xs
xsm
sm
md
lg

สนข.ลุยศึกษา "Big Data Analytics" รวมศูนย์ข้อมูล พัฒนาระบบขนส่งสินค้าและเดินทางในเมืองที่มีประสิทธิภาพ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



สนข.เดินหน้าพัฒนาระบบวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) การขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกและการเดินทางของคนใน กทม.และปริมณฑล ดึงข้อมูล GPS และสัญญาณมือถือ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

วันที่ 17 พ.ย. 64 นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนารับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 โครงการศึกษาการพัฒนานวัตกรรมระบบวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) เพื่อการขนส่งสินค้าด้วยรถบรรทุกและการเดินทางของคนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ระยะที่ 1 ว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการให้หน่วยงานภาครัฐขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายเพื่อใช้ประโยชน์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ศูนย์ข้อมูล (Data Center) และคลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing) เพื่อให้เกิดการใช้ข้อมูลวิเคราะห์หาความสัมพันธ์ สร้างเป็นรูปแบบการวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถนำไปประยุกต์สร้างเป็นบริการภาครัฐที่มีความเหมาะสมตรงตามความต้องการของประชาชน

อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ มีข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เป็นจำนวนมาก จากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี เช่น ข้อมูลระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (Global Positioning System : GPS) ของรถบรรทุกขนส่งสินค้า ข้อมูล GPS ของรถโดยสาร ข้อมูล GPS ของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ และข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์ (Mobile Data) จากผู้ใช้บริการ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อนำมาวิเคราะห์ด้วยกระบวนการวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) เพื่อหาข้อมูลพฤติกรรมการขนส่งสินค้าและการเดินทางของคนเพื่อใช้ประโยชน์ในการวางแผน การปรับปรุงและก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

สนข.จึงได้ดำเนินโครงการศึกษาดังกล่าว เพื่อเป็นเครื่องมือวิเคราะห์พฤติกรรมการขนส่งสินค้าและการเดินทางของคนที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง สามารถนำข้อมูลที่ถูกต้องและแม่นยำมาใช้ในการวางแผน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ให้เป็นโครงข่ายที่สมบูรณ์และมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนโลจิสติกส์และค่าขนส่งของประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ตามนโยบายของรัฐบาลได้อย่างชัดเจนและเหมาะสม โดยได้ว่าจ้างศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ วงเงิน 25.9 ล้านบาท (งบประมาณปี 2564-2565) มีระยะเวลาศึกษา 18 เดือน (ม.ค. 2564-ก.ค. 2565)

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาพัฒนานวัตกรรมระบบวิเคราะห์ฐานข้อมูลการขนส่งสินค้าด้วยข้อมูล GPS รถบรรทุก (Freight Transport Analytics) และศึกษาพัฒนานวัตกรรมระบบวิเคราะห์ฐานข้อมูลการเดินทางของคน (Passenger Trip Analytics) รวมทั้งศึกษาพัฒนาระบบการรายงานผลให้สอดรับกับความต้องการใช้งานข้อมูลในงานวางแผน และการศึกษาด้านการขนส่งสินค้า การเดินทาง และการอำนวยความปลอดภัยบนโครงข่ายถนนและระบบขนส่งสาธารณะ
โครงการมีขอบเขตของงาน 1. ศึกษา ทบทวน รวบรวมข้อมูล วิธีการและขั้นตอนการพัฒนานวัตกรรมระบบวิเคราะห์ฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data Analytics) ด้านการขนส่งและจราจร 2. พัฒนาระบบวิเคราะห์ฐานข้อมูลการขนส่งสินค้า (Freight Transport Analytics) จากข้อมูล GPS รถบรรทุกของกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ประกอบกับข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการขนส่งสินค้าของรถบรรทุก โดยการสำรวจรูปแบบการขนส่งสินค้า (Pattern of Commodity Flows) ปริมาณการบรรทุกสินค้า สถานที่ทำกิจกรรมของรถบรรทุก (สถานที่ผลิต เก็บ จำหน่าย จุดจอดหลัก และขนส่งสินค้า) และการใช้ประโยชน์ที่ดิน

3. พัฒนาระบบวิเคราะห์ฐานข้อมูลการเดินทางของคน (Passenger Trip Analytic) ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลจากข้อมูลที่ได้มา เช่น ข้อมูลการเดินทางจากบัตร Smart Card หรือข้อมูลจาก Application หรือข้อมูลสัญญาณโทรศัพท์ หรือข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเดินทาง เช่น ข้อมูล GPS รถแท็กซี่ หรือรถโดยสารประจำทางของ ขบ. ประกอบกับข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการเดินทางของคนในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยการสำรวจรูปแบบการเดินทางของคน (Travel Patterns of Passengers Survey) สถานที่ทำกิจกรรมหลัก (Main Activity Location Survey) และการใช้ประโยชน์ที่ดิน

4. สนับสนุนทางวิชาการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์พฤติกรรมการเดินทางและการขนส่งสินค้า หรือเสนอแนะนโยบายและแผนการจัดการหรือการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบโลจิสติกส์ในลักษณะของการให้คำปรึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะทางเทคนิควิชาการที่มีข้อมูลที่จำเป็นเพียงพอ 5. งานจัดให้มีการสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็น และฝึกอบรมทางวิชาการเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ (Knowledge/Knowhow Transfer) และเทคโนโลยี (Technology Transfer) ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาโครงการนี้ให้แก่ สนข.และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดให้มีการประชาสัมพันธ์โครงการเพื่อเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ หรือผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาโครงการ

“การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการ ตลอดจนรับฟังแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากหน่วยงานภายในและภายนอกสังกัดกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ เอกชน ซึ่ง สนข.จะได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไปประกอบการศึกษาเพื่อให้การศึกษา และจะมีการสัมมนาครั้งที่ 2 ช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2565 ซึ่งข้อมูลที่วิเคราะห์จาก Big Data นี้จะมีความแม่นยำ มีประสิทธิภาพ มีคุณค่า ที่ สนข.จะนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลในการพัฒนาระบบโครงสร้าง ระบบคมนาคมขนส่ง ทั้งการขนส่งสินค้าและการเดินทางได้อย่างถูกต้อง เหมาะสมกับความต้องการต่อไป”

ด้านที่ปรึกษาโครงการนำเสนอข้อมูลว่า การพัฒนาระบบวิเคราะห์ฐานข้อมูลด้านรถบรรทุกขนส่งสินค้าด้วย GPS ซึ่งปัจจุบันมีรถบรรทุกใช้งาน 405,497 คัน ติดตั้ง GPS แล้ว 397,875 คัน (98.12%) ได้ประสานกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) ในการจัดส่งข้อมูล จำนวนรถบรรทุก ประเภทสินค้า ช่วงเวลา ระยะเวลา เส้นทาง ความเร็ว จุดจอด ทำแบบจำลองการเดินรถ และวิเคราะห์ เพื่อกำหนดเส้นทาง หรือกำหนด Truck Lane หรือกำหนดจุดพักรถบรรทุกที่เหมาะสม เป็นต้น

ส่วนระบบวิเคราะห์ฐานข้อมูลการเดินทางของคน แหล่งข้อมูลมาจาก 6 กลุ่ม 1. GPS แท็กซี่ 2. GPS รถโดยสารประจำทาง 3. บัตร Smart Card รถไฟฟ้า 4. แอปฯ นำทาง 5. แอปฯ สำรวจ 6. สัญญาณโทรศัพท์มือถือ นำมาวิเคราะห์ประมวลผลการเดินทาง ทั้งจำนวนเที่ยว รูปแบบ สัดส่วน








กำลังโหลดความคิดเห็น