xs
xsm
sm
md
lg

‘แคลร์เอียแยง เทเลอร์’ จากแอร์โฮสเตส สู่วิถีชาวไร่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

แคลร์เอียแยง เทเลอร์ (Clare iayang Taylor) หรือ ‘แคลร์’ มีแม่เป็นคนไทย ส่วนพ่อเป็นอเมริกันเชื้อสายไอริช ที่ชื่นชอบชาเป็นอย่างยิ่ง ไร่ของครอบครัวเธอ ปลูกชามาตั้งแต่เมื่อครั้งที่เธอมีอายุเพียง 8 ขวบ นับถึงปัจจุบันนี้ไร่ชาก็มีอายุ 20 ปีแล้ว อีกทั้งยังมีผลิตผลอื่นๆ นอกจากชาคือเลม่อน ที่ออกผลตลอดทั้งปี ไร่ชาของครอบครัวเธอชื่อว่า ไร่ชาดอยอินทนนท์ Doi Inthanon Tea Partnership โดยมีแฟนเพจเฟซบุ๊คในชื่อเดียวกัน


แคลร์ทำงานในไร่ในสวนตั้งแต่เด็กๆ กระทั่งเติบโตขึ้นเป็นหญิงสาวหน้าหวาน บุคลิกดี คุณสมบัติเพียบพร้อม ผลักดันให้เธอก้าวเข้าสู่อาชีพที่ผู้คนเรียกขานและตั้งฉายาว่า ‘นางฟ้า’ แคลร์เป็นแอร์โฮสเตสนับแต่เรียนจบปริญญาตรี เธอพูดได้ 3 ภาษา คือ ไทย จีน อังกฤษ ชีวิตนางฟ้าของเธอ ทำให้เธอได้บินไปต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง เธอยอมรับว่าเป็นชีวิตที่สนุกและมีสีสัน

‘Ibusiness’ สัมภาษ์พิเศษ แคลร์เอียแยง เทเลอร์ (Clare iayang Taylor) หรือ ‘แคลร์’ แอร์โฮสเตส ผู้ผันตัวมาเป็น ‘นางฟ้า’ แห่งไร่ชา ได้อย่างสง่างามและน่าชื่นชม ผ่านคำบอกเล่าถึงเรื่องราวนับแต่เมื่อครั้งเป็นแอร์โฮสเตส การปรับตัวเมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 กระทั่งการตัดสินใจกลับสู่บ้านเกิดด้วยพลังของความเชื่อมั่น การทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อไร่ชา

>>> เมื่อ ‘นางฟ้า’ ต้องมาขายของ

ถามว่า เมื่อเกิดภาวะวิกฤติโควิด-19 ต้องเผชิญกับอะไรบ้าง จึงต้องกลับมาทำไร่ชาที่บ้านเกิดที่ จ.เชียงใหม่ แคลร์ตอบว่า เธอเผชิญวิกฤติโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกแรก เพียงแต่เธอยังไม่ได้กลับบ้านทันที

“ช่วงแรกทุกอย่างชะงัก เรายังไม่รู้ว่าจะทำยังไง รับมือไม่ทัน แต่พอจากนั้น เมื่อดูเหมือนการแพร่ระบาดเริ่มซา ที่ต่างๆ เขาก็เริ่มมีอีเวนท์ เช่นมีอีเวนท์ให้แอร์โฮสเตสขายของ เราก็เลยนำผลิตภัณฑ์ของที่บ้านมาขาย เราก็ไปขายตามงานเหล่านี้”แคลร์ระบุและเล่าว่าเธอนำสินค้าไปวางขายยัง Community shopping Mall แห่งหนึ่ง ซึ่งเจ้าของพื้นที่ให้วางขายฟรีโดยไม่คิดค่าเช่าที่ แต่ในโซนที่คิดค่าเช่าที่ ก็จะได้ทำเลที่ดีกว่า

