xs
xsm
sm
md
lg

“ชัยวุฒิ” เชื่อ 5G ดันเศรษฐกิจดิจิทัลไทยพุ่ง 30% ของจีดีพีภายในปี 2573

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“ชัยวุฒิ” รมว.ดีอีเอส ชี้เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยอนาคตรุ่ง เติบโตต่อเนื่องฝ่าพิษโควิด คาดทะยานแตะ 30% ของจีดีพีประเทศได้ภายในปี 2573 ขณะที่หัวเว่ยจับมือรัฐเอกชนในอุตสาหกรรมไอซีทีกว่า 50 รายทั่วประเทศจัดงานแสดงศักยภาพเทคโนโลยี 5G ,คลาวด์,เอไอ ควบคู่เทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวในงาน “POWERING DIGITAL THAILAND 2022 HUAWEI CLOUD & CONNECT ASIA PACIFIC INNOVATION DAY” จัดโดย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ บริษัท บางกอกโพสต์ จำกัด (มหาชน) มูลนิธิอาเซียนและพาร์ทเนอร์ทั้งภาครัฐและเอกชนในอุตสาหกรรมไอซีทีอีกกว่า 50 รายทั่วไทย ระหว่างวันที่ 17-19 พ.ย. 2564 ณห้องประชุมคอนเวนชัน เซ็นเตอร์ ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิร์ลด์ ว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยได้จัดทำแผนปฏิบัติการด้านดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2561-2565) โดยตลอดระยะเวลาในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและ Data Economy ของประเทศไทยมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากในด้านสำคัญๆ ได้แก่ 1.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลประสิทธิภาพสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ มีความก้าวหน้าอย่างมาก จากรายงานการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยสถาบัน IMD พบว่า ในด้านเทคโนโลยี ประเทศไทยได้ก้าวขึ้นจาก อันดับ 29 สู่อันดับที่ 22 โดยเฉพาะในด้านการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเคลื่อนที่ การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตใช้สาย และโครงสร้างพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคม

2.การขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ในปี 2561 เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยคิดเป็น 17% ของจีดีพีประเทศจากนั้นขยายตัวต่อเนื่อง โดยในช่วงปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจดิจิทัลมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยมากกว่า 10% ต่อปี ซึ่งถือเป็น2.5 เท่าของอัตราการเติบโตของจีดีพีในประเทศ แม้เผชิญสถานการณ์โควิด–19 ที่ส่งผลให้จีดีพีโดยรวมของประเทศลดลง แต่เศรษฐกิจดิจิทัลและนวัตกรรมดิจิทัลของประเทศไทยยังคงมีความเคลื่อนไหว และเติบโตในเชิงบวกอย่างต่อเนื่อง ประเมินว่า เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยจะเติบโต และมีสัดส่วนมากกว่า 20% ของจีดีพีประเทศได้ และเชื่อว่าภายในปี 2573 หรือเร็วกว่านั้น เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทยจะพุ่งไปถึง 30% ของจีดีพี

และ 3.การสร้างสังคมคุณภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ดีอีเอส ได้มีการขับเคลื่อนการส่งเสริมการจัดตั้งเครือข่ายและสัญญาณไร้สาย ให้ครอบคลุมพื้นที่ห่างไกลอย่างต่อเนื่อง โดยโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล จะช่วยรับประกันและสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ห่างไกล ให้ได้รับการศึกษาทางไกลในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ทั้งยังช่วยให้กลุ่ม SMEs และเกษตรกร สามารถพัฒนาระบบการจัดการลูกค้าผ่านเทคโนโลยีแพลตฟอร์มคลาวด์ ควบคู่กับการดูแลความปลอดภัยไซเบอร์ไม่ให้มีการล่อลวงออนไลน์หรือการแฮคข้อมูลไปเรียกค่าไถ่ซึ่งต้องมีกฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแล

