xs
xsm
sm
md
lg

“บีไอจี” ลั่นปี 65 ก๊าซอุตสาหกรรมโต 5-6% นำนวัตกรรมหนุนอุตฯ ไทยสู่เป้า Net Zero

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



บีไอจีคาดการใช้ก๊าซอุตสาหกรรมในไทยปีหน้าโต 5-6% จากปีนี้ที่เติบโต 11% อยู่ที่ 4,200 ตัน/วัน หลังสถานการณ์โควิดคลี่คลายและภาคอุตสาหกรรมฟื้นตัวดี เล็งนำนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมพร้อมระบบดิจิทัลมาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อผลักดันไทยเป็นสังคมโลว์คาร์บอนสอดรับ COP26

นายปิยบุตร จารุเพ็ญ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด (บีไอจี) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้าการใช้ก๊าซอุตสาหกรรมในไทยในปี 2565 จะกลับสู่ภาวะปกติเติบโต 5-6%จากปีนี้ที่บริษัทมีปริมาณการขายก๊าซอุตสาหกรรมอยู่ที่ 4,200 ตัน/วัน โตขึ้น 11% จากปีก่อนที่มียอดขายก๊าซรวม 3,900 ตัน/วัน แม้ว่าปีนี้ไทยจะมีการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 3 และ 4 ที่รุนแรง แต่สหรัฐอเมริกาและยุโรปโควิดคลี่คลายทำให้มีความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ภาคการผลิตเพื่อส่งออกของไทยเติบโตดีโดยเฉพาะอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และปิโตรเคมีทำให้มีการใช้ก๊าซอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน โรงพยาบาลก็มีการใช้ก๊าซออกซิเจนเพิ่มขึ้นถึง 30-40% จากเดิม 350 ตัน/วัน เพิ่มเป็น 500 ตัน/วัน


สำหรับก๊าซอุตสาหกรรมที่มีการใช้เพิ่มมากสุด 3 อันดับแรกคือ ก๊าซไนโตรเจนซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ ปิโตรเคมี 2. ก๊าซออกซิเจน มีการใช้ในโรงพยาบาลเพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี ขณะนี้สถานการณ์โควิดในประเทศคลี่คลายดีขึ้นทำให้ความต้องการใช้ออกซิเจนในโรงพยาบาลเริ่มลดลงแต่ก็ยังมีปริมาณการใช้สูงอยู่ และ 3. ก๊าซไฮโดรเจน ใช้ในโรงกลั่นและอีกหลายอุตสาหกรรม

นายปิยบุตรกล่าวว่า ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์นั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศความร่วมมือกับประชาคมโลกเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งประเทศไทยจะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ปี ค.ศ. 2065

ดังนั้น บีไอจีมีแผนนำนวัตกรรมเพื่อผลักดันให้อุตสาหกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) เช่น การนำนวัตกรรมจากออกซิเจนมาใช้ในอุตสาหกรรมแก้วและกระจกเพื่อทำให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ สามารถลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการเผาไหม้ อีกทั้งช่วยให้ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีความสมบูรณ์ เพิ่มผลผลิต ประหยัดพลังงาน และลดการใช้เชื้อเพลิง

การนำนวัตกรรมการใช้ไนโตรเจนในอุตสาหกรรมการถนอมอาหารทดแทน แทนการใช้ไฟฟ้าในการแช่แข็งช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน รวมถึงการนำนวัตกรรมจากไฮโดรเจนมาใช้ในหลากหลายอุตสาหกรรม เนื่องจากไฮโดรเจนเป็นพลังงานสะอาด ไม่ก่อให้เกิดมลพิษเพราะสิ่งที่เหลือจากการใช้งานคือ น้ำ ซึ่งจะช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ


ขณะเดียวกัน รัฐบาลไทยเองก็มีแผนนำมาตรการทางภาษีมาใช้สำหรับอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คือภาษีคาร์บอน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมรอความชัดเจนในเร่องนี้อยู่

“เงื่อนไขการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงของประชาคมโลก ว่าด้วยการลดก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศให้เป็นศูนย์ จะเป็นการเร่งผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมมีความระมัดระวังในการผลิตมากขึ้น ซึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีในการใช้ก๊าซอุตสาหกรรมจะเป็นส่วนสำคัญในภาคการผลิต สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเทคโนโลยีของบีไอจี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยและวางแนวทางในการนำเทคโนโลยีเข้าไปใช้ภาคการผลิตในหลายรายเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็นแพลต์ฟอร์มด้านนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตที่มีการผสมผสานเทคโนโลยีโดยการนำ Internet of Things (IoT) และนวัตกรรมก๊าซอุตสาหกรรมที่บีไอจีนำมาจากบริษัท แอร์โปรดักส์ แอนด์ เคมิคอลส์ จำกัด สหรัฐฯ (บริษัทแม่ของบีไอจี) ที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการใช้พลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ”

ทั้งนี้ บริษัทได้ร่วมทุนกับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ตั้งโรงแยกอากาศแห่งใหม่ในนาม บริษัท มาบตาพุด แอร์โปรดักส์ จำกัด : เอ็มเอพี (Map Ta Phut Air Products Co., Ltd. : MAP) โดยมีกำลังการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมถึงกว่า 450,000 ตันต่อปี ทำให้บีไอจีมีกำลังการผลิตก๊าซอุตสาหกรรมรวมถึงกว่า 2,500,000 ตันต่อปี รองรับความต้องการใช้ก๊าซอุตสาหกรรมใน EEC ได้ 4-5 ปีข้างหน้า รวมทั้งโรง MAP ยังมีส่วนช่วยในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Emissions) สู่ชั้นบรรยากาศเนื่องจากเป็นการนำเทคโนโลยีการแยกอากาศโดยอาศัยพลังงานความเย็นที่ได้จากการเปลี่ยนสถานะก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ลดการพึ่งพาการใช้ไฟฟ้าในกระบวนการแยกอากาศ ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมตอบโจทย์นโยบายเกี่ยวกับ Climage Change ของภาครัฐ โดยสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 28,000 ตันต่อปี และลดการปล่อยน้ำเย็นลงสู่ทะเล 2,500 ตันต่อชั่วโมง
กำลังโหลดความคิดเห็น