xs
xsm
sm
md
lg

“วิศวะมหิดล” ถอดบทเรียนเรือล่มกลางแม่น้ำป่าสัก แนะ "คมนาคม" ทำ 6 ข้อเพิ่มความปลอดภัยเดินเรือ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหิดล ถอดบทเรียนบนลำน้ำสายเศรษฐกิจ ชี้ 3 ปัจจัยเรือล่มกลางแม่น้ำป่าสัก จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมเสนอ "คมนาคม" เร่งดำเนินการ 6 ข้อ หนุนใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ กับเรือขนสินค้าและท่องเที่ยว เพิ่มความปลอดภัยในการเดินเรือ
 
จากเหตุบนแม่น้ำสายเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยว เรือยนต์ที่กำลังลากจูงเรือบรรทุกสินค้าล่มลงใต้น้ำกลางสามแยกแม่น้ำเจ้าพระยา-แม่น้ำป่าสัก บริเวณท่าน้ำวัดพนัญเชิงวรวิหาร อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ส่งผลให้คนขับเรือและภรรยาจมน้ำสูญหายไปพร้อมเรือ จากนั้นถัดมาอีก 2 วันได้เกิดอุบัติเหตุเรือล่มอีกครั้ง ที่หน้าวัดบางกระจะ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งจุดเกิดเหตุทั้ง 2 แห่งอยู่ไม่ห่างกันมาก จากอุบัติเหตุครั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถอดบทเรียนชี้ 3 ปัจจัย เรือล่มกลางแม่น้ำป่าสัก จ.พระนครศรีอยุธยา พร้อมเสนอแนวทางแก้ไขต่อกระทรวงคมนาคม

รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เนื่องจากการขนส่งทางแม่น้ำมีความสำคัญที่ช่วยพัฒนาเศรษฐกิจและลดต้นทุนด้านขนส่งโลจิสติกส์ของประเทศ ตลอดจนส่งเสริมอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายได้แก่ประเทศ อีกทั้งมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับการคมนาคมทางน้ำมายาวนาน ทั้งเป็นที่นิยมในการท่องเที่ยวชมสถานที่ทางประวัติศาสตร์ ล่องเรือ จากสถิติในปี 2562 มีปริมาณการขนส่งสินค้าบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยาและป่าสัก ใช้เรือขนส่งสินค้าทั้งสิ้น 62,236 เที่ยวลำ มีสินค้าทั้งหมด 18 ประเภท ปริมาณสินค้ารวมประมาณ 56 ล้านตัน ทั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาเครื่องกล มหาวิทยาลัยมหิดล เคยลงพื้นที่ทำการสำรวจวิจัย ลักษณะสามแยกแม่น้ำ หน้าวัดพนัญเชิงวรวิหาร ที่ทำให้เรือมีความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุล่ม ซึ่งบริเวณนี้มีแม่น้ำป่าสักมาบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ประกอบด้วยสามฝั่ง
 
คือ 1. ฝั่งวัดพนัญเชิงวรวิหาร 2. ฝั่งวัดบางกระจะ (แหลมบางกระจะเคยเป็นศูนย์กลางการค้าทางน้ำในยุคอยุธยา) 3. ฝั่งป้อมเพชร เป็นป้อมปราการขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่บริเวณทางแยกระหว่างแม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำป่าสัก หากย้อนประวัติศาสตร์ในอดีตสมัยกรุงศรีอยุธยารุ่งเรือง ตลอดบริเวณเหล่านี้เป็นย่านท่าเรือและการค้านานาชาติที่มีความสำคัญของโลกในยุคก่อน มีเรือนแพและร้านค้ามากมาย เรือสินค้าจากหัวเมืองชายทะเล และเรือสินค้าชาวต่างชาติจะเข้ามาจอดขายเต็มไปหมด ส่วนบริเวณหลังป้อมเพชรเป็นย่านพักอาศัยของขุนนางชั้นสูง ตลอดแนวแม่น้ำเจ้าพระยาลงไปทางทิศใต้ มีชุมชนต่างชาติอาศัยอยู่ เช่น บ้านฮอลันดา, บ้านญี่ปุ่น เป็นต้น ในบริเวณนี้ยังพบว่ามีชื่อท้องถิ่นที่น่าสนใจ คือ บ้านวังน้ำวน ตำบลสำเภาล่ม บ่งบอกถึงภูมิศาสตร์ที่มีมาแต่อดีต

@เผย 3 ปัจจัยหลัก สาเหตุเรือล่มในแม่น้ำป่าสัก หน้าวัดพนัญเชิงฯ

สาเหตุของเรือล่มในแม่น้ำป่าสัก หน้าวัดพนัญเชิงฯ มี 3 ปัจจัยหลักด้วยกัน 1. ลักษณะทางภูมิศาสตร์ เนื่องจากบริเวณจุดเกิดเหตุเป็นสามแยกกลางแม่น้ำ ที่มีแม่น้ำ 2 สายไหลมาบรรจบกัน คือแม่น้ำป่าสัก และแม่น้ำเจ้าพระยา กระแสน้ำจากสองแม่น้ำไหลมาต่างทิศทางมาปะทะกัน และยังเป็นโค้งน้ำอีกด้วย ยิ่งทำให้เกิดกระแสน้ำวน ประกอบกับช่วงนี้เป็นช่วงที่กระแสน้ำไหลเชี่ยว จึงยากต่อการควบคุมเรือและเป็นอันตรายต่อการเดินเรือ
 
