xs
xsm
sm
md
lg

รัฐวนลูป! แก้น้ำมันแพงตรึงดีเซล 30 บาท/ลิตร จับตาทางออกปัญหาม็อบรถบรรทุก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



นับเวลาถอยหลังอีกเพียง 9 วันก็จะถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2564 ซึ่งเป็นเส้นตายที่ทางสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยและเครือข่ายม็อบรถบรรทุกได้ยื่นข้อเสนอเพื่อแสดงจุดยืนให้กระทรวงพลังงานพิจารณาตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 25 บาทต่อลิตรเป็นเวลา 1 ปี

เมื่อวันที่ 15 พ.ย.ที่ผ่านมา หากไม่เช่นนั้นแล้วจะยกระดับการกดดันโดยการนำเอารถบรรทุกทั่วประเทศที่มีอยู่ 1.4 ล้านคันออกมาเติมน้ำมัน 20 ลิตรต่อคันเท่านั้นแล้ววิ่งไป น้ำมันหมดที่ไหนก็จอดที่นั่น ยอมทิ้งให้ไฟแนนซ์มายึดไปเล้ยย!!! หรือพูดง่ายๆ ว่าจะหยุดวิ่งว่างั้น... พร้อมๆ ไปกับการปรับขึ้นค่าขนส่งอีก 10% 
ข้อเรียกร้องของฝั่งสิงห์รถบรรทุกที่ให้ตรึงดีเซล 25 บาทต่อลิตรนั้นเขายืนยันหนักแน่นว่าทำได้จริงไม่ได้คิดมาเล่นๆ ว่าแล้วก็โชว์ให้เห็นกึ๋นกันไปเลย!!! ทั้ง การให้ลดอัตราภาษีสรรพสามิตดีเซลลงมาซึ่งขณะนี้เก็บอยู่สูงถึง 5-6 บาทต่อลิตร รวมถึงการตัดไบโอดีเซล (B100) ที่ผสมในดีเซลออกไปส่วนนี้ก็จะลดได้ 2 บาทต่อลิตร.... แค่นี้ก็ลดได้ 6-7 บาทต่อลิตรแล้ว .... นี่ก็เป็นข้อเสนอที่ทิ้งไว้ข้างหลังให้กระทรวงพลังงานไปคิดหลังจากที่นำรถบรรทุกมารวมตัวภายใต้ กิจกรรมม็อบรถบรรทุก Truck Power ซีซั่งน 2 เพื่อกดดันและเสนอข้อเรียกร้องดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ข่าวล่าสุดก่อนที่จะถึงเส้นตายกระทรวงพลังงานได้เรียกตัวแทนเครือข่ายรถบรรทุกเข้าหารือเพื่อให้ได้ข้อยุติอีกครั้งในวันนี้ (22 พ.ย.) คงจะต้องลุ้นกันว่าผลการหารือนี้จะออกมาในรูปแบบไหนกันแน่!!! แม้ว่าก่อนหน้านี้ท่าทีจากฝั่งภาครัฐ โดยเฉพาะช่วงการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สัญจร ที่ จ.กระบี่ ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่สิงห์รถบรรทุกบุกมาเยือนกระทรวงพลังงาน

นายกฯ ลุงตู่ (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) ยังประสานเสียงได้ดีไม่มีผิดคีย์ กับ "สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์" รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พลังงาน ที่เข้าร่วมประชุมด้วย โดยยืนยันว่า “รัฐยังตรึงราคาดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร” ว่าแล้วก็ร่ายให้เห็นถึงนโยบายรัฐดูแลมาตลอดโดยการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ล่าสุดเหลือก้นถุงอยู่แค่ 5,000 ล้านบาทที่อาจจะใช้ได้แค่สิ้นปีนี้เท่านั้น

