xs
xsm
sm
md
lg

“บีซีพีจี” จับมือเคพเพลฯ สิงคโปร์ ต่อยอดพัฒนาเมืองอัจฉริยะในไทย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:



“บีซีพีจี” จับมือ “เคพเพล นิว เอนเนอร์ยี่” บริษัทยักษ์ใหญ่จากสิงคโปร์ เซ็นสัญญา Exclusive Partner มุ่งเป้าผู้นำด้านการพัฒนาเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน พร้อมทั้งมองโอกาสการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนและจัดทำแพลตฟอร์มซื้อขายคาร์บอนเครดิตร่วมกัน
 
บีซีพีจีได้ลงนามสัญญาเป็น Exclusive Partner กับ เคพเพล นิว เอนเนอร์ยี่ (Keppel New Energy) จากสิงคโปร์ บุกตลาดธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเมืองอัจฉริยะ (Smart City Infrastructure) พัฒนาโซลูชันสร้างสมดุลการปล่อยคาร์บอนเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ สนับสนุนเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 ตามแผนพลังงานชาติ

นายบัณฑิต สะเพียรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) (BCPG) เปิดเผยถึงการลงนามสัญญาเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการแต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย (Exclusive Partner) กับเคพเพล นิว เอนเนอร์ยี่ ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม เคพเพล อินฟราสตรัคเจอร์ ผู้เชี่ยวชาญการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอัจฉริยะระดับโลกจากประเทศสิงคโปร์ว่า เป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการพัฒนาต่อยอดธุรกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในประเทศไทยให้สมบูรณ์ครบวงจรทั้งด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม รวมถึงธุรกิจลงทุนด้านโครงสร้างและการบริหารจัดการระบบความเย็นจากส่วนกลาง (Cooling-as-a-Service) บริการจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles Charging-as-a-Service) ไปจนถึงความร่วมมือในธุรกิจคาร์บอนในภูมิภาคอาเซียน

ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ขยายธุรกิจด้านพลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) มาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการบริหารจัดการพลังงาน Town 77 ซึ่งได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2561 และโครงการ CMU Smart City ที่คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2564 รวมทั้งโครงการ Sun Share Smart Green Energy Community ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างการขออนุญาต Sandbox ฯลฯ โดยบริษัทฯ มีเป้าหมายเพื่อต่อยอดไปสู่ธุรกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) อย่างเต็มรูปแบบในอนาคต

“ในปัจจุบันภาครัฐได้ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ คือเมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชน ซึ่งเมืองที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีการบริหารจัดการด้านพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบที่สำคัญของเมืองอัจฉริยะ

เคพเพล นิว เอนเนอร์ยี่ เป็นบริษัทที่มีเทคโนโลยี และนวัตกรรมในการบริหารจัดการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เช่น การจัดการน้ำ การบริหารจัดการของเสียหรือขยะ การบริหารจัดการระบบความเย็นจากส่วนกลาง ฯลฯ ที่สามารถลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เมื่อมาผนึกกับบีซีพีจีซึ่งมีเทคโนโลยีและประสบการณ์ในการบริหารจัดการพลังงาน เช่น การผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด การนำเทคโนโลยีบล็อกเชนมาใช้ในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกันแบบ Peer to Peer ฯลฯ ซึ่งเป็นการสร้างความสมดุลระหว่างการผลิตและการใช้พลังงานในพื้นที่ ลดการพึ่งพาจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าหลักและไม่สร้างมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อม การจับมือกันในครั้งนี้จึงเป็นการรองรับตลาดธุรกิจการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่กำลังเติบโตในประเทศไทยอย่างมีนัยสำคัญ

นอกจากนี้ บีซีพีจียังมีแผนร่วมมือกับเคพเพล นิว เอนเนอร์ยี่ ในการพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน (renewable energy projects) ร่วมกัน เพื่อผลักดันให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในภูมิภาคอาเซียนเติบโตตามเป้าหมาย รวมไปถึงการร่วมกันจัดทำแพลตฟอร์มซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิต (carbon trading platform) ซึ่งเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสร้างสมดุลในการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) โดยจะขยายไปยังประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศไทย ลาว และสิงคโปร์ อีกด้วย

ด้านนางสาวซินดี้ ลิม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เคพเพล อินฟราสตรัคเจอร์ กล่าวว่า บริษัทยินดีที่ได้ร่วมมือกับบีซีพีจีในการนำโซลูชันด้านพลังงานและการลดการปล่อยคาร์บอนมาใช้ในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน เช่น การนำระบบผลิตความเย็นจากส่วนกลาง (District Cooling System) ที่มีระบบควบคุมอัจฉริยะมาใช้ในเมืองอัจฉริยะ หรือในเมืองต่างๆ เพื่อให้เกิดการใช้พลังงานที่คุ้มค่าที่สุด มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และสร้างวิถีชีวิตที่ยั่งยืน

นอกจากนี้ ภายในปี 2025 รัฐบาลในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ตั้งเป้าหมายให้มีการใช้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้น โดยมีสัดส่วนมากถึงร้อยละ 23 นั่นหมายความว่าประเทศในภูมิภาคนี้จะต้องผลิตพลังงานสะอาดให้ได้ถึง 3,500-4,000 เมกะวัตต์ (3.5-4.0 กิกะวัตต์) และด้วยศักยภาพของเคพเพล อินฟราสตรัคเจอร์ และบีซีพีจี เรามุ่งมั่นที่จะต่อยอดโอกาสจากเป้าหมายดังกล่าว รวมไปถึงเป้าหมายการเชื่อมโยงพลังงานสะอาด และตลาดคาร์บอนภายในภูมิภาค ส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างพลังงานใหม่ในอาเซียน
กำลังโหลดความคิดเห็น