xs
xsm
sm
md
lg

“Squid Game” เล่นลุ้นตายความป่วยไข้ทุนนิยม ย้ำปรากฏการณ์เค-ป็อปครองโลก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:


Squid Game ซีรี่ส์ที่ดังเป็นพลุแตกในเน็ตฟลิกซ์และตอกย้ำปรากฏการณ์คลื่นวัฒนธรรมเกาหลีใต้
หลังออกอากาศแค่ไม่กี่วันเมื่อเดือนที่แล้ว ผู้บริหารระดับสูงของเน็ตฟลิกซ์ถึงกับออกปากว่า มีโอกาสสูงมากที่ Squid Game จะเป็นผลงานยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่บริษัทเคยนำเสนอมา ซีรี่ส์ที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วเรื่องนี้ยังเป็นประจักษ์พยานล่าสุดที่ตอกย้ำอิทธิพลป็อปคัลเจอร์ของเกาหลีใต้ที่มีวง BTS กรุยทาง ตามมาด้วยหนังดัง Parasite ที่อาจหาญเขย่าเวทีออสการ์ โดยกุญแจสำคัญที่ทำให้ “เล่นลุ้นตาย” ฮิตอย่างรวดเร็วและกว้างขวางคือ การตีแผ่ความป่วยไข้ของลัทธิทุนนิยมซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกต้องเผชิญ

Squid Game ที่มีชื่อไทยว่า “เล่นลุ้นตาย” ว่าด้วยเรื่องราวของคนชายขอบในสังคมเกาหลีใต้ เช่น พวกที่หนี้สินท่วมหัว แรงงานต่างด้าว และผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือ ที่ร่วมเล่นเกมเพื่อชิงเงินรางวัลมหาศาลถึง 45,600 ล้านวอน (38 ล้านดอลลาร์) โดยเพิ่งมารู้หลังจากเริ่มแข่งว่า เกมที่ดูเหมือนเกมเด็กธรรมดา แต่กลับเดิมพันถึงชีวิตสำหรับผู้แพ้

นักวิจารณ์บอกว่า แม้เป็นเรื่องราวที่ถ่ายทำในเกาหลีใต้ แต่ธีมและการวิพากษ์ความป่วยไข้ของลัทธิทุนนิยมคือสิ่งที่ผู้คนทั่วโลกต่างต้องพบเจอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวิกฤตโควิดที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำยิ่งรุนแรง และนี่คือกุญแจสำคัญที่ทำให้ Squid Game ดึงดูดความสนใจคนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว

ชารอน ยุน ศาสตราจารย์ด้านเกาหลีศึกษาของมหาวิทยาลัยนอร์ตเทรอดามในอเมริกา ชี้ว่า แนวโน้มการให้ความสำคัญกับกำไรมากกว่าภาวะที่เป็นสุขของปัจเจกบุคคลคือปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้ทั่วไปมากขึ้นในสังคมทุนนิยมทั่วโลก

สงครามและความยากจน
เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เน็ตฟลิกซ์ประกาศแผนทุ่มทุน 500 ล้านดอลลาร์เฉพาะปีนี้กับซีรี่ส์และหนังที่ผลิตในเกาหลีใต้

ตอนนั้น เท็ด ซาแรนโดส ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารร่วมของเน็ตฟลิกซ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ช่วง 2 ปีมานี้ บริษัทตระหนักว่า ผู้ชมทั่วโลกตกหลุมรักคอนเทนต์เกาหลีใต้อย่างน่าทึ่ง

ศิลปินเกาหลีใต้เรียนรู้และรับมือประวัติศาสตร์ของประเทศที่เผชิญทั้งสงคราม ความยากจน และรัฐบาลเผด็จการ ด้วยการสำรวจประเด็นอำนาจ ความรุนแรง และปัญหาสังคม และกลายมาเป็นฉากทางวัฒนธรรมที่มีชีวิตชีวาในหลากหลายรูปแบบซึ่งดึงดูดผู้ชมต่างประเทศจำนวนมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา

