xs
xsm
sm
md
lg

Ibusiness review : ส่องกลยุทธ์ “สยามสะเต๊ค” ในช่วงสถานศึกษาปิด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



หากใครเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ส่วนใหญ่จะรู้จักร้านที่ชื่อว่า "สยามสะเต๊ค" (Siam Steak) จำหน่ายอาหารจานด่วน (ฟาสต์ฟู้ด) ราคาอร่อยและประหยัด เมนูยอดฮิตก็คือ เบอร์เกอร์เนื้อ เบอร์เกอร์ปลา เบอร์เกอร์ไก่กรอบ บะหมี่ผัดไข่เจียวเบคอน บะหมี่ผัดสเต็กไก่บาร์บีคิว เบคอนสติ๊ก นอกจากนี้ยังมีสาขาที่อยู่ตามโรงเรียนและสถานศึกษาต่างๆ

ใครจะเชื่อว่า ร้านสยามสะเต๊คแห่งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2518 หรือเมื่อ 46 ปีก่อน โดยผู้ก่อตั้งคือ นางแจ่มจันทร์ หมื่นนิกร ทำงานแปลภาษากับบริษัทอเมริกัน มองเห็นช่องทางการทำธุรกิจแฮมเบอร์เกอร์ โดยเริ่มจากนำเข้าเครื่องจักรจากต่างประเทศเพื่อผลิตเนื้อแฮมเบอร์เกอร์ เริ่มจำหน่ายแห่งแรกที่เซ็นทรัลชิดลม ก่อนขยายไปยังซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำทั่วกรุงเทพฯ ณ ขณะนั้น




กระทั่งในปี 2520 จึงขยายเข้าไปโรงเรียน โดยเริ่มจากโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ปัจจุบันมีสาขาตามโรงเรียน มหาวิทยาลัย ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมทั้งขยายสาขานอกสถานศึกษา อาทิ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กฟภ.งามวงศ์วาน โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน ตลาดฟู้ดวิลล่าราชพฤกษ์ รังสิตคลองสี่ ฯลฯ

ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บริษัท อีซี่ส์ อินเตอร์เนชั่นแนล แฟรนไชส์ (2019) จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2541 ทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท งบการเงินปี 2562 มีรายได้รวม 55,803,568.82 บาท ปี 2563 มีรายได้รวม 56,161,357.23 บาท ปัจจุบันร้านสยามสะเต๊คบริหารงานโดยทายาทรุ่นที่สอง นายสุภัค หมื่นนิกร




แม้สถานการณ์โควิด-19 จะทำให้สถานศึกษาต้องปิดชั่วคราวและจัดการเรียนออนไลน์ ร้านในสถานศึกษาส่วนหนึ่งต้องปิดชั่วคราว แต่สำหรับสาขาสยามสะเต๊คที่เหลืออยู่ ยังคงเปิดทั้งซื้อกลับบ้านและดีลิเวอรี พร้อมทั้งเปิดรับผู้สนใจร่วมธุรกิจที่เรียกว่าแฟรนไชส์ซี ด้วยจุดแข็งเป็นแบรนด์ที่คนกรุงเทพฯ รู้จักมานานเกือบ 50 ปี มีกลุ่มลูกค้าตั้งแต่อนุบาลถึงวัยเกษียณ

ที่ผ่านมาสยามสะเต๊คเปิดสาขาแฟรนไชส์ซีนอกสถานศึกษาแห่งแรกที่โครงการลานไม้ ซอยประชาอุทิศ 32 เขตทุ่งครุ กรุงเทพฯ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 โดยเน้นเลือกสรรเมนูและรูปแบบร้านเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ รูปแบบร้านสำหรับผู้ร่วมลงทุนมีหลายขนาด ตั้งแต่เคาน์เตอร์ คีออส และช้อปตั้งแต่ขนาดเล็กไปถึงขนาดใหญ่


อีกธุรกิจหนึ่ง คือ สินค้าแช่แข็ง (โฟร์เซ่น) ซึ่งที่นี่ผลิตไส้กรอกเยอรมันโฮมเมดระดับพรีเมียม "อีซี่ส์" เจาะกลุ่มผู้บริโภคยุคโพสต์โควิด (POST COVID) ที่หันมาสั่งดีลิเวอรีที่บ้านเพื่อประกอบอาหารเอง ล่าสุดได้เปิดตัว "เยอรมัน แฟมิลี่ เซต" ที่มีทั้งขาหมูเยอรมัน 2 ขา ไส้กรอกเยอรมัน 4 แพ็ค คริสปี้แซนด์วิช 14 ชิ้น และขนมปังกระเทียม 8 แถว ในราคา 1,585 บาท

นับเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ในการฝ่าวิกฤตโควิด-19 นำจุดแข็งแสวงหาช่องทางธุรกิจ และกลุ่มเป้าหมายใหม่ เพื่อพลิกรายได้เป็นบวกและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน


หมายเหตุ : คอลัมน์ Ibusiness review ขอหยุดตีพิมพ์ 1 ครั้ง เนื่องจากอยู่ในช่วงวันหยุดนักขัตฤกษ์ (วันคล้ายวันสวรรคต พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร) และจะกลับมาพบกับคุณผู้อ่านอีกครั้ง ประมาณวันศุกร์ที่ 15 ต.ค. 2564

(เกาะกระแสธุรกิจ เศรษฐกิจสดใหม่ เรื่องราวการตลาดที่ใกล้ชิดผู้บริโภค กับ Ibusiness Review ที่นี่ที่เดียว! ทางเฟซบุ๊ก Ibusiness และเว็บไซต์ ibusiness.co)
กำลังโหลดความคิดเห็น