“โซนที่ไม่คิดเงินก็อยู่ด้านนอก เราก็อยู่โซนด้านนอก หนูอยู่กับกลุ่มเกษตรกร เพราะหนูเข้ากลุ่มกรุ๊ปไลน์เกษตรกรกับคุณป้าคนหนึ่งที่เราเคยเจอกันในงานๆ หนึ่ง ขายของอยู่ใกล้ๆ กัน คุณป้าก็ชวนเข้ากลุ่มและจะคอยแนะนำว่าไปขายตรงไหนบ้าง มีตรงไหนให้ไปขาย แต่หนูยอมรับว่าเหนื่อยมาก เราต้องไปนู่นไปนี่ ต้องจัดของ จัดบูท ทำเองทั้งหมด” แคลร์ถ่ายทอดประสบการณ์ ช่วยให้เห็นภาพชัดเจนว่าในห้วงเวลาหนึ่ง เมื่อนางฟ้าอย่างเธอไม่มีเที่ยวบินและต้องตระเวนขายของตามสถานที่ต่างๆ นับเป็นเรื่องที่เหน็ดเหนื่อยไม่น้อย แล้วจุดพลิกผันไม่คาดคิดก็มาถึง

แคลร์เล่าว่า บรรยากาศบ้านเมืองในช่วงนั้น เป็นช่วงที่คนอัดอั้น อยากไปเที่ยวเต็มที

“เผอิญมีรุ่นพี่คนหนึ่ง เขามียอด Follow Instagram เยอะมาก แล้วเขาแค่มาถ่ายรูปไร่ชาของเรา ตอนนั้นไร่ยังรกๆ อยู่เลย เขาก็มาถ่ายรูปเลมอน แล้วเขาก็อัพรูปลงไอจี แล้วคนก็ทักมาเต็มเลยว่าอยากมา เราก็เลยตัดสินใจว่า กลับบ้านดีกว่า ไม่ไปขายของแล้ว ให้คนมาหาเราดีกว่า เราไม่ต้องไปหาคนแล้ว (หัวเราะ) นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้กลับบ้านค่ะ” แคลร์บอกเล่าพร้อมเสียงหัวเราะสดใส เมื่อมองเห็นทางออกของชีวิตที่ไม่ได้อยู่ไกลเกินเอื้อมคว้า


>>> โบยบินไปเป็น ‘นางฟ้า’ แห่งไร่ชา

ถามว่า จากประสบการณ์ที่เป็นแอร์โฮสเตส มา 5 ปี คนเรียกว่าเป็น ‘นางฟ้า’ กระทั่งเผชิญวิกฤติต้องมาขายของ และกลับคืนสู่ไร่ชาของครอบครัว กลับคืนสู่ไร่ที่บ้าน มีความรู้สึกท้อบ้างไหมกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น

แคลร์ตอบว่า “แน่นอนค่ะ มีอยู่แล้ว รู้สึกว่าชีวิตดีๆ เราหายไปไหน เราก็อาจจะคิดถึง แต่ในมุมนึง อาจเป็นเพราะว่าด้วยความที่เราโตมาบนดอย เราคุ้นเคยกับสิ่งแวดล้อม เราชิน แล้วการที่เรากลับมา ไม่ได้ทำให้เราอยู่ยาก ไม่ต้องปรับตัวอะไรเลย เราก็แค่ Back to basic น่ะค่ะ ก็กลับมาเหมือนเดิมแค่นั้น แทบไม่ต้องปรับตัวอะไร แค่กลับมาใช้ชีวิตแบบเดิม อารมณ์เหมือนกับว่า เราไปหลงระเริงสนุกสนาน แล้วในที่สุดก็ได้กลับมาเหมือนเดิม” แคลร์เปรยบเทียบได้อย่างเห็นภาพของการคืนสู่วิถีชีวิตที่ยั่งยืน

