xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจโลกสยอง ฝันร้ายซัปพลายเชน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


ปัญหาระบบห่วงโซ่อุปทานโลกวิกฤตหนักและน่าเป็นห่วงมากขึ้นขณะที่เทศกาลจับจ่ายปลายปีใกล้เข้ามา
ชิปคอมพิวเตอร์ขาดแคลน มหากาพย์ท่าเรือหนาแน่น โรงงานถูกปิด และการขาดแคลนคนขับรถบรรทุก ทั้งหมดนี้ล้วนช่วยกันกระหน่ำห่วงโซ่อุปทานโลกที่ละเอียดอ่อนและถูกกดดันหนักมากอยู่แล้ว ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าสินค้าและบริการต่างๆ แพงขึ้น และสุดท้ายอาจฉุดเศรษฐกิจโลกที่เพิ่งเริ่มฟื้นจากวิกฤตโควิด ที่สำคัญยังมีคำเตือนว่า ฝันร้ายห่วงโซ่อุปทานจะยิ่งเลวร้ายก่อนที่สถานการณ์จะคลี่คลาย

มูดี้ส์ อะนาลิติกส์เตือนไว้ในรายงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้นกำลังจะถูกยื้อด้วยปัญหาห่วงโซ่อุปทานติดขัดที่เกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก

สัปดาห์ที่แล้วเช่นเดียวกัน กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ลดตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของอเมริกาประจำปีนี้ลง 1% เต็ม ซึ่งถือว่า ลดแรงกว่าประเทศส่วนใหญ่ในกลุ่มจี7 โดยไอเอ็มเอฟอ้างอิงการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานและการบริโภคที่ซบเซาลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน เช่น ตลาดขาดแคลนรถรุ่นใหม่ๆ เนื่องจากชิปคอมพิวเตอร์ขาดแคลน เป็นต้น

รายงานของมูดี้ส์สำทับว่า การควบคุมชายแดนและจำกัดการเดินทาง ความไม่พร้อมของระบบวัคซีนพาสปอร์ตระดับโลก และดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการที่ผู้บริโภคต้องกักตัวอยู่บ้าน รวมตัวกันเป็นพายุลูกยักษ์ โดยที่การผลิตทั่วโลกจะถูกถล่มหนักเนื่องจากปัญหาการจัดส่งล่าช้า ผลที่ตามมาคือต้นทุนและราคาสินค้าพุ่งขึ้น และเศรษฐกิจโลกโตได้ไม่เต็มที่

มูดี้ส์ชี้ว่า จุดอ่อนที่สุดอาจเป็นการขาดแคลนคนขับรถบรรทุกที่ทำให้ปั๊มน้ำมันในสหราชอาณาจักรเหือดแห้ง และมีส่วนทำให้ท่าเรือหนาแน่นซ้ำเติมผลกระทบจากกรณีเรือสินค้ายักษ์ขวางคลองสุเอซเมื่อต้นปีและการปิดท่าเรือหนิงโป-โจวซานของจีนที่เป็นท่าเรือหนาแน่นที่สุดอันดับ 3 ของโลกนาน 2 สัปดาห์เพื่อสกัดการระบาดของโควิดเมื่อเดือนสิงหาคม

ที่แย่กว่านั้นคือ มูดี้ส์เตือนว่า สถานการณ์ห่วงโซ่อุปทานจะเลวร้ายลงเนื่องจากมีหลายปัจจัยรุมเร้า

ปัจจัยแรกคือ กลยุทธ์การรับมือโควิดที่แตกต่างกันในประเทศต่างๆ เช่น จีนชูนโยบายโควิดเป็นศูนย์ ขณะที่อเมริกาพร้อมอยู่ร่วมกับโควิดโดยมองว่า เป็นโรคประจำถิ่น และความแตกต่างนี้กลายเป็นความท้าทายสำคัญในการสร้างกฎระเบียบข้อบังคับที่เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก เช่น กฎเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายแรงงานในท่าเรือ ฯลฯ

ปัจจัยที่สองคือการขาดความพยายามร่วมกันระดับโลกเพื่อรับประกันการดำเนินการเครือข่ายขนส่งและโลจิกติกส์ทั่วโลกอย่างราบรื่น

ผู้เชี่ยวชาญบางคนสำทับว่า ปัญหาวัตถุดิบขาดแคลนมีส่วนในวิกฤตนี้เช่นเดียวกัน

อิสซาเบลล์ มีจีน นักเศรษฐศาสตร์และศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยไซเอนส์ โพในปารีส ชี้ว่า ดีมานด์วัตถุดิบในตลาดเกิดใหม่พุ่งกระฉุดอย่างรวดเร็วหลังจากรัฐบาลตัดสินใจปลดล็อกเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ แต่ประเด็นคือวัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากตลาดเกิดใหม่อย่างอินเดียและบราซิล ซึ่งมีการจัดการวิกฤตโควิดที่ซับซ้อน

โจนาธาน โอเวนส์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ของซัลฟอร์ด บิสเนส สกูลในอังกฤษ เสริมว่า วิกฤตโรคระบาดตอกย้ำความสำคัญของโรงงานผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งยังต้องต่อสู้กับโควิดสายพันธุ์เดลตา

คลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อและการล็อกดาวน์ทำให้โรงงานบางแห่งต้องปิด เช่น โรงงานสิ่งทอและรองเท้าในเวียดนามที่ทำให้แบรนด์ดังอย่างไนกี้และอาดิดาสวุ่นหนัก

ขณะเดียวกัน การขาดแคลนชิปคอมพิวเตอร์ทำให้บริษัทรถต้องระงับการผลิตในโรงงานบางแห่ง โดยบริษัทที่ปรึกษา อลิกซ์ พาร์ตเนอร์ส คาดว่า อุตสาหกรรมนี้จะสูญเงินถึง 210,000 ล้านดอลลาร์ในปีนี้

นอกจากโควิดแล้ว ห่วงโซ่อุปทานโลกยังเผชิญความท้าทายจากการโจมตีด้วยไซเบอร์ ภัยพิบัติธรรมชาติ และวิกฤตพลังงานของผู้ส่งออกรายใหญ่อย่างจีน

อย่างไรก็ตาม ยังมีหลายคนที่มองโลกแง่ดีเกี่ยวกับแนวโน้มห่วงโซ่อุปทาน

ตัวอย่างเช่น เจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เจพีมอร์แกน เชส ที่บอกว่า ปัญหาห่วงโซ่อุปทานสะดุดจะหายไปอย่างรวดเร็วและปีหน้าโลกจะไม่พบปัญหานี้อีกแน่นอน เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันถือเป็นช่วงเลวร้ายที่สุดแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น