ครม.วันเดียวกันเลยต้องอนุมัติให้กู้เพิ่มอีก 2 หมื่นล้านบาท พร้อมเห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เปลี่ยนแปลงกรอบวงเงินกู้เป็นจำนวนไม่เกิน 3 หมื่นล้านบาทจากเดิมไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาทโดยเริ่มต้นจะกู้ได้ 2 หมื่นล้านบาทและอีกหมื่นล้านบาทจะใช้ได้ก็ต่อเมื่อร่าง พ.ร.ฎ.มีผลบังคับใช้ หวังจะตรึงดีเซล 30 บาทต่อลิตรต่อไปถึง เม.ย.-พ.ค.ปีหน้า ตบท้ายท้าให้ไปดูว่ารัฐบาลที่ผ่านๆ มาก็ใช้มาตรฐาน 30 บาทต่อลิตรเหมือนกัน ทำกันมาไม่รู้กี่สิบปีแล้ว …ส่วนลดภาษีฯ ก็จะกระทบรายได้ประเทศและเป็นอำนาจคลัง

ขณะเดียวกันกองทัพบก (ทบ.) มีการตรวจสภาพรถทหารต่างๆ เตรียมพร้อมไว้ที่จะมารับมือหากม็อบหยุดวิ่งที่มีราว 3,700 คันมาขนส่งสินค้าช่วย.....ตามไอเดีย "ลุงตู่" !!! เรื่องนี้ทางสมาคมค้าปลีกชี้ว่าหากหยุดวิ่งจริงก็ไม่กระทบเพราะใช้รถเล็ก แต่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่เช่น ข้าวสาร น้ำตาล ทราย ปูน เหล็ก อาจมีปัญหาได้ แต่หากขนส่งขึ้นยอมรับว่าจะกระทบราคาสินค้าได้ จึงอยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหารือกัน

ปัญหาน้ำมันแพงที่ต้องมุ่งเป้าไปที่ "ดีเซล" เพราะเป็นน้ำมันที่ใช้มากสุดและเป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับการขนส่งที่ผ่านมาหลายสิบปีวงการขนส่งยอมรับที่ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรหากอยู่ระดับนี้ก็จะไม่ขึ้นค่าขนส่งที่จะไปทำให้ผู้ผลิตสินค้าอ้างพาเหรดขึ้นราคากันได้ แต่เวลานี้ไม่ยอมรับแถมมุ่งเป้าไปที่แค่ 25 บาทต่อลิตร... หลายรัฐบาลก็ประสบอย่างสมัย "ทักษิณ" ก็เคยใช้กองทุนน้ำมันฯ อุ้มสูญไปกว่า 9 หมื่นล้านบาทเรียกว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ บางรัฐบาลก็มีทั้งกู้ ทั้งลดภาษีสรรพสามิต ลดการผสมน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ...แต่แม้รัฐบาลจะดูแลราคาดีเซลกันยังไง “ราคาสินค้า” เวลาน้ำมันลดไฉนเลยไม่เคยลงมาบ้างก็ไม่รู้ !!!! คงต้องถามกูรู ???
 
การแก้ไขดีเซลแพงทำกันเป็นลิงแก้แห เอาง่ายๆ เฉพาะหน้า วนลูปกันไป !!! ซึ่งในข้อเท็จจริงก่อนอื่นเราต้องยอมรับก่อนว่า “ไทยนำเข้าน้ำมันดิบ” ถึง 90% เพราะแหล่งที่ค้นพบในประเทศมีน้อยมากเพราะส่วนใหญ่เจอแต่ก๊าซธรรมชาติ.... คิดเป็นมูลค่านำเข้าปีหนึ่งๆ เฉลี่ย 7-8 แสนล้านบาทในช่วงเศรษฐกิจปกติ แต่ปี 2563 เศรษฐกิจที่เจอผลกระทบวิกฤตโควิด-19 การใช้ลดลงก็ยังต้องจ่ายราว 5.3 แสนล้านบาท ดังนั้นหากราคาตลาดโลกแพงขึ้นก็ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นและหากค่าเงินบาทของไทยอ่อนค่าการควักจ่ายก็ยิ่งแพงไปอีกกลายเป็นเจอ 2 เด้ง โดยปีนี้ในช่วงที่น้ำมันไทยแพงราคาน้ำมันดิบดูไบแตะ 80-90 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แถมเงินบาทก็อ่อนค่าอีกด้วย