ขณะที่งานแอร์โฮสเตส แคลร์เล่าว่า ทางสายการบินบริหารจัดการได้อย่างใจดีกับพนักงานรวมถึงตัวเธอด้วย เพราะแม้ช่วงที่เธอไม่มีบินแต่ทางสายการบินก็ยังรักษาสถานภาพพนักงานของเธอเอาไว้ อีกทั้งแคลร์ไม่ได้ลาออก จึงรักษาสภาพพนักงานอยู่ กล่าวให้ชัดคือ เธอยังคงมีสถานภาพของความเป็นแอร์โฮสเตสอยู่นั่นเอง

เมื่อถามว่า ณ ขณะนี้ เธอเปลี่ยนมาเป็นนางฟ้าในไร่ชาเท่านั้น จนกว่าจะมีเที่ยวบินกลับสู่ภาวะปกติใช่หรือไม่ แคลร์ยอมรับว่าใช่

>>> วิถีชาวไร่ รู้ลึกเรื่อง ‘ชา’ และ ‘เลม่อน’

แคลร์เล่าว่าเมื่อไปถึงไร่ก็ใช้เวลาไปกับการทำสวน ในแต่ละวันขึ้นอยู่กับสภาพสวนในช่วงนั้นๆ ไม่ได้ stick หรือทำแบบ routine แต่จะคอยดูว่า วันนี้ ต้นชาเป็นยังไง ต้นหญ้าขึ้นเยอะแล้วหรือยัง หากหญ้าขึ้นเยอะก็ต้องก็ถอนหญ้า หรือถ้าหากต้นเลม่อนมีหญ้าขึ้นเยอะแล้วก็ต้องถอนหญ้าให้ต้นเลม่อนด้วย หรือหากวันนี้ มีชายอดอ่อนแล้ว ก็ต้องเก็บ

“ชีวิตในไร่ก็จะเป็นไปตามฤดูกาลไปเรื่อยๆ แบบนี้มากกว่า ชาจะไม่ออกตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่จะออก มีนาคม-เมษายน แต่ที่ไร่หนูปลูก 2พันธุ์ เบอร์ที่ออกเยอะที่สุดคือชาเบอร์ 12 สามารถเก็บได้เรื่อยๆ ปีนี้ก็เก็บได้เกินสิบรอบแล้ว แต่อย่างตัวชาก้านอ่อนเบอร์ 17 ก็เพิ่งได้เก็บแค่หนึ่งถึงสองรอบ เก็บได้น้อย เพราะดูแลยาก” แคลร์ระบุและเล่าเพิ่มเติมว่า ชื่อพันธุ์ชา จะเรียกเป็นเบอร์ ซึ่งมีเป็นร้อยเป็นพันชนิด

ส่วนชาอู่หลง กับชาเขียว ที่คนเรียกกันนั้น จริงๆ แล้วเป็นชื่อเรียกที่ขึ้นอยู่กับกรรมวิธีการผลิต

“การทำชาเขียว คือ เมื่อเก็บใบชามาปุ๊บ จะต้องรีบเอามาคั่วให้แห้งทันที แบบนั้นคือชาเขียว แต่ว่าถ้าเป็นชาอู่หลงต้องไปหมักก่อนแล้วเอามาคั่ว จึงเป็นอู่หลง ซึ่งที่ไร่หนูก็จะมีทั้งชาเขียวและชาอู่หลงค่ะ

อย่างชาก้านอ่อนเบอร์ 17 ก็ทำได้ทั้งชาเขียวและชาอู่หลงเลยแต่เขาจะไม่นิยมทำชาเขียวกัน เพราะเหมือนเราไปลดคุณค่าของชาลง เขาก็นิยมทำชาอู่หลง จะได้ราคาดีกว่า” แคลร์บอกเล่าอย่างคนทำไร่ชาที่รู้ลึกรู้จริง เธอย้ำด้วยว่า เนื่องจากกรรมวิธี หรือเห็นวิธีการผลิตมาตลอด ทุกครั้งที่พ่อกับแม่เก็บชา เธอก็เก็บด้วยตลอดมานับแต่ยังเด็กและช่วยทำทุกกรรมวิธี


