xs
xsm
sm
md
lg

สนข.เทงบ 39 ล้านสำรวจพฤติกรรมคนเมือง วางโมเดลระบบขนส่งรองรับการเดินทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สนข.ควัก 39 ล้านบาทศึกษาสำรวจการเดินทาง/ขนส่งในเขต กทม.และปริมณฑล วิเคราะห์ภาพรวมการจราจรเจาะลึกพฤติกรรมรูปแบบการเดินทางของคนเมือง จัดทำแผนพัฒนาโครงข่ายระบบการขนส่งและจราจรในอนาคต

วันที่ 23 พ.ย. 64 นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาสำรวจการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (Bangkok Travel Demand Survey) โดยเป็นการจัดทำฐานข้อมูลในแบบจำลองด้านการขนส่งและจราจรระดับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (extended Bangkok Urban Model : eBUM) สำหรับการวางแผนและเสนอแนะนโยบายด้านการขนส่งและจราจร เพื่อสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการ และพฤติกรรมการเดินทางของคน การขนส่งรถบรรทุกสินค้า (Travel Demand Survey) และนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาแบบจำลองด้านการขนส่งและจราจรให้สอดคล้องกับความต้องการและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป สามารถวิเคราะห์สภาพการจราจรบนโครงข่ายการเดินทางในปัจจุบันและอนาคต เพื่อใช้วางแผนการพัฒนาระบบการขนส่งและจราจร และเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศต่อสาธารณะ รวมถึงการเสนอแนะนโยบายด้านการขนส่งและจราจร การนำแบบจำลองไปใช้ในการวิเคราะห์โครงการต่างๆ และใช้ประโยชน์โดยหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยมีหน่วยงานภายในและภายนอกสังกัด กระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนเข้าร่วมสัมมนาจำนวน ประมาณ 100 คน
นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการ สนข. กล่าวว่า การศึกษาสำรวจนี้ได้กำหนดพื้นที่ศึกษาของแบบจำลองในเบื้องต้นจะครอบคลุมพื้นที่เขตเมืองของ กทม.และปริมณฑล รวมทั้งครอบคลุมพื้นที่ศึกษาให้มีความเจาะจงเฉพาะพื้นที่เขตเมือง และครอบคลุมโครงข่ายรถไฟฟ้าตามแผน (M-MAP) และรถไฟฟ้าสายสีแดงส่วนต่อขยายในอนาคต ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครปฐม สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา และฉะเชิงเทรา ครอบคลุม 77 อำเภอ 489 ตำบล รวมพื้นที่ประมาณ 6,630 ตารางกิโลเมตร ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินงานทั้งสิ้น 16 เดือน (1 ก.ค. 64- 31 ต.ค. 65) งบประมาณศึกษา 39 ล้านบาท

ทั้งนี้ การสัมมนาครั้งนี้เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์โครงการตลอดจนรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภายในและภายนอกสังกัดกระทรวงคมนาคม รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาโครงการ สามารถใช้ฐานข้อมูลระบบขนส่งและจราจรที่เป็นฐานข้อมูลเดียวกันในการวางแผนการพัฒนาได้อย่างเหมาะสม ลดความซ้ำซ้อน ส่งผลให้การดำเนินโครงการลงทุนของภาครัฐมีประสิทธิภาพ โดย สนข.จะนำข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะไปประกอบการศึกษาเพื่อให้การศึกษามีความสมบูรณ์ และสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อไป

จากข้อมูลการเดินทางเดิมที่มีการสำรวจในเขต กทม.และปริมณฑลเมื่อปี 2560 พบว่า วัตถุประสงค์การเดินทางสูงสุดคือ ไปทำงาน 63.1% เรียน 12.1% ธุระส่วนตัว 11.5% ไม่มีการเดินทาง 8% ธุระการงาน 2.7% รับส่ง 2.5% โดยใช้รถยนต์เดินทางสูงสุด 39.9% รถสาธารณะ 23.8% (รถโดยสาร 19.80% รถตู้โดยสาร 2.70% รถไฟฟ้า 1.20%) รถจักรยานยนต์ 23.8% เดิน/จักรยาน 5.70% แท็กซี่ / จักรยานยนต์รับจ้าง 4.60% รถรับส่ง รถนักเรียน 2.10% อื่นๆ 0.30%