น้ำมันดิบเหล่านี้จะต้องมาผ่านกระบวนการกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปประเภทต่างๆ ก่อนจะถูกส่งผ่านมายังค้าส่ง ค้าปลีกจนถึงปั๊มให้ประชาชนได้เติมน้ำมัน... และเมื่อผ่าโครงสร้างกับสิ่งที่เราต้องควักจ่ายจะมีหลักๆดังนี้ที่ 1. ราคาหน้าโรงกลั่น ซึ่งเป็นต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการและอ้างอิงราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นสิงคโปร์เพราะเป็นตลาดกลางในภูมิภาคนี้ซึ่งคิดจากต้นทุนเนื้อน้ำมันดิบบวกกับค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าการกลั่น ค่าขนส่ง ฯลฯ 2. ภาษีเป็นส่วนที่รัฐบาลเรียกเก็บเพิ่มเติมจากราคาน้ำมันเพื่อเป็นรายได้ในการนำมาพัฒนาประเทศ ประกอบด้วย ภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล และภาษีมูลค่าเพิ่ม (Vat) 7%

3. เงินกองทุน ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ เงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เก็บเพื่อสำรองไว้ดูแลราคาช่วงที่ราคาสูงเพื่อลดภาระ แต่ละชนิดก็จะเก็บและอุดหนุนต่างกันไป โดยเฉลี่ยขณะนี้ดีเซลเก็บอยู่ 5-6 บาทต่อลิตร อีกส่วนคือกองทุนเพื่อส่งเสริมอนุรักษ์พลังงาน เก็บอยู่ 0.10 บาทต่อลิตร ล่าสุดรัฐปรับลดเหลือ 0.05 บาทต่อลิตรในปี 2565 ส่วนนี้ก็เอาไว้ส่งเสริมพลังงานทดแทน และ 4. ค่าการตลาด ซึ่งส่วนนี้ถือเป็นกำไรของธุรกิจค้าส่งค้าปลีกน้ำมัน ซึ่งกำหนดได้แบบเสรีแต่มีรัฐคอยควบคุมดูแลไม่ให้สูงเกินไป เช่น ปัจจุบันรัฐได้กำหนดไม่ให้เกิน 1.40 บาทต่อลิตร

รัฐเองก็ยืนยันว่าราคาขายปลีกน้ำมันของไทยนั้นไม่ได้แพงแต่อย่างใด โดยปัจจุบันราคาของประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ ราคาคร่าวๆ อยู่ที่ 52 บาทต่อลิตร สปป.ลาวอยู่ที่ 30 บาทต่อลิตร กัมพูชา 30 บาทต่อลิตร เมียนมา 27 บาทต่อลิตร อินโดนีเซีย 27 บาทต่อลิตร เวียดนาม 24 บาทต่อลิตร มาเลเซีย 17 บาทต่อลิตร ซึ่งในประเทศที่ราคาค้าปลีกน้ำมันถูก ส่วนหนึ่งเพราะเขาผลิตน้ำมันดิบได้เอง ขณะเดียวกันโครงสร้างราคาน้ำมันของไทยมีการบวกภาษีต่างๆ เพื่อเป็นรายได้เข้ารัฐในการนำมาพัฒนาประเทศ
 
คลังเองก็ยอมรับว่าที่ต้องเก็บภาษีสรรพสามิตเป็นไปตามหลักสากล เพราะการบริโภคสินค้าพลังงานสร้างผลกระทบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมต่างๆ มากมาย …….ส่วน Vat 7% นั้นก็ยังถือว่าเก็บต่ำกว่าที่ควรจะเป็นที่ควรเก็บ 10% และยังต่ำกว่าภูมิภาคนี้อีกด้วย!!! แต่ถามว่าลดภาษีสรรพสามิตดีเซลลงทันที 5 บาทต่อลิตรได้ไหม ??? คำตอบ ได้ แต่ทำยาก เพราะถ้าลดทันทีเงินหายเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท ปีหนึ่งก็ 1.2 แสนล้านบาท คลังคงไม่ยอมง่ายๆ ท่ามกลางภาระหนี้ประเทศท่วมท้น!!! จากผลกระทบโควิด-19 ...
 
