xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : สีเขียวเหนี่ยวทรัพย์ จากแอร์พอร์ตลิงก์สู่ AERA1

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



การเปลี่ยนผ่านผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ จากบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (SRTET) บริษัทลูกของการรถไฟแห่งประเทศไทย กลายเป็น บริษัท เอเชีย เอรา วัน จำกัด ของกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ที่กลุ่มซีพีรับสัมปทานก่อสร้าง บริหารโครงการ 50 ปี

แม้วันนี้อาจยังไม่สมบูรณ์แบบนัก เพราะกลุ่มซีพีตัดสินใจขอเลื่อนวันถ่ายโอนธุรกิจออกไป เนื่องจากผลกระทบของโควิด-19 แต่ที่ผ่านมาเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงตัวสถานี เริ่มจากสถานีพญาไท ราชปรารภ มักกะสัน ลาดกระบัง โดยมีบริษัท เจริญโภคภัณฑ์วิศวกรรม จำกัด เป็นผู้ดำเนินงานปรับปรุงมาตั้งแต่กลางปี 2564 ที่ผ่านมา เพื่อรองรับการถ่ายโอนธุรกิจโดยเฉพาะ






เดิมภาพลักษณ์ของแอร์พอร์ตเรลลิงก์จะเน้นไปที่สีแดง ซึ่งเป็นสีของการรถไฟแห่งประเทศไทย แต่สำหรับเอเชีย เอรา วัน ได้เปลี่ยนโฉมใหม่ โดยป้ายสถานี และป้ายบอกทางต่างๆ จะเน้นไปที่สีเขียว ฟ้า และเทา ซึ่งป้ายสถานีจะมีโลโก้เป็นรูปงวงช้างสีเขียว มีชื่อเรียกประเภทว่า AERA1 CITY มาแทนคำว่า CITY LINE ที่รับ-ส่งผู้โดยสารจากพญาไท-สุวรรณภูมิเดิม

โดยป้ายบอกทาง แผนผังสถานีและประตูทางออก จะมีทั้งหมด 3 ภาษา ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และภาษาจีน เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวจีน ที่แปลกตาก็คือ สถานีพญาไท บริเวณชั้นออกบัตรและเหรียญโดยสาร พบว่ามีการปรับปรุงเพดานเป็นสีเขียวสลับกับสีขาว จากเดิมตลอด 10 ปีที่ผ่านมายังเป็นปูนเปลือย ทำให้ดูทันสมัยขึ้นถนัดตา






ที่น่าทึ่งก็คือ การปรับปรุงทางเท้าและแสงสว่างบริเวณทางขึ้นสถานี เช่น สถานีพญาไท เปลี่ยนใหม่หมดจด จากเดิมเป็นแผ่นทางเท้าธรรมดา กลายมาเป็นทางเท้าแบบมีมิติมากขึ้น พร้อมปรับปรุงทางลาดตามแนวทางอารยสถาปัตย์ (Universal Design) ติดตั้งไฟฟ้าส่องสว่างเพิ่มเติม ทำให้จากเดิมทางขึ้นสถานีจะมืดเพราะแสงสว่างไม่เพียงพอ กลายเป็นสว่างไปทั่วบริเวณ

นอกจากนี้ ยังมีการก่อสร้างห้องน้ำ ประเดิมสถานีลาดกระบังที่ชั้นออกบัตรโดยสาร จากเดิมเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน ผู้โดยสารจะต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ประจำสถานีเพื่อให้ใช้ห้องน้ำร่วมกับพนักงาน ซึ่งห้องน้ำเป็นเสียงเรียกร้องจากผู้โดยสารอันดับต้นๆ นอกจากเรื่องระบบไฟฟ้าส่องสว่าง การเพิ่มความถี่ในการเดินรถมากขึ้น รวมไปถึงเรื่องปลีกย่อย เช่น น้ำฝนที่สาดเข้ามาในตัวสถานี




ส่วนระบบบัตรโดยสาร แม้ผลจากการเลื่อนถ่ายโอนธุรกิจ จะทำให้ผู้โดยสาร สามารถใช้บัตรโดยสารแอร์พอร์ตเรลลิงก์ใบเดิม ที่ออกโดย SRTET เติมเงินและใช้เดินทางได้ตามปกติ ตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. (หลังใช้งานไม่ได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ที่ผ่านมา) โดยยังคงค่าโดยสารเท่าเดิม แต่ก็พบว่ามีการนำเครื่องทำรายการอัตโนมัติมาให้บริการเพิ่มเติม


หนึ่งในนั้นคือเครื่อง TAP & GO ระบุว่าเป็นเครื่องปรับมูลค่าบัตร แตะบัตรที่นี่ก่อนออกเดินทาง ลักษณะคล้ายกับเครื่องปรับมูลค่าบัตร (Activate Value Machine หรือ AVM) ของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งก่อนหน้านี้ทางฝั่งเอเชีย เอรา วัน เปิดเผยว่า ระบบเก็บค่าโดยสารจะอัพเกรดรับระบบทรูมันนี่ วอลเล็ต (TrueMoney Wallet) ซึ่งเป็นอี-วอลเล็ตของกลุ่มทรู


แม้การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ หรือชื่อใหม่ในอนาคต เอราวัน ซิตี้ จะทยอยคืบหน้า หลังไม่ได้ปรับปรุงมานานถึง 10 ปี แต่ก็ต้องรอให้การถ่ายโอนธุรกิจระหว่าง SRTET กับ เอเชีย เอรา วัน เสร็จสมบูรณ์ จะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งระบบบัตรโดยสาร สิ่งอำนวยความสะดวกเพิ่มเติม รวมทั้งการปรับปรุงขบวนรถที่จะให้บริการเพิ่มเติม

เรียกได้ว่าจุดแข็งของเอกชนที่มีความคล่องตัว เมื่อเทียบกับหน่วยงานรัฐและรัฐวิสาหกิจ จะช่วยปรับปรุงสิ่งเดิม สร้างสรรค์สิ่งใหม่ ต่อยอดระบบขนส่งมวลชนเชื่อมต่อระหว่างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โซนกรุงเทพฯ ตะวันออก สู่ใจกลางเมือง เกื้อหนุนไปถึงโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน สู่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้


(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)
กำลังโหลดความคิดเห็น