การศึกษาสำรวจที่ผ่านมายังมีจุดอ่อน เช่น พื้นที่ศึกษากว้าง ทำให้บางจุดเป็นแหล่งเกษตร ไม่มีการเดินทาง การสุ่มตัวอย่างทำแบบจำลองการเดินทางในเมือง 0.3% ต่อประชาชน 1 ล้านคน ถือว่าน้อย โดยในครั้งนี้จะกำหนดพื้นที่ศึกษาเล็กลงและเพิ่มตัวอย่างแบบสำรวจเป็น 1% ซึ่งเท่ากับการทำแบบจำลองเดินทางเมืองใหญ่ เช่น ลอนดอน เป็นต้น

โดยขอบเขตการศึกษาและสำรวจ ประกอบด้วย การศึกษา รวบรวมข้อมูล ผลการศึกษาและการดำเนินงานของโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ นโยบายด้านการขนส่งและจราจรและนโยบายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งผลการศึกษาและการดำเนินงานของโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลพื้นฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ และทบทวนแบบจำลองด้านการขนส่งและจราจรระดับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (eBUM) และพฤติกรรมการเดินทางในระดับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

การสำรวจ วิเคราะห์ความต้องการการเดินทาง และพฤติกรรมการเดินทางของคนและการขนส่งสินค้า ประกอบด้วย 1. การเสนอแนวคิดการสำรวจการเดินทาง (Travel Demand Survey) และการเลือกรูปแบบการเดินทาง เพื่อการพัฒนาแบบจำลองด้านการขนส่งและจราจรระดับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกำหนดจำนวนตัวอย่าง สุ่มสำรวจข้อมูลครัวเรือน ในเบื้องต้นไม่น้อยกว่า 70,000 ครัวเรือน และพิจารณาการนำข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ เข้ามาประกอบและเพิ่มประสิทธิภาพการสำรวจเพื่อให้เป็นไปตามหลักวิชาการ

2. สำรวจวิเคราะห์ความต้องการเดินทาง และการเลือกรูปแบบการเดินทางในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล และวิเคราะห์ความต้องการเดินทาง และ 3. สำรวจ วิเคราะห์ข้อมูลการเดินทางของรถบรรทุกขนส่งสินค้าในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยกำหนดกลุ่มตัวอย่างสุ่มสำรวจไม่น้อยกว่า 10,000 ตัวอย่าง ในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งสินค้า

ส่วนการพัฒนาและประยุกต์ใช้แบบจำลองด้านการขนส่งและจราจร ได้แก่ 1. ออกแบบพัฒนาโครงสร้างแบบจำลองด้านการขนส่งและจราจรในระดับกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 2. วิเคราะห์และพัฒนาแบบจำลองสำหรับการเดินทางในปีฐานและปีอนาคต โดยแสดงรายละเอียดที่มาของข้อมูล และกระบวนการวิเคราะห์ข้อมูล รวมทั้งศึกษาและวิเคราะห์ผลกระทบการจราจรจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เปรียบเทียบกับช่วงก่อนมีโควิด

3. ศึกษาวิเคราะห์สภาพการจราจรบนโครงข่ายการเดินทางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลในปัจจุบันและอนาคต และเสนอโครงการหรือมาตรการด้านการขนส่งและจราจรที่ควรพัฒนาตามความจำเป็นและเหมาะสม 4. นำเสนอวิธีการประยุกต์ใช้แบบจำลองด้านการขนส่งและจราจรไม่น้อยกว่า 5 เรื่อง

5. จัดทำข้อเสนอแนวคิดการสำรวจข้อมูลการเดินทางและการขนส่งสินค้า และแผนการพัฒนาแบบจำลองด้านการขนส่งและจราจรที่เหมาะสมในแต่ละระดับ 6. จัดทำและเผยแพร่ข้อมูลสารสนเทศจากการศึกษาโครงการ และจัดทำรายงานข้อมูลการเดินทางและการขนส่งในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในรูปแบบรายงานประจำปี และ 7. ปรับปรุงคุณภาพและบำรุงรักษาสิทธิการใช้ชุด Software (User Licenses) ให้เป็นปัจจุบันและครอบคลุมการบำรุงรักษาสิทธิหลังสิ้นสุดสัญญาอย่างน้อย 1 ปี


กำลังโหลดความคิดเห็น