xs
xsm
sm
md
lg

ไปให้สุด!! เกาหลีใต้ปักหมุดลุยเมตาเวิร์ส

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


เกาหลีใต้ขอไปต่อสู่โลกเมตาเวิร์ส
เกาหลีใต้ทุ่มสุดตัวคว้าตั๋วสู่เมตาเวิร์ส ไม่ใช่เฉพาะบริษัทเอกชนเท่านั้น แต่รวมถึงหน่วยงานรัฐบาลและคนธรรมดาทั่วไป

หลายคนเริ่มเชื่อว่า เมตาเวิร์สจะดิสรัปต์วิถีชีวิตปัจจุบันและส่งผลกระทบมากกว่าที่เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตเคยทำมาก่อน แถมดูเหมือนความคิดนี้จะแพร่หลายรวดเร็วมาก ซึ่งรวมถึงในเกาหลีใต้ที่ขณะนี้บริษัททีวีโฮมช้อปปิ้งเริ่มใช้เทคโนโลยีเมตาเวิร์สขายสินค้า และสองเมืองใหญ่ประกาศสนับสนุนอุตสาหกรรมเมตาเวิร์สเต็มที่

อุตสาหกรรมมากมายในเกาหลีใต้ยอมรับเมตาเวิร์สเป็นส่วนหนึ่งของอนาคตเป็นที่เรียบร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมบันเทิงและเกม ซึ่งมีภารกิจสำคัญเหมือนกันคือ การนำเสนอบริการที่ทำให้ลูกค้ารู้สึกจมดิ่งเข้าสู่โลกเสมือนมากที่สุด โดยการสร้างความกลมกลืนระหว่างโลกจริงกับโลกเสมือน ดังนั้น ทั้งสองอุตสาหกรรมนี้จึงเลือกเมตาเวิร์ส

บริษัททีวีโฮมช้อปปิ้งดูเหมือนมีเป้าหมายเดียวกับอุตสาหกรรมเกมและบันเทิง เห็นได้จากที่จีเอส ชอป ผู้ให้บริการทีวีโฮมช้อปปิ้งรายแรกในเกาหลีใต้เมื่อปี 1994 กลายเป็นบริษัทแรกที่นำเสนอเทคโนโลยีเมตาเวิร์สในการขายของทางทีวีเช่นเดียวกัน

เมื่อเร็วๆ นี้จีเอสชอปส่งทีมงานไปสแกนและถ่ายภาพดิจิตอลอุปกรณ์และเครื่องจักรในโรงงานผลิตสินค้ายี่ห้อหนึ่งและนำมาสร้างภาพจำลอง 3 มิติบนเมตาเวิร์ส เพื่อทำให้ผู้ชมได้ทัวร์โรงงานเสมือนและเห็นผลิตภัณฑ์ใกล้ชิดกว่าที่เห็นได้ในโลกจริง

ล็อตเต้ โฮม ช้อปปิ้ง คู่แข่งของจีเอสชอป กำลังมุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยี meta-human โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้เปิดตัวลูซี่ นางแบบและนักวิจัยด้านการออกแบบวัย 29 ปี ที่เริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในฐานะอินฟลูเอนเซอร์บนโซเชียลมีเดียขณะนี้

ล็อตเต้ โฮม ช้อปปิ้งเล็งอัพเกรดการเคลื่อนไหวและเสียงของลูซี่ให้เหมือนคนมากขึ้นเพื่อเพิ่มบทบาทใหม่ในการเป็นพิธีกรรายการโฮมช้อปปิ้งเสมือนที่อาจเริ่มต้นในปีหน้า และบริษัทยังมีแผนพัฒนาเทคโนโลยี augmented reality (ความจริงเสริม-เออาร์) เพื่อเร่งรัดสู่เมตาเวิร์ส

นอกจากนั้นเมื่อเร็วๆ นี้ผู้เล่นอีกรายคือ เอ็นเอส โฮม ช้อปปิ้งได้พัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) เพื่ออธิบายสายผลิตภัณฑ์ด้วยเสียงแบบต่างๆ ผ่านเทคโนโลยี deep learning (การเรียนรู้อัตโนมัติด้วยการเลียนแบบการทำงานของโครงข่ายประสาทของมนุษย์) เพื่อให้สอดคล้องกับสคริปต์และบรรยากาศโดยรอบ

