xs
xsm
sm
md
lg

สนพ.กางแผนเพิ่มพอร์ตพลังงานหมุนเวียน 10 ปีแรกอีก 1,000 เมกะวัตต์รับเทรนด์โลกร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“สนพ.” แจงแนวทางการปรับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 10 ปีแรก (ปี 64-73) ตามนโยบายรัฐเพื่อรับกระแสเน้นพลังงานสะอาดรับลดโลกร้อนลดพลังงานฟอสซิลส่วนของโรงไฟฟ้าก๊าซฯ 700 เมกะวัตต์ เพิ่มพลังงานหมุนเวียนอีก 1,000 เมกะวัตต์ จับตาโรงไฟฟ้าลม ขยับจากแผนเดิม 1,230 เมกะวัตต์

นายวีรพัฒน์ เกียรติเฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)
 เปิดเผยว่า จากมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อ 28 ต.ค. 64 เห็นชอบปรับเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในช่วง 10 ปีแรก (ปี 2564-2573) ตามการจัดทำร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2022) ที่ต้องตอบโจทย์การลดโลกร้อนด้วยการมุ่งเน้นพลังงานสะอาด โดยเบื้องต้นได้มีการพิจารณาปรับสัดส่วนเชื้อเพลิงจากฟอสซิลลงจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่แผนพีดีพีเดิม (PDP2018 rev.1) กำหนดไว้อยู่ที่ 5,550 เมกะวัตต์ จะเป็น 4,850 เมกะวัตต์ลดลง 700 เมกะวัตต์ คงโรงไฟฟ้าถ่านหิน 600 เมกะวัตต์ และเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 10,193 เมกะวัตต์หรือเพิ่มจากแผนเดิม 1,000 เมกะวัตต์

สำหรับรายละเอียดพลังงานหมุนเวียนที่ปรับปรุงมีดังนี้ การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานน้ำต่างประเทศ จากแผนเดิมอยู่ที่ 1,400 เมกะวัตต์ จะเป็น 2,766 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 1,366 เมกะวัตต์, พลังงานแสงอาทิตย์เดิม 5,149 เมกะวัตต์ เป็น 4,455 เมกะวัตต์ ลดลง 739 เมกะวัตต์, พลังงานลมเดิม 270 เมกะวัตต์ เป็น 1,500 เมกะวัตต์เพิ่มขึ้น 1,230 เมกะวัตต์, ชีวมวลเดิม อยู่ที่ 1,120 เมกะวัตต์เป็น 485 เมกะวัตต์ ลดลง 635 เมกะวัตต์, ก๊าซชีวภาพแผนเดิม 783 เมกะวัตต์เป็น 335 เมกะวัตต์ลดลง 448 เมกะวัตต์, ขยะเดิม 400 เมกะวัตต์เป็น 600 เมกะวัตต์ เพิ่มขึ้น 200 เมกะวัตต์ โดยเป็นการปรับเพิ่มในส่วนของขยะอุตสาหกรรมจากเดิม 44 เมกะวัตต์เป็น 200 เมกะวัตต์
 
“การจัดทำแผน PDP 2022 คาดว่าจะแล้วเสร็จในกลางปี 2565 การทำรายละเอียดระหว่างนี้ทาง สนพ.จะหารือกับทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) ถึงศักยภาพพลังงานหมุนเวียน ซึ่ง 10 ปีแรกนี้อาจจะยังเห็นการเพิ่มไม่มาก แต่หลังจากนั้นจะมาค่อนข้างมากเพราะจะต้องตอบโจทย์การลดโลกร้อน และจากการปรับครั้งนี้จะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใน 10 ปีข้างหน้าเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 26-27% จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 23% โดยหลังจากนี้คงจะมีการพิจารณาเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปี 2565 ได้ตามแผนเพื่อรองรับพลังงานหมุนเวียนที่จะเข้าระบบในปี 2566-2567 ซึ่งจะดำเนินการคู่ขนานไปกับการจัดทำ ร่างแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2022) ต่อไป” นายวีรพัฒน์กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น