อย่างไรก็ตาม หากสะท้อนข้อเสนอแนะจากหลายภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาน้ำมันแพงต่างเห็นตรงกันว่าจะให้มันยั่งยืน !!! แทนที่จะแก้ไขเฉพาะหน้า ควรจะต้องมาดูทั้งโครงสร้าง ที่อาจไม่ง่ายแต่ต้องทำ ในระยะยาว ..... ไม่ว่าจะเป็นที่ภาษีสรรพสามิตที่แม้คลังจะอ้างการมีไว้เพื่อวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมแต่อัตราที่เก็บขณะนี้ค่อนข้างสูงมากแทบไม่เคยมีการลดภาษีสรรพสามิตเพื่อทำให้ราคาน้ำมันผสม (ที่รักษาสิ่งแวดล้อม) มีราคาถูกลงตามนโยบายที่ว่าไว้...

ขณะเดียวกันเมื่อดูราคาไบโอดีเซล (B100) ที่ผสมในดีเซล และเอทานอลที่ผสมในเบนซินเฉลี่ยเมื่อไปอยู่ในสูตรของราคาน้ำมันมีราคาสูงลิ่ว...แถมยังดึงกองทุนน้ำมันฯ ไปอุดหนุนราคาที่สูงอย่างต่อเนื่องจนกองทุนน้ำมันฯ ร่อยหรอ.....จนมีคนเสนอให้ปรับโครงสร้างต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่ก็ใช้วิธีให้เป็นน้ำมันทางเลือกให้ผู้บริโภคเติมมีทั้งแบบผสม และไม่ผสม ไม่ใช่บังคับผสมเช่นปัจจุบันเพื่อให้เป็นไปตามนโยบายรัฐในการช่วยสนับสนุนผลผลิตเกษตรกรทั้งอ้อย และปาล์ม
 
ส่วนราคาดีเซลที่กำหนดไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตรเพื่อดูแลค่าขนส่งไม่ให้กระทบราคาสินค้านั้น ในข้อเท็จจริงเมื่อรัฐตรึงราคาช่วย ...ทำให้รถที่ใช้ดีเซลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และคนที่ได้รับประโยชน์แฝงจึงเพิ่มขึ้น เพราะปัจจุบันรถที่ใช้ดีเซลนั้น มีทั้งรถบรรทุกขนาดใหญ่และดีเชลขนาดเล็กส่วนบุคคล เข่นรถอเนกประสงค์ SUV ซึ่งมีราคาแพง แม้แต่รถกระบะ บางส่วนที่ใช้ส่วนตัวไม่เกี่ยวกับขนส่งก็เช่นกัน ดังนั้นจำเป็นที่รัฐต้องแยกรถประเภทนี้ให้ชัดและกำหนดแนวทางที่จะทำให้การอุ้มราคาดีเซลเกิดขึ้นเฉพาะรถขนส่งอย่างแท้จริง…
 
กรณีค่าการตลาดมีบางฝ่ายมองว่าบางช่วงสูงเกินกว่าที่กำหนดไว้ล่าสุดไม่เกิน 1.40 บาทต่อลิตร แต่ทางผู้ค้าเองก็ยืนยันว่าค่าการตลาดดังกล่าวยังต่ำไปด้วยซ้ำโดยเฉพาะปั๊มเล็กยิ่งแบกหนักเพราะต้นทุนค่าแรง หัวจ่ายน้ำมันของไทยก็กลายเป็นภาระเพราะมีมากสุดในโลก นโยบายรัฐเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาเดี๋ยวยกเลิก ไม่ยกเลิก ทำให้การวางแผนที่ผ่านมามีความผิดพลาด หากค่าการตลาดไม่จูงใจก็จะไม่เกิดการพัฒนาด้านการบริการที่ดีเช่นปัจจุบัน ทุกวันนี้ปั๊มต้องหารายได้จากนอนออยล์ด้วยซ้ำ.....