2. โครงสร้างเรือพาณิชย์ที่ใช้ขนสินค้าโดยใช้เรือยนต์ลากจูง 5 ลำ ชักนำเรือใหญ่ที่ขนสินค้า จะเห็นว่ายังขาดการพัฒนาการนำเทคโนโลยีที่จะช่วยการควบคุมเรือให้ปลอดภัย โดยปกติหากเคลื่อนที่เป็นเส้นตรงอาจจะไม่มีปัญหาอะไร แต่กรณีที่เกิดเหตุนี้จะต้องเลี้ยวโค้งขวาเข้าแม่น้ำป่าสัก และหลบเลี่ยงกระแสน้ำวน ทำให้เรือลากจูงริมสุดเสียหลักไปชนกับลำอื่นและทำให้เชือกดึงรั้งเรือลากจูงลำดังกล่าวพลิกจมลงกลางกระแสน้ำไหลเชี่ยว ซึ่งมีคลื่นใต้น้ำที่มีแรงมหาศาล
 
3. ความเชี่ยวชาญของคนขับเรือ หากไม่มีประสบการณ์เพียงพอ หรือขาดเครื่องมือด้านความปลอดภัยและอุปกรณ์ปลดเชือกที่จะช่วยให้แก้ไขสถานการณ์ยามฉุกเฉิน จึงมีความเสี่ยงสูงต่ออุบัติเหตุ

@เสนอแนะคมนาคมดำเนินการ 6 ข้อ เพิ่มความปลอดภัยในการเดินเรือและประชาชน

ทั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สรุปข้อเสนอแนะต่อกระทรวงคมนาคม เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในการเดินเรือและประชาชน ดังนี้

1. ควรกำหนดค่าแรงขับของเครื่องยนต์เรือที่เหมาะสมกับระวางเรือเพื่อความปลอดภัย โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องกำหนดว่าหากเรือขนส่ง หรือเรือนำเที่ยวจะผ่านเส้นทางนี้ต้องใช้เครื่องยนต์ขับเรือเท่าไหร่ เนื่องจากกระแสน้ำมาหลายทิศทาง มีความเร็วและแรงกระทำกับตัวเรือสูง จึงควรที่จะปรับค่าแรงขับเรือตามลักษณะน้ำที่กระทบและมีขนาดของแรงที่เพียงพอต่อการชดเชยแรงที่กระทำกับตัวเรือ

2. ควรส่งเสริมให้มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ในเรือขนส่งสินค้า และเรือท่องเที่ยว เช่น ระบบควบคุมการโคลงของเรือโดยใช้แรงเฉื่อย (Gyro Stabilizer) หรือระบบควบคุมการเดินเรืออัจฉริยะที่สามารถชดเชยแรงกระทำที่ไม่แน่นอน ซึ่งอาจเกิดจากกระแสน้ำหรือสิ่งกีดขวางอื่นๆ ที่ลอยอยู่ในน้ำได้

3. ติดตั้งป้ายสัญญาณเตือนความปลอดภัยในการเดินเรือ

4. ผู้ประกอบการเรือขนส่งสินค้า และธุรกิจทางน้ำควรลดขนาดบรรทุกสินค้าลงตามหลักความปลอดภัยเพื่อใช้จำนวนเรือลากจูงให้น้อยลงและไม่ใช้พื้นที่แม่น้ำกว้างจนเกินไป ทำให้คนขับเรือสามารถหลบหลีกกระแสน้ำวนได้ในยามฉุกเฉิน และควรยกระดับพัฒนานำระบบควบคุมเรืออัจฉริยะ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอัตโนมัติที่ก้าวหน้าทันสมัยมาใช้ควบคุม เพิ่มระวางเรือและแรงขับเรือลากจูง และบำรุงรักษาเรือให้อยู่ในสภาพดีและปลอดภัยเสมอ

5. ควรจัดอบรมพัฒนาบุคลากรในการเดินเรือ เช่น คนขับเรือ เพื่อให้ความรู้ ฝึกฝนการขับเรืออย่างปลอดภัยและวิธีการเตรียมตัวและแก้ไขเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด

6. ประชาชนผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวก็ควรระมัดระวังเลือกใช้บริการเรือที่มีระบบความปลอดภัย ทั้งระบบควบคุมเรือ ความเชี่ยวชาญที่ไว้วางใจได้ และมีอุปกรณ์ช่วยชีวิตผู้โดยสารที่ครบครัน





รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญและอาจารย์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยมหิดล




กำลังโหลดความคิดเห็น