xs
xsm
sm
md
lg

“พาณิชย์” เผยใช้สิทธิ์ FTA-GSP ส่งออก 9 เดือนปี 64 เพิ่ม 35.10%

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



กรมการค้าต่างประเทศเผยการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้ FTA และ GSP ช่วง 9 เดือนปี 64 มีมูลค่า 60,090.63 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 35.10% จีนนำโด่งมูลค่าการใช้สิทธิ์ FTA สูงสุด ตามด้วยอาเซียน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และอินเดีย ส่วนสหรัฐฯ นำใช้สิทธิ์ GSP

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า การใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี (FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ในช่วง 9 เดือนของปี 2564 (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่า 60,090.63 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 35.10% มีสัดส่วนการใช้สิทธิ์ 78.09% ของการได้รับสิทธิ์ทั้งหมด แบ่งเป็นการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA มูลค่า 57,221.58 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 35.13% สัดส่วนการใช้สิทธิ์ 78.91% และการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP มูลค่า 2,869.06 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 34.57% สัดส่วน 64.65%

โดยการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ FTA พบว่าตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. จีน มูลค่า 19,691.48 ล้านเหรียญสหรัฐ 2. อาเซียน มูลค่า 19,344.85 ล้านเหรียญสหรัฐ 3. ออสเตรเลีย มูลค่า 6,255.64 ล้านเหรียญสหรัฐ 4. ญี่ปุ่น มูลค่า 5,229.15 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 5. อินเดีย มูลค่า 3,528.24 ล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนความตกลง FTA ที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ไทย-เปรู 100% 2. อาเซียน-จีน 96.62% 3. ไทย-ชิลี 93.76% 4. ไทย-ญี่ปุ่น 78.88% และ 5. อาเซียน-เกาหลี 70.89%

สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิ์สูง ประกอบไปด้วยสินค้าหลากหลาย ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม อาหารปรุงแต่งและเกษตรแปรรูป เช่น รถยนต์เพื่อขนส่งของ/บุคคล (อาเซียน, อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, ไทย-ชิลี, อาเซียน-จีน) รถจักรยานยนต์ (ไทย-เปรู) เครื่องซักผ้า (อาเซียน-เกาหลี) เครื่องปรับอากาศ (อาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์, ไทย-อินเดีย) ตู้เย็น (ไทย-อินเดีย) อาหารปรุงแต่ง (อาเซียน) สุกรมีชีวิต (อาเซียน) เนื้อไก่และเครื่องในไก่ปรุงแต่ง (ไทย-ญี่ปุ่น, อาเซียน-เกาหลี) กุ้งปรุงแต่ง (อาเซียน-ญี่ปุ่น) ปลาซาร์ดีนปรุงแต่ง (อาเซียน-ญี่ปุ่น) ทุเรียนสด (อาเซียน-จีน) ผลไม้ เช่น ฝรั่ง มะม่วง มังคุด (อาเซียน, อาเซียน-จีน, อาเซียน-เกาหลี) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (กระป๋อง) (ไทย-ชิลี) เป็นต้น

ส่วนการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ GSP ทั้ง 4 ระบบ คือ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ พบว่าตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิ์มากที่สุด คือ สหรัฐฯ มูลค่า 2,560.29 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 41.88% สัดส่วนการใช้สิทธิ์ 68.27% รองลงมาคือ สวิตเซอร์แลนด์ มูลค่า 195.28 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 7.35% สัดส่วน 37.72% รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มูลค่า 101.07 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 1.20% สัดส่วน 67.37% และนอร์เวย์ มูลค่า 12.41 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 14.38% สัดส่วน 64.11%

สินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิ์สูง คือ ถุงมือยาง และสินค้าประเภทอาหารปรุงแต่ง ผลไม้ เครื่องดื่ม อาหารปรุงแต่ง ซอสและของปรุงแต่งสำหรับทำซอส สับปะรดกระป๋อง พืช ผลไม้ปรุงแต่ง พืชผัก ผลไม้ที่ทำไว้ไม่ให้เสียโดยใช้น้ำตาล ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโต (ชนิดซาร์ดา) เนื้อปลาแบบฟิเลต์ สด แช่เย็น แช่แข็ง ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น