมาคึกคัก ก็อาจส่งผลให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงขึ้นได้หากไม่มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่ง BCG โมเดลทำให้ตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ของสหประชาชาติและเป็นวาระแห่งชาติของไทย” นายสุริยะกล่าว

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนจะผ่านกลไกขับเคลื่อน 6 ด้าน ได้แก่ 1) การวิจัยพัฒนาเทคโนโลยี และนวัตกรรม 2) เงินทุน สิทธิประโยชน์และรางวัล 3) การพัฒนากำลังคน และความสามารถ 4) การบ่มเพาะ สร้าง และยกระดับผู้ประกอบการและรูปแบบธุรกิจใหม่ 5) มาตรฐาน กฎหมาย กฎระเบียบที่เอื้อต่อการพัฒนา BCG 6) การสร้างและพัฒนาตลาดด้วยการพัฒนาแพลตฟอร์มตลาดอุตสาหกรรมออนไลน์ โดยขับเคลื่อนการพัฒนาทั้ง 3 เศรษฐกิจ B C และ G ไปพร้อมๆ กัน

“รัฐวางเป้าผลักดันให้ประเทศไทยเป็น Bio Hub of ASEAN ภายในปี พ.ศ. 2570 ซึ่งจะเน้นการพัฒนาผลิตภัณฑ์เป้าหมาย 3 กลุ่ม คือ พลาสติกชีวภาพ เคมีชีวภาพ และชีวเภสัชภัณฑ์ซึ่งได้มีการส่งเสริมการลงทุนต่อเนื่อง Circular Economy กระทรวงฯ มุ่งพัฒนาเพื่อก้าวสู่อุตสาหกรรมในยุค 4.0 มุ่งเน้นการปรับโครงสร้างการผลิตจากรูปแบบเดิมไปสู่รูปแบบใหม่ที่คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและครบวงจร ส่วน Green Economy มุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่ไปกับการดูแลรักษาและลดผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้สถานประกอบการพัฒนาสู่การเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว หรือ Green Industry ซึ่งเป็นการแสดงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทาน” นายสุริยะกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น