ไม่ได้มีแค่ภาคเอกชนเท่านั้น ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมารัฐบาลเมืองกวางจูประกาศโครงการ “เอไอ-เมตา-ซิตี้” ที่ครอบคลุมกลยุทธ์ในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานเมตาเวิร์สที่มุ่งเน้นเอไอ ตลอดจนถึงการพัฒนาและสาธิตเทคโนโลยีเมตาเวิร์ส

เมืองกวางจูยังมีแผนสนับสนุนทั้งอุตสาหกรรมเมตาเวิร์สและระบบเศรษฐกิจปัจจุบันด้วยการปรับใช้เทคโนโลยีเมตาเวิร์สกับอุตสาหกรรมหลัก 5 แขนง ได้แก่ การแพทย์และการดูแลสุขภาพ ยานยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คอนเทนต์ด้านวัฒนธรรม และการผลิต

ลี ยอง-ซอป นายกเทศมนตรีเมืองกวางจู ประกาศเมื่อวันอังคาร (16) ว่าจะสร้างงานใหม่สำหรับคนเจน Z และมิลเลนเนียล ด้วยการสร้างระบบนิเวศรองรับอุตสาหกรรมใหม่โดยผนวกรวมเมืองที่มุ่งเน้นเอไอกับการพัฒนาเมตาเวิร์ส

เมตาเวิร์ส โซล
ก่อนหน้านั้นไม่กี่วัน โซลประกาศเป้าหมายในการเป็นเมืองแรกในเกาหลีใต้ที่เปิดตัวแพลตฟอร์มบริการสาธารณะบนเมตาเวิร์ส รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมเมตาเวิร์สผ่านแผนพัฒนาระยะ 5 ปีและงบประมาณ 3,900 ล้านวอน (ประมาณ 107 ล้านบาท) โดยมีเป้าหมายเบื้องต้น ได้แก่ การสร้างบริการสาธารณะบนเมตาเวิร์ส เช่น แผนกรับเรื่องร้องเรียน และก่อนครบกำหนดแผนการระยะ 5 ปีคือในราวปี 2016 รัฐบาลโซลจะสร้างระบบการทำงานอัจฉริยะบนเมตาเวิร์สพร้อมสำนักงานเสมือนรองรับการทำงานของหน่วยงานรัฐบาลโดยไม่มีข้อจำกัดทั้งด้านเวลาและพื้นที่

แพลตฟอร์มบริการสาธารณะบนเมตาเวิร์สหรือ “เมตาเวิร์ส โซล” ที่จะใช้งานได้ปลายปีหน้าเป็นต้นไปนั้น เป็นส่วนหนึ่งของ “โซล วิชั่น 2030” เพื่อทำให้โซลเป็นเมืองแห่งการอยู่ร่วมกันอย่างปลอดภัยและเป็นผู้นำโลกแห่งอนาคต

ภายใต้แผนการเมตาเวิร์ส โซลจะมีการพัฒนาระบบนิเวศเมตาเวิร์สสำหรับบริการทั้งหมดของรัฐ เช่น เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การท่องเที่ยว การศึกษา และบริการประชาชน ซึ่งถ้าโครงการนี้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย ในไม่ช้าผู้คนในโซลจะสวม VR headset เพื่อพบและขอคำปรึกษาเจ้าหน้าที่ในระบบเสมือนจริง รวมถึงร่วมสนุกในกิจกรรมต่างๆ เช่น การเคาต์ดาวน์ที่หอระฆังโพชินกัง หรือเพลิดเพลินกับสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่างกวางฮวามุนพลาซา พระราชวังด็อกซูกุง และตลาดนัมแดมุนผ่าน “เวอร์ชวล ทัวริสต์ โซน”

คิม ซัง-คยุน ศาสตราจารย์วิศวกรรมอุตสาหการของมหาวิทยาลัยแห่งชาติคังวอน มองว่า เกาหลีใต้กำลังปักหมุดสร้างการเติบโตด้วยเมตาเวิร์ส เนื่องจากเทคโนโลยีนี้ต้องการอุปกรณ์ทางเทคนิคจำนวนมาก ซึ่งเกาหลีใต้มีความได้เปรียบในแง่ความสามารถในการพัฒนาภาคการผลิตและเทคโนโลยี
กำลังโหลดความคิดเห็น