ด้านผู้นำเข้าน้ำมันก็ต้องสำรองน้ำมันไว้ 4-6% ห้ามเอาไปขาย กลายเป็นต้นทุนที่เป็นภาระของผู้ผลิตอีกด้วยแถมน้ำมันในไทยมีมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ลดกำมะถัน ลดสารไอระเหยที่เป็นอันตราย โรงกลั่นต้องลงทุนปรับคุณภาพ ทำให้น้ำมันไทยมีคุณภาพสูงกว่าเพื่อนบ้าน แต่มาพร้อมกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น…. เป็นต้น ดังนั้นจึงมีผู้เสนอให้มีการจัดสมดุลในส่วนนี้ให้เหมาะสมที่ทำให้ทุกฝ่ายอยู่ได้น่าจะดีสุด ...และให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น นี่เป็นเพียงส่วนน้อยของข้อเสนอที่ยังมีอีกมากมาย....ส่วนจะแก้หรือไม่อย่างไรก็อยู่ที่หน้าที่ภาครัฐในฐานะกำกับดูแล

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่อ่อนค่าลงในช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนวิตกว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่เพิ่มขึ้นในยุโรปจะชะลอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกระทบความต้องการใช้น้ำมัน นอกจากนี้ นักลงทุนยังคาดว่าสหรัฐฯ และจีนอาจจะระบายน้ำมันออกจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์เพื่อทำให้ราคาน้ำมันลดลง ทั้งกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และสำนักงานพลังงานสากล (IEA) ต่างก็คาดการณ์ว่าตลาดน้ำมันจะเผชิญกับภาวะอุปทานล้นตลาดในปีหน้า ...


จึงทำให้ค่าการตลาดน้ำมันของไทยในช่วงวันที่ 19 พ.ย.(ดูตารางประกอบ) มีการปรับตัวสูงขึ้นเพราะน้ำมันตลาดโลกปรับลงแรง และส่งผลให้ผู้ค้าน้ำมันขายปลีกนำโดย ปตท.และบางจากได้ปรับลดราคาขายปลีกทันที โดยดีเซลลด 30 สตางค์ต่อลิตร และเบนซินลด 40 สตางค์ต่อลิตรเว้น E85 ลด 20 สตางค์ต่อลิตร มีผล 20 พ.ย. 64 ......ซึ่งนี่อาจจะเป็นการลดแรงกระเพื่อมของปัญหาน้ำมันแพงลงได้บ้างแต่คงจะต้องลุ้นต่อว่าน้ำมันโลกจะลดต่อเนื่องหรือไม่อย่างไรแน่ ??? หากไต่ลงต่อเนื่องน่าจะเป็นข่าวดีสำหรับทุกๆ ส่วน

ดังนั้น การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า!!! ที่กระทรวงพลังงานต้องเคลียร์กับม็อบรถบรรทุกที่ต้องใช้หลักของเหตุและผล มองประโยชน์ที่จะไม่กระทบต่อภาพรวม เพราะเวลานี้ประชาชนเองก็ลำบากมากพอกับผลกระทบโควิด-19 กันถ้วนหน้าอยู่แล้ว ... และอย่าลืมว่าหนี้กองทุนน้ำมันฯ ที่เกิดขึ้นผู้บริโภคน้ำมันก็ต้องจ่ายคืนในอนาคตด้วยโดยการทยอยถูกเก็บเงินในช่วงราคาน้ำมันโลกถูกๆ มาใช้หนี้คืนเช่นที่ผ่านๆ มา และเผลอๆ ก็ต้องรีดจากคนใช้เบนซินผสมโรงไปใช้หนี้ด้วย.....เรียกว่าคนใช้เบนซินก็รับเละไปทั้งขึ้นทั้งล่อง...ถือเป็นความไม่ยุติธรรม

ขณะเดียวกันก็อย่าลืมระยะยาวจำเป็นต้องเร่งปรับโครงสร้างรองรับทั้งการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำตามเทรนด์โลก และยานยนต์ไฟฟ้าก็กำลังจะมา...ภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่เป็นรายได้หลักของประเทศจะทำอย่างไร... น้ำมันต่างๆ ที่ผลิตจะไปทางไหน เชื้อเพลิงชีวภาพต้องเคลียร์ให้ชัดจะเหลือตัวไหนไม่ใช่ลักปิด-ลักเปิด ฯลฯ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องบูรณาการวางแผนเอาไว้...หากไม่เช่นนั้นประชาชนก็จะกลายเป็นผู้แบกรับภาระเช่นเคย...
กำลังโหลดความคิดเห็น