แรกเริ่มนั้น ซีรี่ส์ดรามาเกาหลีใต้ฮิตเป็นบ้าเป็นหลังในเอเชีย ก่อนที่วง BTS จะสร้างฐานแฟนคลับกว้างขวางทั่วโลก และต่อมา Parasite ก็ทำให้หนังเกาหลีใต้ได้รับการยอมรับทั่วสารทิศหลังกวาดรางวัลใหญ่ 4 สาขาบนเวทีออสการ์

บง จุน-โฮ เจ้าของรางวัลออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก Parasite จิกกัดปัญหาช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนอย่างแสบสัน ด้วยการตีแผ่ชีวิตคนจนยุคสมัยปัจจุบันในเกาหลีใต้ซึ่งเป็นประเทศเศรษฐกิจอันดับ 12 ของโลก

เลือดท่วม-ไม่คุ้นเคย-เข้าใจยาก
ฮวัง ดง-ฮยอก ผู้กำกับ Squid Game เขียนบทเรื่องนี้เสร็จตั้งแต่ทศวรรษที่แล้ว แต่หาทุนสร้างไม่ได้เพราะนักลงทุนพากันลังเลและบอกว่า เนื้อหาของเล่นลุ้นตาย “เลือดท่วม ไม่คุ้นเคย เข้าใจยากเกินไป”

ผลงานเรื่องก่อนๆ ของฮวังล้วนเกี่ยวข้องกับประเด็นการล่วงละเมิดทางเพศ การรับบุตรบุญธรรมข้ามประเทศ และความพิการ ซึ่งทั้งหมดนี้อิงกับเรื่องราวในชีวิตจริงไม่มากก็น้อย

สำหรับ Squid Game ซึ่งเป็นซีรี่ส์เรื่องแรกของฮวัง พาดพิงประสบการณ์เจ็บช้ำมากมายที่เป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดจิตวิญญาณของคนเกาหลีใต้ยุคปัจจุบัน ประสบการณ์ที่ว่ารวมถึงวิกฤตการเงินเอเชียปี 1997 และการลอยแพพนักงานของซางยอง มอเตอร์เมื่อปี 2009 ซึ่งในทั้งสองเหตุการณ์นั้นมีบางคนตัดสินใจจบปัญหาด้วยการฆ่าตัวตาย

วลาดิมีร์ ทิโคนอฟ ศาสตราจารย์ด้านเกาหลีศึกษาของมหาวิทยาลัยออสโลในนอร์เวย์ ชี้ว่า เกาหลีใต้กลายเป็นสังคมที่เหลื่อมล้ำรุนแรงอย่างรวดเร็วในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา การเลื่อนชั้นทางสังคมขณะนี้เป็นไปได้น้อยกว่าช่วงก่อนปี 1997 และความเจ็บปวดจากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ฝังรากลึกนี้ถูกตีแผ่อย่างชัดเจนในซีรี่ส์และหนังเกาหลีใต้

ไบรอัน หู ศาสตราจารย์สาขาภาพยนตร์ของมหาวิทยาลัยซานดิเอโกในอเมริกา ทิ้งท้ายว่า จากข้อเท็จจริงที่ Squid Game ได้รับความนิยมในเกือบร้อยประเทศเป็นหลักฐานว่า ซีรี่ส์เรื่องนี้ไม่ได้สร้างขึ้นมาเพื่อผู้ชมตะวันตกเท่านั้น

นอกจากนี้ Parasite และ Squid Game ยังมีความพิเศษตรงที่แม้บอกเล่าเรื่องราวความยากจนและความเหลื่อมล้ำด้านชนชั้น แต่นำเสนอผ่านเทคนิคและลูกเล่นแพรวพราว สะท้อนความนำสมัยของวงการบันเทิงเกาหลีใต้ที่เรียกขานรวมกันว่า เค-ป็อป
กำลังโหลดความคิดเห็น