“การที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรกๆในการนำ 5G มาใช้ ทำให้เราสามารถนำมาต่อยอดกับธุรกิจได้สะดวกขึ้น เราจึงสามารถเข้าสู่ยุคโควิด ได้ เช่น การใช้งานอี-แบงก์กิ้ง เมื่อประชาชนมีความคุ้นเคยมาก่อนและรัฐบาลนำมาใช้เป็นช่องทางเยียวยาประชาชนไม่ว่าจะเป็นแอปเป๋าตังค์ โครงการคนละครึ่ง ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นอันดับหนึ่งของโลกที่รัฐบาลนำแอปดังกล่าวมากระตุ้นเศรษฐกิจจนมีหลายประเทศสนใจเข้ามาศึกษาดูงานเพื่อนำไปใช้ ดังนั้นเราเชื่อว่าเทคโนโลยีจะมาเป็นเครื่องมือสำคัญให้ประเทศพ้นจากกับดักรายได้น้อยและก้าวสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว” นายชัยวุฒิ กล่าว


ด้านนายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร หัวเว่ย เทคโนโลยี่ กล่าวว่า หัวเว่ยจะมุ่งมั่นผลักดันเทคโนโลยีดิจิทัลในประเทศไทยซึ่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ผ่าน 4 แนวทางหลัก แนวทางแรกคือ การเชื่อมต่อที่ครอบคลุมทั่วถึงผ่านเทคโนโลยี 5G โดยการประยุกต์ใช้ 5G ในภาคอุตสาหกรรมแนวดิ่งต่างๆ แนวทางที่สองคือ หัวเว่ย คลาวด์ โดยเราจะสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลอัจฉริยะในประเทศไทยผ่านบริการคลาวด์ทุกรูปแบบ ซึ่งปัจุบันหัวเว่ยเป็นผู้ให้บริการคลาวด์ระดับโลกเพียงรายเดียวที่มีศูนย์ข้อมูลในประเทศไทย ทั้งยังเตรียมขยายศูนย์ข้อมูลแห่งที่สามเพื่อรองรับการให้บริการภายในเดือนพ.ย.นี้

แนวทางที่สามคือ การสร้างนวัตกรรมเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อรองรับแนวทางการพัฒนาที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของประเทศไทย ภายในปี พ.ศ. 2593 ตามกลยุทธ์ของประเทศ และแนวทางที่สี่คือ การสร้างอีโคซิสเต็มแห่งนวัตกรรมอันอุดมสมบูรณ์ในประเทศไทย ด้วยศูนย์ 5G ecosystem innovation center โครงการ Spark Program และโครงการ Huawei ASEAN Academy รวมถึงโครงการสำหรับบ่มเพาะทักษะดิจิทัลต่างๆ

นอกจากนี้ หัวเว่ยยังมีความมุ่งมั่นที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านการลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งเรามั่นใจว่าประสบการณ์ในธุรกิจพลังงานกว่า 30 ปีของหัวเว่ย พร้อมด้วยนักวิจัยในสายอุตสาหกรรมพลังงานมากกว่า6,000 คน และการแบ่งสัดส่วนรายได้ของเราเกือบ 15% เพื่อใช้เป็นงบประมาณด้านการวิจัยพัฒนาในทุก ๆ ปี จะทำให้เราสำเร็จตามเป้าหมายนี้ได้

สำหรับหนึ่งในนวัตกรรมที่น่าจับตามองในอีเวนท์ครั้งนี้คือพลังงานอัจฉริยะดิจิทัลพาเวอร์ โดยหัวเว่ยได้เปิดตัวส่วนธุรกิจดิจิทัลพาวเวอร์ในตลาดประเทศไทย ซึ่งให้ความสำคัญกับการพัฒนาพลังงานสะอาดที่จะเข้ามาทดแทนการใช้พลังงานฟอสซิลแบบดั้งเดิม ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและผลักดันพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยมีเป้าหมายในการสร้างสังคมอัจฉริยะที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ

ทั้งนี้ ส่วนธุรกิจดิจิทัลพาวเวอร์ของหัวเว่ยจะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในด้านลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ การปรับเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า และด้านการใช้ประโยชน์จากข้อมูลดิจิทัลในปริมาณมหาศาล ต่อยอดเป็นเทคโนโลยีเอไอ ผ่านการใช้แอปพลิเคชันต่าง ๆ อาทิ ระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่และ Smart PV โครงข่ายการชาร์จรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ ศูนย์ข้อมูลดาต้าอัจฉริยะ และศูนย์พลังงานสีเขียว โดยปัจจุบัน หัวเว่ยได้ให้บริการแก่ลูกค้าและพาร์ทเนอร์ในประเทศไทยมากกว่า 1,000 ราย