เมื่อถามถึงผลิตผลอื่นๆ ในไร่อย่างเลม่อน แคลร์เล่าว่าสำหรับเลม่อน ตอนปลูก 3 ปีแรกจะไม่เก็บผลเลย เหมือนเด็ดทิ้ง กล่าวคือถ้าเลม่อนออกดอกออกผล เราจะเด็ดทิ้งหมดเลย เพื่อไม่ให้สารอาหารมาเลี้ยงที่ดอกและผล แต่เพื่อให้ไปเลี้ยงลำต้นและใบให้แข็งแรงก่อน หลังจากนั้น สามปีให้หลังจึงค่อยเก็บผล ซึ่งเลม่อน ถ้ามีน้ำเพียงพอก็สามารถออกผลได้ตลอดเรื่อยๆ

“ยิ่งอากาศเย็นด้วยยิ่งออกผล ตอนนี้เก็บไม่ทันเลยค่ะ ถ้ามีโอกาสมาช่วยกันเก็บนะคะ” แคลร์บอกเล่าอย่างอารมณ์ดีและสะท้อนถึงความสุขสดใสในวิถีชาวไร่ที่เยียวยาเธอจากผลกระทบของภาวะวิกฤติโควิด-19 มานานนับปี

แคลร์กล่าวว่า ที่ไร่ นอกจากมีชาที่แปรรูปเป็นชาเขียวกับชาอู่หลงแล้ว ก็ยังมีเลม่อนที่แปรรูปเป็นขนม ช่วงที่เปิดไร่ แคลร์จะนำทั้งเปลือกและน้ำเลม่อนมาทำเป็นขนมชื่อเลม่อนบาร์ คนชอบกันมาก เพราะกินแล้วสดชื่น นอกจากนี้ก็มีทำน้ำเลม่อน ทำเลม่อนอบแห้ง รวมทั้งมีการนำเลม่อนมาตากแห้งเพื่อใช้ทำการ์ด ทำของตกแต่ง ทุกคนที่ได้รับก็ล้วนชื่นชอบ

ถามไถ่มาพอสมควร สุดท้าย มีสิ่งใดที่อยากบอกกล่าวแก่ผู้ที่กำลังทดท้อจากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 ทั้ง 4 ระลอก ซึ่งยังไม่มีทีท่าว่าจะยุติลง

แคลร์ตอบว่า “จริงๆ ทุกคนก็ท้อได้หมด เป็นปกติของมนุษย์ที่จะท้อ ถ้าท้อแล้วก็ท้อให้มันสุดแล้วลุกขึ้นมาสู้ต่อ เพราะว่าถ้าเราท้อถึงที่สุดแล้ว เราจะไม่อยากอยู่ในจุดที่เราท้ออีกแล้ว เราจะอยากก้าวไปข้างหน้า เพื่อให้ชีวิตเราดีขึ้นค่ะ เราอยากเห็นชีวิตตัวเองดีขึ้น ถ้าท้อก็ท้อให้สุดแล้วหยุดไว้แค่นั้น แล้วก็ไปต่อ ให้ชีวิตพัฒนาขึ้น ดีขึ้น เหมือนคนอกหักค่ะ คิดถึง ร้องไห้ ร้องจนสุด แล้วก็ตั้งสติว่าเราแก้ไขอะไรตรงไหนได้บ้าง ใช้เหตุผลแก้ปัญหา ยังไงมันต้องมีทางออกอยู่ดี”

คือคำตอบจาก แคลร์เอียแยง เทเลอร์ นางฟ้าหน้าหวานแต่ใจแกร่งคนนี้


กำลังโหลดความคิดเห็น