สำหรับเทคโนโลยีสำคัญที่ได้รับการจัดแสดงภายในงาน POWERING DIGITAL THAILAND 2022 HUAWEI CLOUD & CONNECT ASIA PACIFIC INNOVATION DAY ครั้งนี้ ประกอบด้วย นวัตกรรมสำหรับภาคอุตสาหกรรมการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และอุตสาหกรรมพลังงานอัจฉริยะซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ในประเทศไทย

โดยนวัตกรรมแรกได้แก่ Cloud Tractor Training ที่ผู้เข้าร่วมงานจะได้ลองฝึกขับรถแทรกเตอร์การเกษตรผ่านเครือข่าย 5G และเทคโนโลยีคลาวด์ ซึ่งเกษตรกรไทยสามารถใช้ฝึกฝนการขับรถแทรกเตอร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร อีกหนึ่งนวัตกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ Machine Vision Product Line ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีเอไอ ไปติดตั้งกับกล้องตรวจเช็คคุณภาพสินค้าจากโรงงานผลิต ด้วยความแม่นยำในการตรวจสอบถึง 90% ช่วยลดการใช้แรงงานคนได้ถึง 70%

ภายในงาน POWERING DIGITAL THAILAND 2022 HUAWEI CLOUD & CONNECT ASIA PACIFIC INNOVATION DAY ยังมีนวัตกรรมที่น่าสนใจอีกหลากหลายรูปแบบซึ่งแสดงกรณีศึกษาและโซลูชันที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล รวมถึงการเสริมสร้างอีโคซิสเต็มที่เปิดกว้าง เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยได้แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็น 3 ส่วน

ส่วนแรกคือส่วนของการสร้างนิยามใหม่ให้แก่โครงสร้างพื้นฐาน ที่จะแสดงให้เห็นว่าเทคโนโลยี 5G คลาวด์ และ เอไอ จากทุกภาคอุตสาหกรรมจะสามารถผสานรวมกันและปลดปล่อยคุณค่าที่แท้จริงได้อย่างไร ส่วนที่สองคือการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลในภาคอุตสาหกรรมครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมคมนาคมแบบอัจฉริยะ สถานศึกษาอัจฉริยะ ไปจนถึงอุตสาหกรรมการเงินอัจฉริยะ และส่วนที่สามคือส่วนการจัดแสดงของพาร์ทเนอร์ ซึ่งหัวเว่ยได้รวบรวมพาร์ทเนอร์อันทรงคุณค่าที่จะมาช่วยกันสร้างอีโคซิสเต็มที่อุดมสมบูรณ์ในโลกอัจฉริยะ

นวัตกรรมที่น่าสนใจอื่น ๆ ยังรวมถึงสมุดปกขาว Intelligent World 2030 ที่ระบุถึงเทรนด์เทคโนโลยีสำคัญอันน่าจับตามองจากทางหัวเว่ย เทคโนโลยีคลาวด์จากหัวเว่ย เทคโนโลยี 5G Bullet Time เทคโนโลยีเกม VR ผ่านคลาวด์และ 5G อุตสาหกรรมสาธารณสุขอัจฉริยะ อุตสาหกรรมการเงินอัจฉริยะ และอุตสาหกรรมการศึกษาอัจฉริยะ เป็นต้น

นอกจากนี้ ภายในงานยังได้จัดคอร์สการฝึกอบรม Hands-on Lab ซึ่งจะมีบรรดาผู้เชี่ยวชาญจากหัวเว่ยคลาวด์เข้ามาให้การฝึกอบรมบริการด้านคลาวด์ของหัวเว่ยให้แก่บุคลากรด้านไอที รวมถึงช่วยฝึกทักษะที่จำเป็นสำหรับการนำเทคโนโลยีการประมวลผลคอมพิวเตอร์แบบคลาวด์ไปติดตั้งและใช้งานจริง และยังได้มีการจัดการแข่งขัน HUAWEI CLOUD Developer Competition เป็นครั้งที่สองในประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น